การเพิ่มทุนคงค้างในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 16:08 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติการเพิ่มทุนคงค้างในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้

1. อนุมัติให้กระทรวงการคลังดำเนินการชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ จำนวน 519,131 บาท โดยจะชำระเงินในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินคลังประเภทจ่ายเงินเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ย (Promissory Note)

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังลงนามใน Instrument of Commitment แจ้งยืนยันการชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างดังกล่าว และลงนามเอกสารที่เกี่ยวข้องได้แก่ 1) Request for Substitution of Notes for IDA Replenishment 2) Forms of Notes for IDA Subscriptions 3) Confirmation Receipt of Deposit

ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลังพิจารณาใช้จ่ายจากเงินงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไปก่อนเป็นลำดับแรก แต่หากไม่สามารถดำเนินการเจียดจ่ายได้ก็ให้ขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป ซึ่งเป็นไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังรายงานว่า

1. ธนาคารโลกแจ้งว่าประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกของสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ (International Development Association : IDA) ของกลุ่มธนาคารโลก มียอดเงินเพิ่มทุนคงค้างในสมาคมพัฒนาการระหว่างประเทศ เป็นจำนวนทั้งสิ้น 519,131 บาท และขอให้กระทรวงการคลังพิจารณาชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างดังกล่าวให้แก่ IDA เพื่อเพิ่มสิทธิออกเสียงและสัดส่วนอำนาจการออกเสียงของประเทศไทยใน IDA

2. IDA เป็นองค์กรภายใต้กลุ่มธนาคารโลก ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2503 โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือด้านเงินกู้แก่ประเทศกำลังพัฒนาที่ยากจนที่สุดและไม่มีศักยภาพที่จะกู้เงินภายใต้เงื่อนไขของธนาคารระหว่างประเทศเพื่อการบูรณะและพัฒนา (International Bank For Reconstruction and Development : IBRD) ภายใต้กลุ่มธนาคารโลกได้ ประเทศไทยได้เข้าเป็นสมาชิกของ IDA ตั้งแต่เริ่มการก่อตั้งในปี 2503

3. แหล่งเงินทุนหลักของ IDA มาจากเงินบริจาคของประเทศสมาชิก แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ ประเทศกลุ่มที่ 1 (Part I Countries) หรือ ประเทศผู้บริจาค (Contributing Countries) ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีสัดส่วนการบริจาคที่สูงและจะบริจาคในรูปสกุลเงินที่สามารถแลกเปลี่ยนได้หรือเงินสกุลท้องถิ่น และประเทศกลุ่มที่ 2 (Part II Countries) หรือประเทศที่ซื้อหุ้นเพิ่มทุน (Subscribing Countries) ส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนาและมีฐานะทางเศรษฐกิจด้อยกว่าประเทศกลุ่มที่ 1 และจะสนับสนุน IDA ในรูปของการซื้อหุ้นเพิ่มทุนตามมติเมื่อมีการเพิ่มทุน ทั้งนี้ ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่ม 2

4. IDA จะมีการเพิ่มทุน (Replenishment) เป็นปกติทุก 3 ปี ซึ่งมีการเพิ่มทุนไปแล้วรวมทั้งสิ้น 15 ครั้ง โดยเป็นมติจากสภาผู้ว่าการ IDA และอาจจะมีมติให้มีการเพิ่มทุนพิเศษ (Interim Trust Fund : ITF) ในระหว่างนั้นได้

5. สภาผู้ว่าการ IDA ได้มีมติที่ 184 (Resolution No.184) เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2539 เห็นชอบให้มีการเพิ่มทุนพิเศษ โดยประเทศไทยได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่มทุน (Subscription Votes) จำนวน 825 หุ้น ณ มูลค่า 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อ 1 หุ้น คิดเป็นมูลค่าเท่ากับ 20,625 ดอลลาร์สหรัฐ และเมื่อแปลงเป็นเงินบาท โดยใช้อัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2538 คือ 1 ดอลลาร์สหรัฐ เท่ากับ 25.17 บาท ซึ่งมีมูลค่าเท่ากับ 519,131 บาท อย่างไรก็ตาม ในการเพิ่มทุนพิเศษดังกล่าวมีสมาชิกหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยไม่ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนพิเศษและธนาคารโลกได้พยายามเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมเพิ่มทุนคงค้างเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของ Bretton Woods Institutions ที่ต้องการเพิ่มเสียงและการมีส่วนร่วมของประเทศกำลังพัฒนาในองค์กรระหว่างประเทศให้มากขึ้น ดังนั้น หากปะเทศกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทยให้ความร่วมมือในการชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างก็จะช่วยเพิ่มสิทธิออกเสียงและสัดส่วนอำนาจการออกเสียงของประเทศสมาชิกกลุ่ม 2 ในองค์กรระหว่างประเทศมากขึ้น

6. ต่อมาเมื่อปี 2547 ธนาคารโลกได้มีหนังสือแจ้งกระทรวงการคลังขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกกลุ่ม 2 รวมทั้งประเทศไทยพิจารณาชำระเงินเพิ่มทุนที่คงค้างใน IDA ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศในกลุ่ม 2 ที่ได้เข้าร่วมการเพิ่มทุนในครั้งนั้น (ประเทศไทยไม่ได้เข้าร่วม) อย่างไรก็ตาม การชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างของบางประเทศในครั้งนั้นก็ช่วยทำให้สิทธิการออกเสียงของประเทศกลุ่ม 2 เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 2 จากร้อยละ 38 เป็นร้อยละ 40 ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าการเพิ่มทุนคงค้างดังกล่าวทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิทธิการออกเสียงของประเทศในกลุ่ม 1 ต่อ กลุ่ม 2 คือ สิทธิการออกเสียงของประเทศกลุ่ม 1 เป็นร้อยละ 60 และกลุ่ม 2 เป็นร้อยละ 40

7. ในปี 2547 กระทรวงการคลังได้สอบถามสาเหตุที่มีการเรียกชำระเงินคงค้างดังกล่าว และธนาคารโลก ได้แจ้งว่าเป็นการเพิ่มทุนพิเศษ ซึ่งในขณะนั้นประเทศไทยถือครองหุ้นคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.35 หรือเท่ากับ 58,195 หุ้น และเพื่อรักษาสัดส่วนการถือครองหุ้น จึงจำเป็นจะต้องชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนคงค้างเป็นเงิน 519,131 บาท ซึ่งจะได้รับการจัดสรรหุ้นเพิ่ม 1,725 หุ้น รวมเป็นทั้งสิ้น 59,920 หุ้น อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระทรวงการคลังมิได้ตั้งงบประมาณจำนวนดังกล่าวไว้ ซึ่งธนาคารโลกรับทราบและขอให้ประเทศไทยพิจารณาชำระในโอกาสต่อไป และ ณ ปัจจุบัน ประเทศไทยยังมิได้ชำระเงินดังกล่าว

8. ข้อมูล ณ วันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2551 สิทธิการออกเสียงของประเทศกลุ่ม 1 และกลุ่ม 2 ยังคงเป็นร้อยละ 60 และ 40 ตามลำดับ ซึ่งหากประเทศกลุ่ม 2 เพิ่มทุนคงค้างทั้งหมดที่ยังคงค้างอยู่จะทำให้สิทธิการออกเสียงของประเทศกลุ่ม 2 เพิ่มขึ้น เป็นร้อยละ 48 และประเทศกลุ่ม 1 จะมีสิทธิการออกเสียงเหลือร้อยละ 52 ซึ่งจะส่งผลไปสู่เป้าหมายของ Bretton Woods Institutions

9. ณ วันที่ 31 มีนาคม 2552 ประเทศไทยมีคะแนนเสียงใน IDA ทั้งสิ้น 72,188 คะแนน โดยมีอำนาจการออกเสียงร้อยละ 0.35 ของประเทศสมาชิกทั้งหมด

10. ธนาคารโลกขอความร่วมมือจากประเทศไทยในการชำระเงินเพิ่มทุนคงค้างใน IDA จำนวน 519,131 บาท เพื่อเป็นการรักษาสิทธิการออกเสียงของประเทศไทยใน IDA ที่ระดับ 0.35 โดยการชำระเงินคงค้างดังกล่าวจะทำให้ประเทศไทยมีคะแนนเสียงเพิ่มขึ้นอีก 1,725 คะแนน รวมเป็นทั้งสิ้น 59,920 หุ้น ทั้งนี้ สามารถเลือกชำระค่าเพิ่มทุนในรูปเงินสดตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ตกลงกับ IDA หรือเลือกชำระในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินคงคลังประเภทจ่ายเงินเมื่อทวงถามและไม่มีดอกเบี้ย โดยหากเลือกชำระเป็นเงินสด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจะต้องลงนามในเอกสาร Instrument of Commitment (IoC) เพื่อยืนยันการเพิ่มทุน และหากเลือกชำระในรูปตั๋วสัญญาใช้เงินคลังฯ ก็จะต้องลงนามในเอกสารเพิ่มอีก 3 ฉบับ ได้แก่ 1) Request for Substitution of Notes for IDA Replenishment 2) Forms of Notes for IDA Subscriptions 3) Confirmation Receipt of Deposit

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ