การลงนาม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 14:47 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การลงนามใน Memorandum of Association among the Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral

Technological and Economic Cooperation (BIMSTEC) Member Countries Concerning Establishment

of a BIMSTEC Centre for Weather and Climate

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความร่วมมือความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ BIMSTEC เกี่ยวกับการจัดตั้งศูนย์ BIMSTEC ด้านอากาศและภูมิอากาศ [Memorandum of Association among the Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technological and Economic Cooperation (BIMSTEC) Member Countries Concerning Establishment of a BIMSTEC Centre for Weather and Climate : MOA]

2. เห็นชอบในหลักการสำหรับงบประมาณผูกพันรายปีที่ประเทศไทยจะต้องร่วมรับผิดชอบในส่วนของค่าใช้จ่ายด้าน Institutional expenditure และ Program expenditure ซึ่งจะเป็นไปตามความตกลงร่วมกันของประเทศสมาชิก โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารขอทำความตกลงกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

3. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศลงนามหรือรับรอง MOA ดังกล่าว

4. ให้กรมอุตุนิยมวิทยาเป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกตามกรอบแนวทางของศูนย์ BIMSTEC Centre for Weather and Climate (BCWC)

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า

1. กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ได้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรีรายงานสรุปผลการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำความริเริ่มแห่งอ่าวเบงกอลสำหรับความร่วมมือหลากหลายสาขาทางวิชาการและเศรษฐกิจ BIMSTEC ครั้งที่ 2 และนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ทก. ในฐานะหน่วยงานเจ้าของเรื่องดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ MOA ให้พร้อมที่จะลงนามในการประชุมระดับรัฐมนตรีที่พม่าในปี 2552

2. ภายใต้ BIMSTEC และเอกสารปฏิญญาผู้นำจากการประชุมผู้นำ BIMSTEC ครั้งที่ 1 ได้ระบุถึงสาขาความร่วมมือใหม่ ๆ อาทิ สาธารณสุข การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพและภูมิปัญญาท้องถิ่น การศึกษา การพัฒนาชุมชนชนบท วิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง การก่อสร้าง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีชีวภาพ การวิจัยสภาพอากาศและภูมิอากาศและการขจัดและการจัดการปัญหาภัยธรรมชาติ ซึ่งต่อมาอินเดียได้เสนอให้จัดตั้งศูนย์ BCWC และได้นำเสนอร่าง MOA โดยมีสาระสำคัญของร่าง MOA สรุปได้ ดังนี้

2.1 วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งศูนย์ BCWC

2.1.1 ส่งเสริมและสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ในการกำหนดการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ในเรื่องการพยากรณ์อากาศและแบบจำลองภูมิอากาศ

2.1.2 ส่งเสริมการสร้างความสามารถด้านวิทยาศาสตร์ในการวิจัยเรื่องอากาศและภูมิอากาศ

2.2 หน้าที่ความรับผิดชอบของศูนย์ BCWC

2.2.1 จัดการฝึกอบรมเกี่ยวกับเรื่องอากาศและแบบจำลองภูมิอากาศให้กับผู้แทนจากประเทศสมาชิก BIMSTEC

2.2.2 ช่วยในการจัดตั้งคลังข้อมูลในภูมิภาค และเครือข่ายสารสนเทศเกี่ยวกับอากาศและภูมิอากาศระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC

2.2.3 สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาเรื่องอากาศและแบบจำลองภูมิอากาศเพื่อพัฒนาเทคนิคการพยากรณ์อากาศเพื่อลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินอันเกิดจากภัยธรรมชาติของประเทศสมาชิก BIMSTEC

2.2.4 ส่งเสริมการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติและปรับปรุงระบบการเตือนภัยล่วงหน้า

2.2.5 สร้างและรักษาเครือข่ายการสื่อสารระหว่างประเทศสมาชิก BIMSTEC ให้ยั่งยืน เชื่อถือได้ และตรงเวลา

2.2.6 สนับสนุนความตระหนักเรื่องระบบการเตือนภัยโดยเฉพาะสภาพอากาศและเหตุการณ์ภูมิอากาศที่รุนแรงมาก

2.2.7 จัดหาสารสนเทศสภาวะอากาศและภูมิอากาศภายในภูมิภาค โดยสนับสนุนให้มีความร่วมมือระหว่างหน่วยงานบริการด้านอากาศระดับชาติและระดับภูมิภาค และหน่วยงานอื่น ๆ

2.2.8 ส่งเสริมความร่วมมือการเผยแพร่และบริการสารสนเทศสภาวะอากาศและภูมิอากาศสู่ผู้ใช้

2.2.9 ส่งเสริมความร่วมมือในการพัฒนาเครื่องมือที่จะนำสารสนเทศสภาวะอากาศและภูมิอากาศไปประยุกต์ใช้ในภาคส่วนที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค รวมทั้งการแลกเปลี่ยนประสบการณ์

2.2.10 เตรียมความช่วยเหลือนักวิทยาศาสตร์/สถาบันในรูปเงินช่วยเหลือ เครื่องมือ และรูปแบบอื่นที่เหมาะสมเพื่อติดตามความก้าวหน้าการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ด้านอากาศและภูมิอากาศภายในประเทศสมาชิก BIMSTEC

2.2.11 สนับสนุนและช่วยเหลือการจัดทำสิ่งพิมพ์ที่เป็นผลการวิจัยภายใต้กรอบความร่วมมือ BIMSTEC ที่เกี่ยวกับอากาศและภูมิอากาศ

2.3 ผลกระทบจากการลงนามใน MOA

ผลดี

2.3.1 มีคลังข้อมูลและเครือข่ายสารสนเทศเกี่ยวกับอากาศและภูมิอากาศภายในภูมิภาค

2.3.2 มีความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกด้านการวิจัยเรื่องอากาศและภูมิอากาศเพื่อพัฒนาเทคนิคการพยากรณ์อากาศ ซึ่งจะนำไปสู่การลดความสูญเสียในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนอันเกิดจากภัยธรรมชาติ

2.3.3 เพิ่มโอกาสในการเรียนรู้การใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อเตรียมความพร้อมรับมือกับภัยธรรมชาติและปรับปรุงระบบการเตือนภัย

2.3.4 มีการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาศาสตร์และการพัฒนาแบบจำลองเพื่อการพยากรณ์อากาศและภูมิอากาศเพิ่มขึ้น รวมทั้งพัฒนาการสร้างความสามารถของบุคลากรด้านการวิจัยทางวิทยาศาสตร์

2.3.5 มีช่องทางในการเผยแพร่สารสนเทศเกี่ยวกับอากาศและภูมิอากาศสู่ผู้ใช้ในภูมิภาค

ผลเสีย

ประเทศไทยจะมีภาระผูกพันด้านงบประมาณ เนื่องจากการบริหารจัดการของศูนย์ BCWC กำหนดว่าค่าใช้จ่ายในส่วนของ Institutional expenditure และ Program expenditure ประเทศสมาชิกต้องมีส่วนร่วมรับผิดชอบตามความตกลงร่วมกัน

3. แนวทางการดำเนินการ

3.1 ประเทศไทยควรลงนามใน MOA ในการจัดตั้งศูนย์ BCWC ที่ประเทศอินเดียเสนอเป็นเจ้าภาพ เนื่องจากประเทศอินเดียเป็นประเทศหนึ่งในเอเชียที่มีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และการพัฒนาแบบจำลองด้านอุตุนิยมวิทยา จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะได้เรียนรู้และรับเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาระบบการเตือนภัยให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศไทย

3.2 ภาระผูกพันด้านงบประมาณที่ได้มีการกำหนดไว้ในร่าง MOA เป็นการมีส่วนร่วมรับผิดชอบค่าใช้จ่ายด้าน Institutional expenditure และ Program expenditure ซึ่งเป็นไปตามความตกลงร่วมกัน ทั้งนี้ ศูนย์ BCWC จะมีการจัดตั้ง Governing Board ซึ่งจะมีผู้แทนจากประเทศไทยร่วมเป็นกรรมการใน Board นี้ด้วย และจะมีการทำความตกลงเรื่องค่าใช้จ่ายร่วมกันอีกครั้งหนึ่ง

3.3 ควรให้กรมอุตุนิยมวิทยาซึ่งมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการตรวจเฝ้าระวัง ติดตาม รายงานสภาวะอากาศและปรากฏการณ์ธรรมชาติ และการพยากรณ์อากาศ เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานและประสานความร่วมมือกับประเทศสมาชิกตามกรอบแนวทางของศูนย์ BCWC

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ