การแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 14:51 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มของประเทศไทย และการขอความเห็นเรื่อง

การแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบการยินยอมรับการจัดสรรโควตาเพิ่มในกองทุนการเงินระหว่างประเทศของประเทศไทย

2. เห็นชอบในการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Articles of Agreement) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปโควตาและสิทธิการออกเสียง และการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนภายใต้ New Income Model เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ

3. เห็นชอบและมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการออก Instrument of Acceptance เพื่อธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้แจ้งความยินยอมรับโควตาส่วนที่เพิ่มของประเทศไทยไปยังกองทุนการเงินระหว่างประเทศอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2551 ซึ่งเป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติที่ให้อำนาจปฏิบัติการเกี่ยวกับกองทุนการเงินระหว่างประเทศ พ.ศ. 2494 มาตรา 5 ตรี และ 5 เบญจ จึงขอให้กระทรวงการคลังทราบการแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มของประเทศไทยในกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และขอให้พิจารณาให้ความเห็นชอบเรื่องการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

2. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า

2.1 การจัดสรรโควตาเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 0.506 เป็นร้อยละ 0.604 ทำให้สัดส่วนโควตาของประเทศไทยเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย จึงไม่ได้มีนัยสำคัญต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มจึงอยู่ในดุลพินิจของธนาคารแห่งประเทศไทย จึงเห็นควรรับทราบรายการแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มในกองทุนการเงินฯ ของประเทศไทย และแจ้งคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบต่อไป

2.2 การจัดสรรโควตาเพิ่มเติม ถือเป็นการปฏิรูปกองทุนการเงินฯ ให้มีความทันสมัยและได้ปรับปรุงสิทธิและเสียงของประเทศสมาชิกให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศไทยในปัจจุบันโดยเฉพาะประเทศที่ยากจน และประเทศที่ได้รับโควตาจริงน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ (under - represented) ได้มีโอกาสใช้สิทธิออกเสียงในกองทุนการเงินฯ ได้มากขึ้น ในกรณีที่หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต ประเทศไทยสามารถกู้เงินจากกองทุนการเงินฯ ได้ในวงเงินที่มากขึ้นกว่าเดิมจากปี 2540 การรับโควตาเพิ่มนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะชำระโควตาโดยเปลี่ยนรูปแบบของทุนสำรองระหว่างประเทศเท่านั้น จึงไม่ถือเป็นค่าใช้จ่าย และก็ยังคงสามารถนับเป็นเงินทุนสำรองระหว่างประเทศได้ด้วย

2.3 สำหรับการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ (Article of Agreement) ในเรื่องคะแนนออกเสียง (Basic Votes) จำนวนกรรมการบริหารสำรอง (Alternate Executive Director : AED) ในสำนักงานคณะกรรมการบริหารและการปรับเปลี่ยนแนวทางการลงทุนภายใต้ New Income Model เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนการเงินฯ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นและโอนกำไรจากการขายทองคำเข้าบัญชีลงทุน (Investment account) จากเดิมที่ลงบัญชี Special Disbursement Account เพื่อให้กองทุนการเงินฯ สามารถนำกำไรนั้นไปลงทุนต่อได้ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากสภาผู้ว่าการกองทุนการเงินฯ เรียบร้อยแล้ว ถือเป็นการแก้ไขที่มีผลผูกพันทุกประเทศที่เป็นภาคีสมาชิก มิใช่ผูกพันกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียวและหากประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ลงคะแนนรับแล้วก็ถือว่ามีผลบังคับใช้ อย่างไรก็ตามในประเด็นมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญนั้น เนื่องจากในปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอน และวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา ดังนั้น จึงเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีในการพิจารณาเรื่องการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในเรื่องดังกล่าวต่อไป

2.4 กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการในการทำสนธิสัญญาระหว่างประเทศ คือ Vienna Convention on the Law of Treaties 1969 ระบุไว้ว่า อำนาจการลงนามระหว่างประเทศจะต้องทำโดยนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาในอดีต กระทรวงการต่างประเทศจะรับหน้าที่เป็นผู้ออก Instrument of Acceptance และส่งให้ธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการเงินฯ ในกรณีนี้ จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบและมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ดำเนินการออก Instrument of Acceptance

สาระสำคัญของเรื่อง

1. การแจ้งความยินยอมรับโควตาเพิ่มของประเทศไทย

1.1 การจัดสรรโควตาเพิ่มของกองทุนการเงินฯ ในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดปฏิรูปกองทุนการเงินฯ ให้มีความทันสมัยและปรับปรุงสิทธิและเสียงของประเทศสมาชิกให้สะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่แท้จริงของประเทศในปัจจุบัน โดยการปฏิรูปฯ ในครั้งนี้มีผลให้โควตารวมของไทยเพิ่มขึ้น 358.6 ล้าน SDR (Special Drawing Rights หรือสิทธิพิเศษถอนเงิน) จากปัจจุบัน 1,081.9 ล้าน SDR เป็น 1,440.5 ล้าน SDR หรือเทียบเท่าสัดส่วนโควตาเพิ่มขึ้น จากเดิมร้อยละ 0.506 เป็นร้อยละ 0.604

2. การขอความเห็นชอบเรื่องการแก้ไขข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ

2.1 การแก้ไขข้อตกลงฯ ในส่วนของการปฏิรูปโควตาและสิทธิการออกเสียงเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลง 2 ประเด็น คือ

(1) การเพิ่มจำนวนกรรมการบริหารสำรอง 2 ตำแหน่งของกลุ่มออกเสียงแอฟริกา 2 กลุ่ม

(2) การเพิ่มจำนวนสิทธิการออกเสียงพื้นฐาน (Basic votes) จากเดิมที่ประเทศสมาชิกได้รับจัดสรรประเทศละ 250 คะแนนเสียง เป็น 750 คะแนนเสียง ซึ่งเป็นการช่วยเพิ่มสิทธิออกเสียงให้ประเทศกำลังพัฒนา

2.2 การแก้ไขข้อตกลงฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับองค์กรและการจัดการ (Organization and Management) และการจัดการและธุรกรรมของกองทุนการเงินฯ (Operations and Transactions of the Fund) เพื่อเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเงินของกองทุนการเงินฯ โดยมีสาระสำคัญ 2 ประเด็น คือ ขยายแนวทางการลงทุนของกองทุนการเงินฯ ให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น และโอนกำไรจากการขายทองคำ เข้าบัญชีลงทุน (Investment account) จากเดิมที่ลงบัญชี Special Disbursement Account เพื่อให้กองทุนการเงินฯ สามารถนำกำไรนั้นไปลงทุนต่อได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ