สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 14:07 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 3 ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 และการให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. ภัยแล้ง ช่วงภัย วันที่ 15 ธ.ค. 52 ถึง 27 ม.ค. 53 (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.พ.53)

พื้นที่ประสบภัย 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย(3 อำเภอ) แพร่ (6 อำเภอ) น่าน (1 อำเภอ) และสุโขทัย (1 อำเภอ) เกษตรกร 29,653 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 112,951 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,431 ไร่ พืชไร่ 109,030 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 490 ไร่

การดำเนินการ จังหวัดแพร่และสุโขทัย ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำเข้าพื้นที่ ยังไม่มีพื้นที่เสียหาย จังหวัดเชียงราย สำรวจเสร็จและผ่าน ก.ช.ภ.อ.แล้ว 2 อำเภอ อยู่ระหว่างสำรวจ 1 อำเภอ จังหวัดน่าน สำรวจเสร็จและ ผ่าน ก.ช.ภ.อ.แล้ว

2. ศัตรูพืช โรคพืช ระบาด

2.1 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 อนุมัติงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 65.66 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง โดยจัดการรณรงค์กำจัดเพลี้ยแป้งในทุกพื้นที่พร้อมกัน และจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน 572 ศูนย์ เพื่อจัดทำแปลงสำรวจสถานการณ์เพลี้ยแป้งและผลิตขยายศัตรูธรรมชาติให้เพียงพอที่จะควบคุมเพลี้ยแป้งในพื้นที่ และสร้างความเข้าใจโดยประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ โดยสำนักงบประมาณได้อนุมัติงบประมาณ และกรมส่งเสริมการเกษตรได้โอนเงินให้จังหวัดเพื่อดำเนินการตามแผนงานที่กำหนดแล้ว

2.2 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ยและใบหงิก

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 1,240 ล้านบาท โดยเงินจำนวน 501 ล้านบาท ให้เบิกจ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ส่วนที่เหลือจำนวนเงิน 739 ล้านบาทให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอขอใช้เงินจากเงินกองทุนสงเคราะห์เกษตรกรตามขั้นตอนและให้เสนอ คณะรัฐมนตรีต่อไป ซึ่งมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2553 อนุมัติจัดสรรเงินจากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร วงเงิน 739 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล และวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ทั้งจาก กรมพัฒนาที่ดิน กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมการข้าว ตามคู่มือการดำเนินโครงการฯ โดยกำหนด 3 มาตรการในการเข้าไปแก้ไขปัญหาเพื่อยุติการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โดยจะรณรงค์ให้มีการพักนาในช่วงเดือนมีนาคมถึงเมษายน และไปเริ่มต้นฤดูการทำนาในรอบใหม่ในเดือนพฤษภาคมต่อไป ซึ่งนอกจากจะเป็นการตัดวงจรการแพร่ระบาดไม่ให้ขยาย วงกว้าง แล้วยังเป็นการป้องกันความเสียหายของผลผลิตของเกษตรกรอีกด้วย อย่างไรก็ตาม จังหวัดสุพรรณบุรีได้ควบคุมการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลได้แล้ว แต่ปรากฏว่าพบการระบาดของโรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิกเพิ่มมากขึ้น

2.3 หนูนาระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.พ.53)

พื้นที่การระบาด 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด(1 อำเภอ) กาฬสินธุ์(3 อำเภอ) กาญจนบุรี(1 อำเภอ) และฉะเชิงเทรา(1 อำเภอ) เกษตรกร 7,502 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 54,246 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 53,805 ไร่ พืชไร่ 424 ไร่ และพืชสวนและอื่นๆ 17 ไร่

2.4 แมลงนูนหลวงระบาดในอ้อย (ข้อมูล ณ วันที่ 19 ก.พ.53)

พื้นที่การระบาด 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดราชบุรี(1 อำเภอ) กาญจนบุรี(1 อำเภอ) เกษตรกร 1,053 ราย พื้นที่การระบาด 20,014 ไร่

การดำเนินการ จังหวัดกาญจนบุรี ได้ประสานโรงงานน้ำตาลจ่ายสารเคมีจำกัดแล้ว จังหวัดราชบุรี เกษตรกรขุดไถเก็บตัวหนอน เพิ่มธาตุอาหาร และใช้แสงไฟล่อตัวแก่และเก็บทำลาย

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ (22 กุมภาพันธ์ 2553) มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งหมด 45,936 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 66 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด (ปริมาณน้ำใช้การได้ 22,409 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 32 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (52,166 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 3,745 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุอ่างฯ

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 22 ก.พ.53 จำนวน 4,735 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณระบายสะสมในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 22 ก.พ.53 จำนวน 12,867 ล้านลูกบาศก์เมตร

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล สิริกิติ์ และป่าสักชลสิทธิ์

หน่วย : ล้าน ลบ.ม.

อ่างเก็บน้ำ       ปริมาตรน้ำในอ่างฯ     ปริมาตรน้ำใช้การได้       ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ            ปริมาณน้ำระบาย
               ปริมาตร   %ความจุ   ปริมาตร    %ความจุ     วันนี้   เมื่อวาน     สะสม      วันนี้   เมื่อวาน       สะสม
                   น้ำ     อ่างฯ       น้ำ      อ่างฯ                    1 พ.ย.                       1 พ.ย.
                                                                         52                           52
ภูมิพล            6,800       51    3,000        22    0.00     0.00      541    25.00    36.00      2,905
สิริกิติ์            4,538       48    1,688        18    2.79     2.25      580    25.01    21.04      1,987
ภูมิพล+สิริกิติ์      11,338       49    4,688        20    2.79     2.25    1,121    50.01    57.04      4,892
ป่าสักชลสิทธิ์         515       54      512        53    0.00     0.00      201     7.04     7.08        529

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 4 อ่าง ได้แก่ กระเสียว(82) ศรีนครินทร์(86) หนองปลาไหล(85) ประแสร์(82)

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 2 อ่าง ได้แก่ แม่กวง (23) และทับเสลา (18)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 93.3 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 52 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 78 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 44 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 426.4 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 81 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 398 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 76 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้น อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ยกเว้น อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต และอำเภอละงู จังหวัดสตูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. คุณภาพน้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 14 ก.พ.53)

กรมชลประทาน ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำ แม่กลอง ดังนี้

แม่น้ำ        จุดเฝ้าระวัง                            ค่า DO(mg/l)   ค่า Sal (g/l)    เกณฑ์
เจ้าพะยา     ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี                               1.1           0.13    ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์
ท่าจีน        ที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม              1.36           0.15    ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์
แม่กลอง      ปากคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี                 4.1           0.06    ปกติ

หมายเหตุ ค่า Do หมายถึง ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร

ค่า Sal หมายถึง ค่าความเค็มของน้ำ สำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร

การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2552/2553

แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2552/2553 (วันที่ 1 พ.ย.52-30 เม.ย. 53) จำนวน 20,720 ล้าน ลบ.ม. (เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,836 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,539 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,176 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 169 ล้าน ลบ.ม.) โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 600 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.)

ผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52 ถึง 22 ก.พ. 53 จัดสรรน้ำไปแล้ว 13,068 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 63 ของแผนการจัดสรรน้ำ

คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 2552/2553 จำนวน 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 7.50 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.78 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) และมีแผนการจัดสรรน้ำให้พืชอื่นๆ เช่น ไม้ยืนต้น อ้อย บ่อปลา บ่อกุ้ง จำนวน 3.64 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน)

ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 19 ก.พ. 53 พื้นที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น จำนวน 12.90 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 114 ของพื้นที่คาดการณ์ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 11.69 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 123 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 7.44 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 4.25 ล้านไร่ พืชไร่ พืชผัก 2.31 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 83 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.54 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 1.77 ล้านไร่)

พืชอื่นๆ จำนวน 3.86 ล้านไร่

การให้ความช่วยเหลือ

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 575 เครื่อง ในพื้นที่ 36 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 15 จังหวัด จำนวน 231 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (35 เครื่อง) ลำพูน (10 เครื่อง) แม่ฮ่องสอน (18 เครื่อง) ลำปาง (26 เครื่อง) น่าน (9 เครื่อง) พะเยา (2 เครื่อง) เชียงราย (6 เครื่อง) พิษณุโลก (8 เครื่อง) พิจิตร (16 เครื่อง) นครสวรรค์ (23 เครื่อง) อุตรดิตถ์ (5 เครื่อง)ตาก (16 เครื่อง) สุโขทัย (14 เครื่อง) แพร่ (33 เครื่อง) และกำแพงเพชร (10 เครื่อง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 228 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดหนองคาย (17 เครื่อง) อุดรธานี (8 เครื่อง) ขอนแก่น (14 เครื่อง) มหาสารคาม (26 เครื่อง) ร้อยเอ็ด (76 เครื่อง) กาฬสินธุ์ (59 เครื่อง) ชัยภูมิ (9 เครื่อง) สกลนคร (12 เครื่อง) เลย (6 เครื่อง) และหนองบัวลำภู (1 เครื่อง)

                ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 11 จังหวัด จำนวน 116 เครื่อง ได้แก่ จังหวัด นครนายก               (12 เครื่อง) ชัยนาท (32 เครื่อง) ปราจีนบุรี (29 เครื่อง) ฉะเชิงเทรา (22 เครื่อง) ชลบุรี(4 เครื่อง) ลพบุรี (5 เครื่อง) จันทบุรี (4 เครื่อง) เพชรบูรณ์ (6 เครื่อง) สุพรรณบุรี (3 เครื่อง) และอ่างทอง (1เครื่อง) พระนครศรีอยุธยา(2 เครื่อง)

2. สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 6 คัน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (1 คัน) จันทบุรี (5 คัน)

3. การปฏิบัติการฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคกลาง (นครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น นครราชสีมา) ภาคตะวันออก(ระยอง) และภาคใต้(อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์) โดยเปิดศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จำนวน 1 ศูนย์ คือ ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคใต้ (หน่วยฯหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้บริเวณพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี และประจวนคีรีขันธ์ตอนบน

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำสัปดาห์ วันที่ 12 - 18 กุมภาพันธ์ 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 1 วัน 2 เที่ยวบิน ยังไม่มีรายงานฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวง

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม ตั้งแต่เริ่มเปิดศูนย์ วันที่ 25 มกราคม - 18 กุมภาพันธ์ 2553 ขึ้นปฏิบัติ จำนวน 4 วัน 11 เที่ยวบิน ยังไม่มีรายงานว่ามีฝนตกในพื้นที่เป้าหมายในการปฏิบัติการฝนหลวง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ