การปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 14:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3 ที่มีวงเงินเพิ่มขึ้น 43,955.08 ล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ 13,955.08 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 30,000 ล้านบาท ทำให้วงเงินรวมของแผนเพิ่มขึ้นจากเดิม 1,704,707.62 ล้านบาท เป็น 1,748,662.70 ล้านบาท

2. อนุมัติการกู้เงินและการค้ำประกันเงินกู้ในประเทศของรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 3

3. อนุมัติให้กระทรวงการคลังเป็นผู้พิจารณาการกู้เงิน วิธีการกู้เงิน เงื่อนไข และรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินและการค้ำประกันในแต่ละครั้งได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น ภายใต้แผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 3 แต่หากรัฐวิสาหกิจสามารถดำเนินการกู้เงินได้เอง ก็ให้สามารถดำเนินการได้ตามความเหมาะสมและจำเป็นของรัฐวิสาหกิจนั้นๆ

4. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้ที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมอบหมายเป็นผู้ลงนามผูกพันการกู้เงินและหรือการค้ำประกันเงินกู้ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวง การคลังเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเป็นรองประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงการคลัง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน (1. นายปรีชา จรุงกิจอนันต์ 2. นายกำชัย จงจักรพันธ์ 3. นายอนุสรณ์ ธรรมใจ) เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ เป็นกรรมการและเลขานุการ ได้พิจารณาเห็นว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลและรัฐวิสาหกิจรวม 7 แห่ง มีความจำเป็นต้องบริหารหนี้เดิมและกู้เงินใหม่เพิ่มขึ้นนอกเหนือจากแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 และได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นประกอบด้วยแล้วจึงได้มีมติเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3 โดยเป็นการปรับปรุงแผนงานย่อย จำนวน 2 แผน ได้แก่ 1) แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และ 2) แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ ดังนี้

1. แผนการบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจการปรับปรุงแผนฯ ครั้งนี้ได้บรรจุวงเงินการบริหารจัดการหนี้เงินกู้สำหรับสนับสนุนโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ที่ได้กู้เงินในปีงบประมาณ 2552 ไปแล้วจำนวน 30,000 ล้านบาท ในแผนการบริหารและจัดการหนี้เงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ และขอเพิ่มการดำเนินการโดยให้กระทรวงการคลังสามารถบริหารจัดการหนี้ที่เกิดตามแผนการกู้เงินใหม่ ในปีงบประมาณ 2553 ที่ได้บรรจุอยู่ในแผนการบริหารหนี้สาธารณะแล้ว จำนวน 320,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินดำเนินการภายใต้แผนทั้งสิ้น 350,000 ล้านบาท ทั้งนี้ เพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างหนี้ได้ทั้งหมดเพื่อลดความเสี่ยงด้วยวิธีการที่เหมาะสมกับสภาวะตลาดในแต่ละช่วงเวลา

2. แผนการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ

             วงเงินเดิม                   353,647.30   ล้านบาท
             ปรับเพิ่ม                      13,955.08   ล้านบาท
             วงเงินหลังการปรับปรุง          367,602.38   ล้านบาท

การปรับเพิ่มวงเงิน 13,955.08 ล้านบาท ดังกล่าวเป็นการกู้เงินใหม่ภายใต้แผนเงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

การปรับเพิ่มวงเงินกู้ใหม่ของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง จำนวน 11,390.24 ล้านบาท ประกอบด้วย การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ เพื่อชดเชยยอดค้างชำระสำหรับนโยบาย 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน และสำหรับมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนระยะที่ 2 ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้รัฐวิสาหกิจกู้เงินแล้วเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552

องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ขอปรับเพิ่มวงเงินกู้ จำนวน 2,164.83 ล้านบาท เพื่อชำระหนี้ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดในปีงบประมาณ 2553 ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพกู้เงินดังกล่าว โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกัน

สำนักงานธนานุเคราะห์ ขอบรรจุวงเงินกู้ จำนวน 400 ล้านบาท เพื่อเป็นเงินทุน รองรับสำหรับใช้หมุนเวียนรับจำนำในช่วงเปิดภาคการศึกษาในช่วงเดือนเมษายนถึงมิถุนายน 2553 ที่คาดว่าจะมีประชาชนมาใช้บริการเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยสำนักงานธนานุเคราะห์อยู่ระหว่างนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติการกู้เงินดังกล่าว

หลังการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3 จะทำให้ภาพรวมของแผนฯ มีวงเงินเพิ่มขึ้น 43,955.08 ล้านบาท จากเดิม 1,704,707.62 ล้านบาท เพิ่มเป็น 1,748,662.70 ล้านบาท เป็นการกู้เงินใหม่ 914,752.60 ล้านบาท และการบริหารหนี้ 833,910.10 ล้านบาท ซึ่งสรุปตามแผนงานย่อยได้ ดังนี้

                                                                                      หน่วย : ล้านบาท
แผน                                                        วงเงิน         วงเงินหลัง      การเปลี่ยนแปลง
                                                          แผนเดิม     ปรับปรุงครั้งที่ 3
1. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐบาล               673,000.00       673,000.00                 -
2. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อชดใช้ความเสียหายให้ FIDF       139,171.02       139,171.02                 -
3. การบริหารและจัดการเงินกู้เพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้าง              320,000.00       350,000.00         30,000.00
ความมั่นคงทางเศรษฐกิจ
4. การบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ            353,647.30       367,602.38         13,955.08
4.1 การกู้เงินใหม่                                        110,439.66       124,394.74         13,955.08
(1) เงินกู้ในประเทศทดแทนเงินกู้จากต่างประเทศ                   4,692.66         4,692.66                 -
(2) เงินกู้เงินบาทสมทบโครงการเงินกู้จากต่างประเทศ               6,932.39         6,932.39                 -
(3) เงินกู้เพื่อลงทุน                                        33,892.79        33,892.79                 -
(4) เงินกู้เพื่อดำเนินกิจการทั่วไปและอื่นๆ                        64,921.82        78,876.90         13,955.08
4.2 การบริหารและจัดการหนี้                                243,207.64       243,207.64                 -
5. การก่อหนี้จากต่างประเทศ       3,438.80 (MUSD)          120,357.86       120,357.86                 -
6. การบริหารหนี้ต่างประเทศ        2,815.18 (MUSD)          98,531.44        98,531.44                 -
รวม                                                 1,704,707.62     1,748,662.70         43,955.08

สำหรับประเด็นของกฎหมายที่เกี่ยวข้อง มีดังนี้

1. ตามนัยมาตรา 35 (2) แห่งพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้คณะกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะเสนอแผนการบริหาร หนี้สาธารณะประจำปีงบประมาณต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุมัติ และหากมีการปรับเปลี่ยนแผนระหว่างปีโดยไม่เกินวงเงินที่ได้รับการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี ให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการฯ และรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบ ในการปรับปรุงแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ครั้งที่ 3 นี้เป็นการปรับวงเงินดำเนินการเพิ่มขึ้นจากวงเงินของแผนในครั้งก่อนที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้ จึงต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการปรับปรุงแผนฯ ครั้งนี้ตามนัยที่กฎหมายกำหนด

2. การค้ำประกันที่กระทรวงการคลังสามารถดำเนินการได้ตามที่พระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 25 และมาตรา 28 ได้กำหนดให้ในปีงบประมาณหนึ่ง กระทรวงการคลังจะค้ำประกันและให้กู้ต่อเป็นเงินบาทได้ไม่เกินร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปีที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นและงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ซึ่งในปีงบประมาณ 2553 มีกรอบวงเงินดังกล่าวเท่ากับ 340,000 ล้านบาท (งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2553 เท่ากับ 1,700,000 ล้านบาท)ซึ่งหากกระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจตามแผนการบริหารหนี้สาธารณะ ประจำปีงบประมาณ 2553 ปรับปรุงครั้งที่ 3 ตามกรอบวงเงินที่รัฐวิสาหกิจเสนอขอ จำนวน 317,500.78 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 18.68 แล้ว จะยังไม่เกินกว่ากรอบวงเงินที่กฎหมายกำหนดไว้ อย่างไรก็ดี หากมีโครงการในอนาคตที่รัฐบาลต้องค้ำประกันเงินกู้ก็จะต้องพิจารณาอย่างเข้มงวด เนื่องจากวงเงินตามกฎหมายที่เหลืออยู่ จะสามารถดำเนินการค้ำประกันได้อีกเพียงประมาณ 22,400 ล้านบาท เท่านั้น

3. ระดับของสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP หากมีการดำเนินการตามแผนฯ ที่ได้ปรับปรุงในครั้งนี้ทั้งหมดคาดว่าจะอยู่ในระดับร้อยละ 49.81 และมีสัดส่วนภาระหนี้ต่องบประมาณ อยู่ในระดับร้อยละ 12.61 โดยในปี 2553 ใช้สมมติฐานให้อัตราความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเท่ากับร้อยละ 2.5 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 2.0 ซึ่งยังคงอยู่ภายในกรอบความยั่งยืนทางการคลัง คือ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ไม่เกินร้อยละ 60 และภาระหนี้ต่องบประมาณไม่เกินร้อยละ 15 ตามลำดับ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ