การจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 14:49 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การจัดทำบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน

เพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินใช้ร่างบันทึกความเข้าใจเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินเป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาตกลงให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ และอนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นผู้ลงนามร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวฝ่ายไทยต่อไป ทั้งนี้ ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวไม่เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมในฐานะบังคับบัญชาสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมรายงานว่า

1. สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ได้ขอให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ซึ่งสำนักงาน ปปง. ใช้อ้างเป็นต้นแบบสำหรับการตกลงให้ความร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2545 เข้าข่ายหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่

2. กต. (กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย) แจ้งตามหนังสือ กต.ด่วนมาก ที่ กต 0805/778 ลงวันที่ 18 กันยายน 2552 ว่า

2.1 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้มีสารัตถะเหมือนกับร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับที่คณะรัฐมนตรีได้เคยมีมติอนุมัติไว้แล้ว กต.จึงไม่มีข้อสังเกตเพิ่มเติม เพียงแต่ขอเสนอแก้ไขในด้านถ้อยคำเล็กน้อย

2.2 สำนักงาน ปปง.มีฐานะเป็นกรมตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ร่างบันทึกความเข้าใจฯ จึงเป็นความตกลงระหว่างประเทศระดับกรมซึ่งตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549 กต.สามารถอนุมัติได้ แต่โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับปัจจุบันมีผลบังคับใช้และมาตรา 190 วรรคสอง บัญญัติเกี่ยวกับหนังสือสัญญาประเภทต่าง ๆ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา จึงเห็นควรเสนอร่างบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในประเด็นว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาหรือไม่ หากคณะรัฐมนตรีมีมติว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่ใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ก็อาจพิจารณาให้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้ กต.พิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2549

2.3 เนื่องจากบันทึกความเข้าใจฯ เป็นหนังสือสัญญาที่มีสาระเกี่ยวกับการแลกเปลี่ยนข้อมูล ธุรกรรมทางการเงินระหว่างคู่ภาคี จึงไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงอาณาเขตหรือพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตย หรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญดังนั้นหากสำนักงาน ปปง.สามารถปฏิบัติพันธกรณีตามร่างบันทึกความเข้าใจฯ ได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับโดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามพันธกรณีดังกล่าว ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน

2.4 สำนักงาน ปปง.อาจเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาด้วยว่าหากคณะรัฐมนตรีมีมติว่าร่างบันทึกความเข้าใจฯ ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ขอให้พิจารณาอนุมัติให้สำนักงาน ปปง. ใช้เป็นต้นแบบสำหรับการเจรจาตกลงให้ความร่วมมือกับประเทศต่างๆ ต่อไป โดยอาจอนุมัติในหลักการให้เลขาธิการ ปปง. หรือรองเลขาธิการฯ เป็นผู้ลงนาม

3. สำนักงาน ปปง.พิจารณาแล้วเห็นว่า ร่างบันทึกความเข้าใจฯ ระหว่างสำนักงาน ปปง. แห่งราชอาณาจักรไทยและประเทศคู่ภาคีเรื่องความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งเป็นความตกลงแบบทวิภาคีนั้น การปฏิบัติพันธกรณีตามบันทึกความเข้าใจฯ สำนักงาน ปปง. สามารถดำเนินการได้ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายที่บังคับใช้ในประเทศ อันได้แก่ มาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 โดยถือว่าการแลกเปลี่ยนข้อมูลธุรกรรมทางการเงินเพื่อการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินที่ได้มาจากการดำเนินการโดยอาศัยอำนาจตามกฎหมาย อาทิเช่น ข้อมูลที่ได้จากการดำเนินการตามมาตรา 38 และมาตรา 40 (2) และ (4) เป็นการรับหรือส่งรายงานหรือข้อมูลเกี่ยวกับการทำธุรกรรมเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ด้วยเหตุผลดังกล่าว สำนักงาน ปปง. สามารถปฏิบัติพันธกรณีบันทึกความเข้าใจฯ ได้ภายใต้กฎหมายและข้อบังคับ โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามพันธกรณีดังกล่าวแต่อย่างใด ร่างบันทึกความเข้าใจ จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน ตามนัยมาตรา 190 วรรคสองของฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


แท็ก ข้อมูล  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ