เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 1/2553
คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอทั้ง 2 ข้อดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ครั้งที่ 1/2553
2. เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงชื่อและตำแหน่งของกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ดังนี้
2.1 เดิม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์) เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
2.2 เดิม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ (นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย) เป็น นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย
สาระสำคัญของเรื่อง
คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ซึ่งมีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธาน ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 เวลา 14.00 — 16.00 น. ณ ห้องประชุม เดช สนิทวงศ์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) โดยสรุปผลการประชุมคณะกรรมการฯ ดังนี้
1. การดำเนินโครงการในสาขาพัฒนาการท่องเที่ยว
คณะกรรมการได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินโครงการในสาขาพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีรายละเอียดดังนี้
1.1 การอนุมัติกรอบวงเงินลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วันที่ 6 พฤษภาคม 2552 วันที่ 15 มิถุนายน 2552 และวันที่ 13 ตุลาคม 2552 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 วงเงินรวม 1.296 ล้านล้านบาท โดยโครงการสาขาพัฒนาการท่องเที่ยว ได้รับอนุมัติวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 10,737.90 ล้านบาท จำนวน 55 โครงการ ในจำนวนนี้ได้รับอนุมัติจัดสรรวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 รวมทั้งสิ้น 23 โครงการ งบประมาณ 5,394.26 ล้านบาท
1.2 ความคืบหน้าการเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนใหญ่โครงการอยู่ระหว่างขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง การประกวดราคา และทำสัญญาก่อสร้าง แบ่งเป็น 1) โครงการภายใต้การจัดสรรวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ 200,000 ล้านบาท จำนวน 16 โครงการ วงเงิน 2,166.43 ล้านบาท ณ วันที่ 22 มกราคม 2553 สามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 7 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 5.9 ของวงเงินที่ได้รับอนุมัติ และ 2) โครงการที่อยู่ภายใต้การจัดสรรวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ 150,000 ล้านบาท จำนวน 7 โครงการ วงเงิน 3,227.82 ล้านบาท ยังไม่มีความคืบหน้าในการเบิกจ่าย เนื่องจากอยู่ระหว่างจัดทำรายละเอียดเพื่อเสนอของบประมาณ
1.3 ข้อเสนอตัวชี้วัดการติดตามประเมินผล ดำเนินการติดตามประเมินผล 3 ระดับ คือ ระดับภาพรวม ระดับแผนงาน และระดับโครงการ มีรายละเอียดดังนี้
1.3.1 ระดับภาพรวม ประกอบด้วย 1) ด้านความก้าวหน้า เช่น ร้อยละของงบประมาณที่เบิกจ่ายเมื่อเทียบกับวงเงินที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมด เป็นต้น 2) ด้านผลผลิต เช่น ร้อยละของจำนวนโครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จพร้อมส่งมอบงาน เป็นต้น และ 3) ด้านผลสำเร็จ เช่น สัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนในพื้นที่ และสัดส่วนการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นในพื้นที่ เป็นต้น
1.3.2 ระดับแผนงาน ประกอบด้วย 1) ด้านความก้าวหน้า เช่น ร้อยละของงบประมาณที่เบิกจ่ายเมื่อเทียบกับวงเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งแผนงาน เป็นต้น 2) ด้านผลผลิต เช่น จำนวนแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับการพัฒนาฟื้นฟูให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวตลาดกลุ่มเป้าหมายเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เป็นต้น และ 3) ด้านผลสำเร็จ เช่น นักท่องเที่ยวมีความพึงพอใจในแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มมากขึ้น และอัตราการเที่ยวซ้ำของนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
1.3.3 ระดับโครงการ ประกอบด้วย 1) ด้านความก้าวหน้า เช่น ร้อยละของงบประมาณที่เบิกจ่ายเมื่อเทียบกับวงเงินที่ได้รับอนุมัติของโครงการ เป็นต้น 2) ด้านผลผลิต เช่น จำนวนป้ายบอกทางเข้าแหล่งท่องเที่ยว 3,000 ป้าย ได้รับการติดตั้งในพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศตามแผนงานที่กำหนดไว้ เป็นต้น และ 3) ด้านผลสำเร็จ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในแหล่งท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น และจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวกลุ่มไมซ์ในจังหวัดภูเก็ตเพิ่มขึ้น เป็นต้น
2. การดำเนินโครงการในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
คณะกรรมการได้พิจารณาความก้าวหน้าการดำเนินโครงการในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้
2.1 ภาพรวมของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2.1.1 โครงการฯ ได้รับการพิจารณาจัดสรรวงเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 (ตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 และ 20 ตุลาคม 2552) จำนวน 13 โครงการ วงเงินรวม 1,330.60 ล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นโครงการลงทุนพัฒนาในกลุ่มมรดกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ
2.1.2 นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2552 คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2552 มีมติเห็นชอบให้กันวงเงิน 1,000 ล้านบาท จากวงเงินงบประมาณตาม พ.ร.ก. วงเงิน 150,000 ล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่มีความสำคัญเป็นลำดับต้นและมีความพร้อมที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2553 จำนวน 16 โครงการ วงเงินทั้งสิ้น 1,000 ล้านบาท
2.2 ความก้าวหน้าของการดำเนินงานตามแผนการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ การลงทุนในสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ได้รับการจัดสรรเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงินรวม 1,330.595 ล้านบาท ได้รับการอนุมัติงบประมาณแล้ววงเงิน 1,283.830 ล้านบาท (หรือประมาณร้อยละ 96.49) ทั้งนี้ ยังไม่มีการเบิกจ่ายงบประมาณ เนื่องจากมีการปรับแก้ไขเพิ่มเติมรายละเอียดโครงการหลายครั้ง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นเรื่องใหม่ที่ยังไม่มีความชัดเจนในด้านของคำจำกัดความ รวมทั้งหน่วยงานจะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนและหลักเกณฑ์ของระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินงาน
2.3 ตัวชี้วัดของการติดตามและประเมินผลแผนการลงทุนในแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 สาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์
2.3.1 ตัวชี้วัดการติดตามความก้าวหน้า ประกอบด้วย (1) ความก้าวหน้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ ได้แก่ ร้อยละของวงเงินที่มีการประกวดราคาแล้วเสร็จต่อวงเงินทั้งหมด ร้อยละของวงเงินที่มีการลงนามในสัญญาจัดจ้างต่อวงเงินทั้งหมด และร้อยละการเบิกจ่ายงบประมาณต่องบประมาณที่ได้รับ (2) ร้อยละของจำนวนโครงการที่ก่อสร้างได้ตามเป้าหมาย (3) ร้อยละของจำนวนการจ้างแรงงานต่อเป้าหมาย (4) ความก้าวหน้าของโครงการเมื่อเทียบกับแผน
2.3.2 ตัวชี้วัดประเมินผลความสำเร็จสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อติดตามประเมินผลโครงการในด้านประสิทธิภาพและประสิทธิผล ได้แก่ (1) จำนวนต้นแบบผลิตภัณฑ์/บริการสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น (2) จำนวนบุคลากรที่ได้รับการยกระดับองค์ความรู้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ (3) ร้อยละที่เพิ่มขึ้นของผู้ประกอบการที่ผลิตสินค้า/บริการสร้างสรรค์ (4) ร้อยละที่เพิ่มขึ้นของมูลค่าของเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น (5) ร้อยละที่เพิ่มขึ้นจำนวนจ้างงานสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์เพิ่มขึ้น (6) มีฐานข้อมูลการผลิตและบริการสร้างสรรค์
3. ขอบเขตการดำเนินการ (Term of Reference: TOR) การจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อการติดตามประเมินผลโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
คณะกรรมการได้พิจารณาขอบเขตการดำเนินการ (TOR) การจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อการติดตามประเมินผลโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้
3.1 การจัดจ้างที่ปรึกษาสำหรับการติดตามประเมินผลโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง2555 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อจัดทำกรอบการติดตามประเมินผล ระยะเวลาดำเนินการ 3 เดือน และ ระยะที่ 2 โครงการจ้างที่ปรึกษา ติดตามประเมินผลโครงการในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี และโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อกำกับการเร่งรัด ติดตามประเมินผลโครงการในพื้นที่ทั้ง 4 ภาค ระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี
3.2 วัตถุประสงค์ในการจัดจ้างที่ปรึกษา ระยะที่ 1 (1) เพื่อจัดทำกรอบการติดตาม เร่งรัด ประเมิน ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (2) เพื่อเตรียมวางรูปแบบ ระบบ กลไกในการบริหารงาน ตรวจสอบ ติดตามประเมิน เผยแพร่ข้อมูล/ประชาสัมพันธ์ และรายงานผลการดำเนินงานโครงการต่างๆ ภายใต้แผนแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และ (3) เพื่อจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาการจ้างที่ปรึกษา ระยะที่ 2
3.3 ขอบเขตการดำเนินการ (TOR) ของโครงการฯ ระยะที่ 1
3.3.1 การออกแบบระบบบริหารโครงการ ประสาน เร่งรัด ติดตาม ประเมินผลการดำเนินงานโครงการ ประกอบด้วย จัดทำกรอบแผนงานและระบบติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และออกแบบรายงานการติดตามประเมินผลระหว่างการดำเนินโครงการประจำเดือน และรายงานเมื่อสิ้นสุดโครงการ รวมทั้งจัดทำตัวชี้วัด วิธีการคำนวณและการจัดทำฐานข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อใช้ในการติดตามประเมินผลทั้งรายโครงการ และรายสาขา
3.3.2 งานจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาโครงการจ้างที่ปรึกษาฯ ได้แก่ จัดทำร่าง TOR รายภาค (ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้) รวมถึงสนับสนุนงานการคัดเลือกที่ปรึกษา ระยะที่ 2
3.4 วงเงินจ้างที่ปรึกษา ใช้งบประมาณโดยเบิกจ่ายจากเงินกู้เพื่อปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ (SAL) วงเงินไม่เกิน 2 ล้านบาท
3.5 แผนการดำเนินงาน หากคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีมติอนุมัติร่าง TOR ในเดือนมกราคม 2553 สบน. คาดว่าจะสามารถอนุมัติโครงการ รวมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการจ้างที่ปรึกษาโดยวิธีการคัดเลือก และลงนามในสัญญาจ้างที่ปรึกษาได้ภายในช่วงต้นเดือนมีนาคม 2553 โดยที่ปรึกษาจะสามารถเริ่มดำเนินงานได้กลางเดือนมีนาคม 2553 โดยมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้นประมาณ 3 เดือน
3.6 งานที่ต้องส่งมอบ ได้แก่ (1) กรอบและแผนงานการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 จำแนกรายภาค (2) ตัวชี้วัด วิธีการคำนวณและการจัดทำฐานข้อมูลตัวชี้วัดเพื่อใช้ประเมินผลรายโครงการและรายสาขา และ (3)TOR และเอกสารประกวดราคาของโครงการจ้างที่ปรึกษา ระยะที่ 2
3.7 ผลที่คาดว่าจะได้รับ สามารถติดตามเร่งรัด ประเมินผลการดำเนินงานโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ภาคสนาม ได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นระบบ โดยสามารถแก้ไขปัญหาและอุปสรรคระหว่างการดำเนินโครงการได้อย่างทันท่วงที ทำให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีความโปร่งใส และเป็นไปตามกรอบกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง
4. การเปลี่ยนแปลงชื่อกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
คณะกรรมการได้พิจารณาเรื่อง การเปลี่ยนแปลงกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการในคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้
4.1 ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2552 และ 27 ตุลาคม 2552 เห็นชอบ
การแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่มีนายพนัส สิมะเสถียร เป็นประธานกรรมการ โดยมีรองเลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ) เป็นกรรมการและเลขานุการ และกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ จำนวน 3 คน ประกอบด้วย 1) ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง(นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์) 2) รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง (นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ) และ 3) ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ (นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย) ขณะนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลง ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะจาก นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ เป็น นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของนายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาสำนักงบประมาณ
5. สรุปมติคณะกรรมการฯ
5.1 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการ (สศช.) ดำเนินการปรับปรุงตัวชี้วัดการติดตามประเมินผลโครงการในสาขาพัฒนาการท่องเที่ยวและสาขาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนี้
5.1.1 จัดทำตัวชี้วัดโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ใน 2 ระดับ คือ 1) ตัวชี้วัดมาตรฐาน เช่น การจ้างงาน ผลการเบิกจ่าย และความก้าวหน้าหน้าของผลการดำเนินงาน เป็นต้น เพื่อการประเมินผลการดำเนินการของแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในภาพรวม และ 2) ตัวชี้วัดรายสาขา โดยกำหนดรูปแบบรายงานติดตามประเมินผลที่เป็นมาตรฐานและจำนวนตัวชี้วัดทั้งในระดับภาพรวมและระดับแผนงาน/โครงการเพื่อให้อยู่บนพื้นฐานเดียวกัน ทั้งนี้ จำเป็นต้องพิจารณาการนำไปใช้ประโยชน์ในการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของคณะกรรมการฯ ด้วย เพื่อไม่ให้มีการกำหนดจำนวนตัวชี้วัดมากเกิดความจำเป็นและเป็นภาระต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
5.1.2 จัดทำตัวชี้วัดในสาขาพัฒนาการท่องเที่ยวที่สะท้อนถึงความยั่งยืนของการพัฒนาการท่องเที่ยว การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และการสร้างโอกาสในการท่องเที่ยวของประเทศที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดให้มีการสำรวจพื้นที่ภาคสนามในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัดประกอบการประเมินผล เพื่อให้ทราบผลสำเร็จของโครงการจากพื้นที่ดำเนินโครงการจริง
5.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาทบทวนชื่อโครงการ Thailand Handicraft Expo 2010 เปิดประตูสินค้าหัตถกรรมสู่เวทีโลก เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงของการดำเนินโครงการ และสามารถสื่อสารและทำความเข้าใจกับผู้ที่เกี่ยวข้องได้อย่างถูกต้อง
5.3 เห็นชอบขอบเขตของการดำเนินการ (Terms of Reference) สำหรับการจัดจ้างที่ปรึกษา ระยะที่ 1 เพื่อจัดทำกรอบการติดตามประเมินผลการดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และมอบหมายให้ สบน. รับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการต่อไป
5.4 เห็นชอบการเปลี่ยนแปลงชื่อและตำแหน่งของกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ดังนี้
5.4.1 เดิม ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง (นายพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์) เป็น ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง
5.4.2 เดิม ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนงบประมาณ สำนักงบประมาณ (นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย) เป็น นายดุสิต เขมะศักดิ์ชัย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--