รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีภาวะธุรกิจส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 14:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2552 ดัชนีราคาส่งออก สูงขึ้นร้อยละ 0.7 และดัชนีราคานำเข้า สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออก

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.7 เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเกษตรกรรม สินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรมไม่เปลี่ยนแปลง

สินค้าส่งออกที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 2.7 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 3.5) ราคาสินค้าเกษตร หลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะข้าว ผลผลิตของประเทศผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกลดลงเนื่องจากภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ราคาข้าวส่งออกของไทยปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการของตลาดยางพารา เป็นช่วงที่ผลผลิตในภาคใต้ออกสู่ตลาดน้อย ขณะที่อุปสงค์ยางในจีนและอินเดียเพิ่มขึ้น และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.0) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล สูงขึ้นตามราคาตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปริมาณผลผลิตน้ำตาลลดลง เพราะมีการนำอ้อยไปผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้น

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4) สินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นผลจากราคาทองคำที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามราคาตลาดโลก ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์พลาสติก ส่วนสินค้าที่ราคาลดลงได้แก่ รองเท้าและชิ้นส่วน เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 4.1 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 4.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และสังกะสี

2. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2551 ดัชนีราคาส่งออกสูงขึ้นร้อยละ 7.4 จากการสูงขึ้นของทุกหมวด ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 20.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 4.3 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.7 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 36.0

3. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยระยะ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2552 เทียบกับ ช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.5 ซึ่งเป็นการลดลงในอัตราที่ชะลอตัวลง เป็นผล จากการลดลงของหมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าแร่ และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 9.5 ร้อยละ 2.5 และร้อยละ 22.6 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.8

ดัชนีราคานำเข้า

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับเดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.7) เป็นผลจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และสินค้าทุน ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลง

สินค้านำเข้าที่ราคาสูงขึ้น

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 4.6 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้น ร้อยละ 1.6) ทั้งนี้เป็นผลจากการสูงขึ้นของราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว และกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันไม่เพิ่มปริมาณการผลิต ประกอบกับค่าเงินดอลล่าร์ยังคงอ่อนค่าลง

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.2 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.8) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะทำด้วยเหล็กและอลูมิเนียม เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.3 (เดือนตุลาคม 2552 ลดลงร้อยละ 0.1) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เม็ดพลาสติก อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ ดีบุก ทองแดง และตะกั่ว

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.5 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์

สินค้านำเข้าที่ราคาลดลง

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.8 (เดือนตุลาคม 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.9) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด (หน้ากากกรองฝุ่น)

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤศจิกายน 2552 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2551 ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นเป็นเดือนที่สองในรอบปี คือ สูงขึ้นร้อยละ 6.8 ปัจจัยสำคัญจากการสูงขึ้นในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นมากถึงร้อยละ 22.6 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 3.3 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นเล็กน้อย คือ ร้อยละ 0.9 และร้อยละ 0.1 ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.7

2. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยระยะ 11 เดือน (มกราคม-พฤศจิกายน) ของปี 2552 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2551 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 3.7 สาเหตุหลักคือการลดลงของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 20.6 สำหรับหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 2.0 หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.9 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 1.1 และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 0.1

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ