สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 15:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ ภัยแล้งที่เกิดขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553) สรุปสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 - 26 กุมภาพันธ์ 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัย 29 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย ตาก น่าน พะเยา แพร่ ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา จันทบุรี ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง และจังหวัดสตูล รวม 224 อำเภอ 1,526 ตำบล 11,000 หมู่บ้าน แยกเป็น

ข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2553 (ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553)

ที่                         พื้นที่ประสบภัย                                                       ราษฎรประสบภัย
   ภาค       จังหวัด     อำเภอ     ตำบล      หมู่บ้าน     รายชื่อจังหวัด                           คน      ครัวเรือน
1  เหนือ         12       100      646      4,388     กำแพงเพชร เชียงราย ตาก น่าน     1,056,150      352,720
                                                     พะเยา  แพร่ ลำปาง ลำพูน
                                                     สุโขทัย อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ พิจิตร
2  ตะวันออก       5        75      599      4,827     ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี   1,743,584      403,902
   เฉียงเหนือ                                          อุบลราชธานี
3  กลาง          5        15       98        680     ประจวบคีรีขันธ์  เพชรบุรี  ราชบุรี      147,941       42,985
                                                     สุพรรณบุรี กาญจนบุรี
4  ตะวันออก       3        20      114        742     สระแก้ว จันทบุรี ฉะเชิงเทรา          749,932      133,680
5  ใต้            4        14       69        363     ตรัง นครศรีธรรมราช ระนอง สตูล      144,537       43,647
รวมทั้งประเทศ     29       224    1,526     11,000                                   3,842,144      976,934

ข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2552 ในห้วงเวลาเดียวกัน

ที่                         พื้นที่ประสบภัย                                                       ราษฎรประสบภัย
   ภาค       จังหวัด     อำเภอ     ตำบล      หมู่บ้าน     รายชื่อจังหวัด                           คน      ครัวเรือน
1  เหนือ         11        70      436      3,174     กำแพงเพชร ตาก น่าน พิจิตร          947,179      274,524
                                                     แพร่ ลำปาง พิษณุโลก สุโขทัย
                                                     อุตรดิตถ์ พะเยา ลำพูน
2  ตะวันออก       4        42      267      2,538     ชัยภูมิ  ขอนแก่น นครพนม สกลนคร    1,013,758      232,966
   เฉียงเหนือ
3  กลาง          3        12       87        306     ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี        135,426       32,229
4  ตะวันออก       5        24      122      1,067     ตราด  สระแก้ว  จันทบุรี             606,578      158,804
                                                     ฉะเชิงเทรา ระยอง
5  ใต้            2         9       43        334     ชุมพร  ตรัง                        50,143       16,810
รวมทั้งประเทศ     25       157      955      7,419                                   2,753,084      715,333

ตารางเปรียบเทียบข้อมูลหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งปี 2553 กับปี 2552 ในห้วงเวลาเดียวกัน

ที่   ภาค      จำนวนหมู่บ้าน              ข้อมูลปี  2553               ข้อมูลปี  2552            เปรียบเทียบข้อมูลภัย
               ทั้งประเทศ       (ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553)    (ณ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552)      แล้ง ปี 2553 กับปี 2552
                                หมู่บ้าน     คิดเป็นร้อยละ       หมู่บ้าน     คิดเป็นร้อยละ       จำนวน    คิดเป็นร้อยละ
                               ที่ประสบ    (ของหมู่บ้านทั้ง      ที่ประสบ    (ของหมู่บ้านทั้ง       หมู่บ้าน     ของหมู่บ้านที่
                                ภัยแล้ง        ประเทศ)       ภัยแล้ง      ทั้งประเทศ)      + เพิ่ม/    ประสบภัยแล้ง
                                                                                       - ลด        ปี 2552
1   เหนือ         16,590         4,388          26.45       3,174          19.13     + 1,214       + 38.25
2   ตะวันออก      33,099         4,827          14.58       2,538           7.67     + 2,289       + 90.19
    เฉียงเหนือ
3   กลาง         11,736           680           5.79         306           2.61       + 374       +122.22
4   ตะวันออก       4,859           742          15.27       1,067          21.96       - 325       - 30.46
5   ใต้            8,660           363           4.19         334           3.86        + 29        + 8.68
    รวม          74,944        11,000          14.68       7,419           9.90     + 3,581       + 48.27

ปี 2553 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 29 จังหวัด 224 อำเภอ 1,526 ตำบล 11,000 หมู่บ้าน คิดเป็นร้อยละ 38.40 ของหมู่บ้านทั้งหมดในจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง 28,649 หมู่บ้าน และร้อยละ 14.68 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ 74,944 หมู่บ้าน

เปรียบเทียบช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 มีจังหวัดที่ประสบภัยแล้ง รวม 25 จังหวัด 157 อำเภอ 955 ตำบล 7,419 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ 33.62 ของหมู่บ้านทั้งหมดใน 25 จังหวัดที่ประสบภัยแล้ง และคิดเป็นร้อยละ 9.90 ของหมู่บ้านทั้งประเทศ 74,944 หมู่บ้าน)

ปี 2553 หมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง มากกว่า ปี 2552 จำนวน 3,581 หมู่บ้าน หรือ เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.27

1.2 ความเสียหาย

  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 3,842,144 คน 976,934 ครัวเรือน
  • พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 112,951 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 109,030 ไร่ นาข้าว 3,431 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 490 ไร่

1.3 การให้ความช่วยเหลือ

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 264 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 35,997,650 ลิตร

2) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 2,239 แห่ง

3) ขุดลอกแหล่งน้ำ 475 แห่ง

4) งบประมาณดำเนินการใช้จ่ายไปแล้ว 245,281,024 บาท แยกเป็น

  • งบทดรองราชการของจังหวัด (งบ 50 ล้านบาท) 178,075,920 บาท
  • งบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 67,195,104 บาท (ข้อมูลกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น)
  • งบอื่น ๆ 10,000 บาท

5) กรมชลประทาน ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ 612 เครื่อง ไปให้ความช่วยเหลือในพื้นที่ 39 จังหวัด โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 231 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 228 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก 120 เครื่อง ภาคใต้ 33 เครื่อง และรถบรรทุกน้ำ 6 คัน

2. การประชุมเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้ง ปี 2553

เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2553 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดให้มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ครั้งที่ 1/2553 และผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดร่วมประชุมฯ ทางไกลผ่านระบบ Video Conference โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มอบหมายให้ นายขวัญชัย วงศ์นิติกร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง เป็นประธานการประชุม ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรับทราบสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำของประเทศ และแนวโน้มสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้นเพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 รวมทั้ง การให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้ประสบภัย ให้เป็นไปอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ โดยให้จังหวัดดำเนินการเพิ่มเติม และขอความร่วมมือส่วนราชการให้การสนับสนุนแก่จังหวัด ดังนี้

2.1 มาตรการเร่งด่วน 7 ข้อ ประกอบด้วย

1) การจัดหาน้ำอุปโภคบริโภค ในเขตเมืองและเทศบาล ให้จังหวัด/อำเภอ วางแผนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประเมินความเพียงพอของแหล่งน้ำต้นทุนผลิตประปา รวมทั้งเตรียมแผนรองรับกรณีขาดแคลน ส่วนในเขตชนบท ให้นายอำเภอประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซ่อมบำรุงแหล่งน้ำที่มีอยู่ การจัดหาแหล่งน้ำสำรองสำหรับระบบประปาหมู่บ้าน การกำหนดศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน การใช้งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อจัดหาน้ำอุปโภคบริโภคแจกจ่ายแก่ประชาชน และหากเกินกำลังให้ร้องขอนายอำเภอ

2) การจัดหาน้ำเพื่อการเกษตร ให้ยึดนโยบายและมาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552-2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่แจ้งไปแล้ว เป็นแนวทางหลักในการชี้แจงทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะการทำนาปรังต้องไม่เกินเป้าหมายการส่งเสริมที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์วางไว้ ในส่วนที่อยู่นอกเขตชลประทาน ปัจจัยราคาข้าวที่สูงขึ้น กระตุ้นให้เกษตรกรทำนาปรังเพิ่มขึ้น โดยละเลยในคำเตือนของราชการ ผู้ว่าราชการจังหวัดต้องดูแลอย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ให้ติดตามสภาวะอากาศ เพื่อประสานงานกับสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร ทำฝนหลวงเมื่ออากาศอำนวย

3) การสร้างรายได้และส่งเสริมอาชีพระยะสั้น ให้ดำเนินการจัดฝึกอบรมอาชีพระยะสั้นให้แก่ราษฎรในหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้ง โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงแรงงาน ขอความร่วมมือให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและหน่วยงานรัฐจ้างแรงงานในหมู่บ้านในโครงการก่อสร้างต่างๆ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ และป้องกันปัญหาการอพยพเข้ามาหางานในเมือง

4) การดูแลรักษาสุขภาพและสุขอนามัย ให้สาธารณสุขจังหวัดดูแลป้องกันโรคช่วงฤดูร้อน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนไม่บริโภคอาหาร และน้ำดื่มที่ไม่สะอาด ตลอดจนเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนกในสัตว์ปีกอย่างต่อเนื่อง

5) ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดร่วมกับฝ่ายปกครองกำหนดแผนป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้ายในช่วงฤดูแล้ง มิให้ลักขโมยเครื่องมือเกษตร เครื่องสูบน้ำ หรือโค กระบือ เพื่อมิให้ประชาชนผู้ประสบภัยได้รับความเดือดร้อนซ้ำเติมอีก

6) กำหนดให้มีสายด่วนภัยแล้งในระดับจังหวัด/อำเภอ เพื่อให้ประชาชนแจ้งเหตุและร้องขอความช่วยเหลือ

7) การระมัดระวังเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติอื่นๆ ในช่วงฤดูร้อน ได้แก่

  • พายุฤดูร้อน ในช่วงฤดูร้อนอาจจะมีพายุฤดูร้อนเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อชีวิต ทรัพย์สิน และสิ่งปลูกสร้าง ตลอดจนพืชผลทางการเกษตร ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำชับเจ้าหน้าที่ติดตามการพยากรณ์อากาศอย่างใกล้ชิด ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของป้ายโฆษณาต่างๆ หากพบว่าไม่ปลอดภัย หรือติดตั้งโดยไม่ได้รับอนุญาต ให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเคร่งครัด และแจ้งเตือนให้ประชาชนระมัดระวังตลอดจนดูแลบ้านเรือน โรงเรือนต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่แข็งแรงและปลอดภัย สำหรับเกษตรกรชาวสวนให้ดูแลและค้ำยันต้นไม้ให้แข็งแรงเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น
  • อัคคีภัยและไฟป่า ช่วงฤดูร้อนจะมีลักษณะอากาศแห้ง ซึ่งเอื้ออำนวยต่อการเกิดอัคคีภัย และไฟป่าได้ง่าย ให้แจ้งประชาชนระมัดระวังการใช้เชื้อเพลิงในกิจกรรมต่างๆ รวมถึงงดการเผาหญ้าริมทางและเผาฟางข้าวเพื่อลดมลภาวะทางอากาศที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นการป้องกันอุบัติเหตุทางถนนอีกทางหนึ่ง ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้เชิญชวนประชาชนในพื้นที่กำจัดวัชพืช วัตถุเชื้อเพลิงบริเวณบ้านเรือน ที่พักอาศัย และส่งเสริมให้อาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนและผู้นำท้องถิ่น ผู้ปกครองท้องที่ช่วยกำจัดวัชพืชและวัตถุที่อาจเป็นเชื้อเพลิงในบริเวณพื้นที่สาธารณะเพื่อป้องกันอัคคีภัยด้วย

2.2 ด้านการประสานการปฏิบัติและการให้การสนับสนุนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) ขอความร่วมมือทุกส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้ความร่วมมือกับศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้อำนวยการศูนย์ฯ เพื่อให้มีการบูรณาการการปฏิบัติและใช้ข้อมูลเดียวกันสำหรับการช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2) ให้การสนับสนุนงบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์และกำลังคน แก่จังหวัดโดยเร็วเมื่อได้รับการร้องขอรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้สั่งการผู้ว่าราชการจังหวัดเพิ่มเติม ดังนี้

1. ให้ทุกจังหวัดถือเอาเรื่องการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล และกระทรวงมหาดไทย ที่จะต้องเอาใจใส่ดูแลอย่างใกล้ชิด และมิให้มีพื้นที่ใดหรือประชาชนส่วนใดที่ถูกละเลยหรือ ไม่ได้รับความช่วยเหลือ และการช่วยเหลือนั้นต้องรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์

2. การเตรียมการและการให้ความช่วยเหลือ นอกจากแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการไปแล้วให้พิจารณานำมาตรการเร่งด่วนรวมทั้งข้อเสนอจากส่วนราชการต่าง ๆ ในการประชุมครั้งนี้ไปดำเนินการต่อไปด้วย

3. การใช้เงินทดรองราชการ 50 ล้านบาท ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ให้ดำเนินการโดยยึดความถูกต้องและสนองตอบการแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชน อย่าให้มีการร้องเรียนเกิดขึ้นโดยเด็ดขาด

4. การประชาสัมพันธ์เรื่องการเตรียมการและการให้ความช่วยเหลือต้องกระทำอย่างต่อเนื่องและ ทุกช่องทางของการสื่อสาร

5. หากมีปัญหาอุปสรรคใดให้รายงานกระทรวงมหาดไทยทราบโดยด่วน

3. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 26 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 ลมใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน ส่วนภาคใต้จะมีฝนเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมประเทศมาเลเซียและช่องแคบมะละกา จากนั้นหย่อมความกดอากาศต่ำจากความร้อนจะปกคลุมบริเวณประเทศไทยตอนบน ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นและมีอากาศร้อนกับฟ้าหลัวในตอนกลางวัน อนึ่งในช่วงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ - 2 มีนาคม 2553 คลื่นกระแสลมตะวันตกจะพาดผ่านประเทศไทยตอนบน ซึ่งทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงบางแห่งได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน ระมัดระวังอันตรายจากฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงที่จะเกิดขึ้นในระยะนี้

3.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ