รายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2551

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 13:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2551 ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ (กผส.) ได้มอบหมายให้มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย จัดทำข้อมูลสถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. 2551 โดยมีเนื้อหาสาระที่ครอบคลุมข้อมูลประชากรผู้สูงอายุ สถานการณ์ด้านสุขภาพของผู้สูงอายุ การดูแลและสวัสดิการของผู้สูงอายุ การทำงาน รายได้ และการออมของผู้สูงอายุ การเข้าถึงข้อมูลการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต ศักยภาพของผู้สูงอายุ สถานการณ์เด่นผู้สูงอายุไทย ปี พ.ศ. 2551 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ข้อมูลประชากรผู้สูงอายุไทย ในปี พ.ศ. 2551 มีจำนวนประชากรผู้สูงอายุ (ตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป) 7.4 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 11.1 ของประชากรทั้งหมด อายุคาดหมายการคงชีพเมื่อแรกเกิด 71.7 ปี ประชากรอายุตั้งแต่ 80 ปีขึ้นไปมีจำนวนเพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุหญิงมีแนวโน้มอายุยืนยาวกว่า แต่เจ็บป่วยโรคเรื้อรัง ในขณะที่ผู้สูงอายุชายมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคที่นำไปสู่การเสียชีวิตทันที ผู้สูงอายุวัยปลาย (80 ปีขึ้นไป) ซึ่งเป็นวัยที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการทำกิจวัตรประจำวัน

สถานการณ์ด้านสุขภาพ จากการสำรวจทางสถิติ พ.ศ. 2551 พบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ประเมินสุขภาพตนเองว่ามีสุขภาพดี คิดเป็นร้อยละ 44.0 ผู้สูงอายุ ร้อยละ 57.7 มีปัญหาการมองเห็น และยิ่งอายุมากขึ้น ปัญหาการได้ยินจะสูงขึ้นแบบทวีคูณ ผู้สูงอายุมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุง่าย กรณีพลัดตกหกล้ม สูงถึงร้อยละ 40.4 มีผู้สูงอายุที่พิการ ร้อยละ 15.3 ซึ่งผู้ดูแลผู้สูงอายุที่มีความยากลำบากในการทำกิจวัตรประจำวัน ร้อยละ 88.9 ต้องการความช่วยเหลือและสวัสดิการจากรัฐ ผู้สูงอายุวัยกลาง (70 — 79 ปี) พบว่า โรคของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ได้แก่ ความดันโลหิตสูง ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ และโรคเบาหวานตามลำดับ

การดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุไทยโดยส่วนใหญ่ มากกว่าร้อยละ 90 ยังคงได้รับการดูแลเอาใจใส่จากสมาชิกครอบครัวของตนเอง แม้ว่าขนาดของครอบครัวเล็กลง นอกจากการดูแลในครอบครัวแล้ว ยังมีการดูแลและสวัสดิการผู้สูงอายุโดยภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรสาธารณประโยชน์ แบ่งออกเป็น 7 รูปแบบ ได้แก่ 1) การดูแลผู้สูงอายุที่บ้านและชุมชน 2) การดูแลผู้สูงอายุในสถาบัน 3) การดูแลช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ด้อยโอกาส 4) การส่งเสริมคุณภาพชีวิตและจิตใจผู้ต้องขังผู้สูงอายุ 5) กองทุนผู้สูงอายุ 6) เงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และ 7) บริการสาธารณะและนันทนาการ

การทำงาน รายได้ และการออมของผู้สูงอายุ จากการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากร พ.ศ. 2551 พบว่า ผู้สูงอายุที่ทำงานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 37.3 ส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในภาคเกษตรกรรม แต่การทำงานนอกภาคเกษตรก็เพิ่มขึ้น ผู้สูงอายุร้อยละ 62.0 ประกอบธุรกิจส่วนตัวโดยไม่มีลูกจ้าง และมีสัดส่วนการเป็นลูกจ้างเอกชนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 13.3 ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นแต่ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลง เมื่อเทียบกับปีก่อน กล่าวคือ ผู้สูงอายุมีรายได้เฉลี่ย 6,900 บาทต่อเดือน ชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยลดลงเหลือ 41.4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ นอกจากนี้ แรงงานผู้สูงอายุนอกระบบเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 91.4 แนวโน้มจำนวนผู้สูงอายุที่ยากจนลดลงเหลือ 1.19 ล้านคน สถานการณ์การออม พบว่าสัดส่วนการออมส่วนบุคคลเพิ่มขึ้นจากเดิม แต่ยังอยู่ในระดับต่ำ ซึ่งส่งผลต่อความมั่นคงในชีวิต และเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศได้ ปัจจุบันการออมเพื่อวัยสูงอายุมีทั้งแบบบังคับ และแบบสมัครใจ เช่น กองทุนประกันสังคม กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ เป็นต้น และกระทรวงการคลังอยู่ระหว่างดำเนินการนโยบายส่งเสริมการออมเพื่อวัยสูงอายุ

การเข้าถึงข้อมูลการศึกษาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต พบว่า การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุฟังวิทยุลดลง แต่นิยมชมโทรทัศน์เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รายการที่นิยมส่วนใหญ่ คือ ข่าว โดยฟังวิทยุร้อยละ 65.2 และชมโทรทัศน์ร้อยละ 67.3 รองลงมาคือบันเทิง ผู้สูงอายุไม่ถึงร้อยละ 6.0 ที่นิยมดูสารคดี รายการแสดงความคิดเห็น/วิเคราะห์ และรายการเพื่อการศึกษา ในปี พ.ศ. 2551 ผู้สูงอายุศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาจำนวน 2,950 คน เพิ่มขึ้นจากเดิม เข้ารับการศึกษานอกระบบขั้นพื้นฐาน 13,501 คน และเข้าศึกษาตามอัธยาศัยในหลักสูตรอาชีพระยะสั้น 148,941 คน โดยสนใจการศึกษาเพื่อพัฒนาสังคม/ชุมชนมากกว่าหลักสูตรอื่น ๆ

ศักยภาพของผู้สูงอายุ เป็นเนื้อหาที่นำเสนอข้อมูลที่สะท้อนให้เห็นคุณค่าและศักยภาพของผู้สูงอายุ ครอบคลุมด้านการบริหาร การมีส่วนร่วมทางสังคม และกิจกรรมถ่ายทอดภูมิปัญญา โดยในปี พ.ศ. 2551 ได้มีผู้สูงอายุที่มีศักยภาพในด้านต่างๆ คือ ด้านการบริหาร มีผู้สูงอายุที่ทำงานทางการเมือง คณะกรรมการระดับชาติ ระดับภูมิภาค ระดับท้องถิ่น จำนวน 194,730 คน ด้านการมีส่วนร่วมทางสังคม ด้านการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญา ได้มีโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่ส่งเสริมภูมิปัญญาของผู้สูงอายุ อาทิ วุฒิอาสาธนาคารสมอง โครงการคลังปัญญาผู้สูงอายุ เป็นต้น รวมไปถึงผู้สูงอายุที่ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติจากสังคม การได้รับการประกาศสดุดีเกียรติคุณเป็นผู้สูงอายุแห่งชาติ การเป็นศิลปินแห่งชาติ การได้รับรางวัลระดับนานาชาติ เป็นต้น

สถานการณ์เด่นของผู้สูงอายุ พ.ศ. 2551 ได้นำเสนอเนื้อหาสถานการณ์เด่นของผู้สูงอายุไทยในปี พ.ศ. 2551 มุ่งเน้นการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อให้เห็นแนวโน้ม และทิศทางงานผู้สูงอายุต่อไปข้างหน้ามากยิ่งขึ้น อาทิ 1) การสรรหาผู้สูงอายุแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2551 2) การสร้างระบบการติดตามและประเมินผลแผนผู้สูงอายุแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2545 — 2564) 3) สถานการณ์ผู้สูงอายุในรอบปี พ.ศ. 2551 จากสื่อมวลชนประเภทหนังสือพิมพ์ที่ได้นำเสนอข้อมูลข่าวสาร ความรู้ รวมทั้งงานด้านนโยบายรัฐบาล ผลงานวิชาการ การจัดบริการ และรูปแบบกิจกรรมผู้สูงอายุ

ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

1. ประเด็นการดูแลผู้สูงอายุที่ควรให้ความสำคัญ การดูแลผู้สูงอายุ รัฐควรมีการให้ความสำคัญกับการจัดระบบและช่วยเหลือการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ การดูแลและจัดสิ่งแวดล้อมในครอบครัว และสถานที่สาธารณะให้เหมาะสมแก่ผู้สูงอายุ รวมไปถึงการดูแลในสถานบริการและผู้ดูแลผลักดันให้มีการจัดทำมาตรฐานการดูแลของสถานบริการและผู้ดูแล เพื่อให้ผู้สูงอายุได้รับการดูแลที่เหมาะสม

2. การส่งเสริมการเรียนรู้ของผู้สูงอายุ รัฐควรมีการผลิตสื่อทั้งประเภทเนื้อหา และรูปแบบที่ผู้สูงอายุนิยม และควรเพิ่มช่องทางด้านสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ได้ดู รวมทั้งการสอดแทรกสาระที่จำเป็นต่อการเรียนรู้ อาทิ ด้านสุขภาพ เป็นต้น

3. การมีงานทำและการออมของผู้สูงอายุ ภาครัฐต้องเร่งจัดตั้งระบบบำนาญชราภาพที่มาจากการออมส่วนบุคคล ร่วมกับการจัดสวัสดิการจากรัฐ เพื่อเป็นหลักประกันสำหรับผู้สูงอายุในอนาคต

4. บทบาทของท้องถิ่นในการดูแลผู้สูงอายุ รัฐควรผลักดันให้แผนผู้สูงอายุแห่งชาติ นำไปสู่การแปลงแผนเพื่อการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้การมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องมีบทบาทเป็นเจ้าภาพในการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ โดยเฉพาะการส่งเสริมอาชีพและรายได้ของผู้สูงอายุ และส่งเสริมกระบวนการภาคประชาสังคม โดยมีหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นผู้สนับสนุนองค์ความรู้และทรัพยากรต่างๆ ร่วมด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ