รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 14:23 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกเดือนธันวาคม 2552 และปี 2552

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ และดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออกเดือนธันวาคม 2552 และปี 2552 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนธันวาคม 2552 ในปี 2550 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2552 เท่ากับ 117.2 (เดือนพฤศจิกายน 2552 คือ 115.5)

การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

เดือน พฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 1.5

เดือน ธันวาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 11.0

เฉลี่ยทั้งปี 2552 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2551 สูงขึ้น ร้อยละ 0.3

2. ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวการณ์ส่งออกปรับตัวดีขึ้น

2.1 พิจารณาจากดัชนีราคาส่งออกเดือนธันวาคม 2552 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 11.0 เป็นการปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สาเหตุสำคัญมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศทั้งในสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าทุน เพื่อรองรับต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่คาดว่าจะสูงขึ้นในปี 2553 สอดคล้องกับทิศทางราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการใช้น้ำมันในสภาพภูมิอากาศที่หนาวเย็นในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดโลก โดยเฉพาะข้าว เป็นผลจากการประมูลข้าวของฟิลิปปินส์ เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2552 ส่งผลด้านจิตวิทยาต่อราคาข้าวในประเทศและราคาส่งออก รวมทั้ง ข้าวโพด ยางพารา และมันสำปะหลัง ระดับราคาอยู่ในเกณฑ์สูงกว่าราคาประกันของรัฐบาล

สินค้าส่งออกสำคัญที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ร้อยละ 60.4 (น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และสังกะสี) หมวดสินค้าเกษตรกรรม ร้อยละ 42.3 (ข้าว และยางพารา) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ร้อยละ5.4 (น้ำตาลทรายและกากน้ำตาล) และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ร้อยละ 2.4 (อัญมณีและเครื่องประดับ หม้อแปลงไฟฟ้าและส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์อินทรีย์ ทองแดงและของทำด้วยทองแดง)

2.2 พิจารณาจากดัชนีราคาส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 2552 เทียบกับ เฉลี่ยทั้งปี 2551 สูงขึ้น ร้อยละ 0.3 (ปี 2551 สูงขึ้นร้อยละ 10.5) ทั้งนี้ เนื่องจากฐานข้อมูลราคาสินค้าส่งออกเฉลี่ยทั้งปี 2551 อยู่ในระดับสูง ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป แม้ว่าในปี 2552 จะมีปัจจัยบวกจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกในปลายปี 2552 ทำให้มีคำสั่งซื้อสินค้า โดยเฉพาะหมวดอุตสาหกรรมเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งราคาสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวและยางพารา สินค้าแร่และเชื้อเพลิงมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้วก็ตาม

2.3 ภาวการณ์ส่งออกเดือนธันวาคม 2552 ขยายตัวสูงสุดในรอบ 12 เดือน (ร้อยละ 26.1) มูลค่า 14,629 ล้านเหรียญสหรัฐ (482,163 ล้านบาท) เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกทั้งปี 2552 มีมูลค่า 153,502 ล้านเหรียญสหรัฐ (หดตัวร้อยละ 14.2) โดยในเดือนธันวาคม 2552 สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรส่งออกเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเฉพาะ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง และสินค้าอาหาร เช่นเดียวกันกับสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ เช่น เครื่องอิเลคทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นต้น ปัจจัยที่ส่งผลให้การส่งออกปรับตัวดีขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ได้แก่ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าของตลาดส่งออกสำคัญประกอบกับสต็อกของผู้นำเข้าในต่างประเทศลดลงรวมทั้ง ความสำเร็จจากการเร่งรัดผลักดันการส่งออกร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชน อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อาจมีการปรับขึ้นหากเงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการส่งออกสูงขึ้น ความกังวลเนื่องจากหลายประเทศมีการยกเลิกการกระตุ้นเศรษฐกิจ อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออก รวมทั้ง การเปิดเสรีการค้าภายใต้กรอบจีน-อาเซียน ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิดถึงผลกระทบต่อตลาดภายในประเทศ และสินค้าส่งออกที่ใช้แรงงานเป็นหลัก

2.4 ตัวชี้วัดอื่น ๆ ที่บ่งชี้แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการส่งออกอย่างชัดเจน ได้แก่ ดัชนีมูลค่าส่งออก และดัชนีคำสั่งซื้อใหม่ในเดือนธันวาคม 2552 ที่มีค่า 56.1 และ 59.9 ซึ่งค่าดัชนีสูงกว่า 50 เป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน รวมทั้ง ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจส่งออก และดัชนีคาดการณ์ความสามารถในการแข่งขันใน 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.-มี.ค.53) ที่มีค่า 68.4 และ 62.7 ซึ่งเป็นค่าดัชนีที่สูงกว่า 50 เป็นไตรมาสที่ 3 ติดต่อกัน จากสภาวะเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ฟื้นตัวและเติบโตอย่างต่อเนื่อง

3. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนธันวาคม 2552

ในปี 2550 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 และเดือนธันวาคม 2552 เท่ากับ 115.5 (เดือนพฤศจิกายน 2552 คือ 115.0) การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2552 เมื่อเทียบกับ

เดือน พฤศจิกายน 2552 สูงขึ้นร้อยละ 0.4

เดือน ธันวาคม 2551 สูงขึ้นร้อยละ 10.3

เฉลี่ยทั้งปี 2552 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2551 ลดลง ร้อยละ 2.5

4. ปัจจัยที่ส่งผลให้ภาวการณ์นำเข้าปรับตัวดีขึ้น

4.1 พิจารณาจากดัชนีราคานำเข้าเดือนธันวาคม 2552 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นติดต่อเป็นเดือนที่สาม คือ สูงขึ้น ร้อยละ 10.3 สาเหตุสำคัญมาจากการสูงขึ้นของหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 42.2 ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก และปริมาณสำรองน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้ความต้องการน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ยังคงอ่อนค่า ทำให้นักลงทุนเพิ่มการลงทุนในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันและทองคำมากขึ้น นอกจากนั้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 3.0 ร้อยละ 3.0 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงลดลงร้อยละ 0.5

ดัชนีราคานำเข้าเฉลี่ยทั้ง ปี 2552 เทียบกับเฉลี่ยทั้งปี 2551 ลดลงร้อยละ 2.5 สาเหตุมาจากการลดลงของสินค้าในทุกหมวดโดยเฉพาะหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 17.0 เนื่องจากความผันผวนของราคาน้ำมันตลาดโลกในปี 2551 โดยในช่วงครึ่งปีแรกมีราคาสูงมาก ทำให้ราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี 2551 สูงกว่าราคาน้ำมันเฉลี่ยปี 2552 ส่วนในหมวดสินค้าทุน หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 1.8 ร้อยละ 1.6 ร้อยละ 0.7 และร้อยละ 0.1 ตามลำดับ

5. ผลกระทบของอัตราแลกเปลี่ยนต่อการส่งออกและนำเข้า

อัตราแลกเปลี่ยน ณ ปัจจุบัน พบว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐยังมีทิศทางการแข็งค่าของค่าเงิน คือเงินบาทเฉลี่ยทั้งเดือนธันวาคม 2552 เท่ากับ 33.23 ขณะที่เดือนพฤศจิกายน 2552 เท่ากับ 33.36 ปัญหาค่าเงินบาทแข็งค่าเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของการส่งออก ซึ่งควรติดตามการลดค่าเงินดองของเวียดนาม รวมทั้ง อัตราแลกเปลี่ยนในประเทศที่ยังคงมีความไม่แน่นอนตามสภาพเศรษฐกิจโลก และการผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน

6. คาดการณ์ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศในไตรมาสที่ 1/2553

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้า ปี 2553 ยังคงมีทิศทางการปรับตัวที่เป็นบวก โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อดัชนี ได้แก่ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ระดับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะผลผลิตของผู้ผลิตรายสำคัญของโลกที่ลดลง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกและราคาสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ปรับตัวสูงขึ้น

นอกจากนี้ ผลจากการเปิดเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และอาเซียน-จีน ทำให้ภาษีลดลงเหลือร้อยละ 0 คาดว่าไทยจะมีโอกาสขยายการส่งออกไปยังประเทศอาเซียนและจีนเพิ่มขึ้น และส่งผลดีต่อการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อนำมาใช้เป็นต้นทุนการผลิตถูกลง อย่างไรก็ตาม คาดว่าค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าต่อไป ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการแข่งขันด้านราคาส่งออกไทยในอนาคต

คาดการณ์ดัชนีราคาส่งออกและดัชนีราคานำเข้า ในไตรมาสที่ 1 ของปี2553 คาดว่าดัชนีราคาส่งออกจะสูงขึ้นอยู่ระหว่างร้อยละ 12.0-13.0 ต่อปี และดัชนีราคานำเข้าจะสูงขึ้นอยู่ระหว่างร้อยละ 11.0-12.0 ต่อปี ทั้งนี้ ภายใต้สมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ระหว่าง 70-80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ระหว่าง 31-33 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ