ขออนุมัติลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับศูนย์ศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 3, 2010 16:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมทรัพยากรธรณีกับศูนย์ศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติสาธารณรัฐฝรั่งเศส

2. อนุมัติให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นผู้ลงนามฝ่ายไทย ทั้งนี้ หากมีการเปลี่ยนแปลงถ้อยคำที่ไม่กระทบต่อเนื้อหาสาระสำคัญของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีสามารถเปลี่ยนแปลงถ้อยคำดังกล่าวได้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. กรมทรัพยากรธรณีและศูนย์ศึกษาวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (Centre National de la Recherche Scientifique : CNRS) สาธารณรัฐฝรั่งเศส ได้มีการร่วมมือทางวิชาการในโครงการสำรวจซากดึกดำบรรพ์สัตว์มีกระดูกสันหลังในประเทศไทยมาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2523 โดยมีผลการดำเนินงานที่สำคัญคือการสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมจำนวนมากมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารชั้นนำของโลก รวมทั้งมีการนำตัวอย่าง ซากดึกดำบรรพ์ไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ของกรมทรัพยากรธรณีเพื่อเผยแพร่แก่สาธารณชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพิพิธภัณฑ์ สิรินธร จังหวัดกาฬสินธุ์ และพิพิธภัณฑ์ไดโนเสาร์ภูเวียง จังหวัดขอนแก่น สถานะล่าสุดคณะสำรวจของกรมทรัพยากรธรณีและ CNRS ได้สำรวจพบฟอสซิลเต่าโบราณสกุลใหม่และชนิดใหม่ของโลก และได้ตั้งชื่อว่า “Basilochelys macrobios” เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในวโรกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา รวมทั้งสำรวจพบซากดึกดำบรรพ์กระดูกไดโนเสาร์ที่บ้านนาไคร้ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้ตั้งชื่อว่า “เจ้าฟ้าหญิง” (The Princess)”

2. กรมทรัพยากรธรณีและ CNRS มีความประสงค์ที่จะยกระดับความร่วมมือไปสู่การทำบันทึกความเข้าใจเพื่อกระชับความร่วมมือที่มีอยู่ในปัจจุบันและขยายความร่วมมือระยะยาว โดยได้ยกร่างบันทึกความเข้าใจ 3 ฉบับ เป็นภาษาไทย อังกฤษและฝรั่งเศส มีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

2.1 บันทึกความเข้าใจมีขอบเขตความร่วมมือในเรื่องบรรพชีวินวิทยา การสำรวจและวิจัยซากดึกดำบรรพ์และการพัฒนาพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยา ในลักษณะการแลกเปลี่ยนผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และข้อมูลทางวิชาการ การเยือน การฝึกอบรม การสัมมนา การอบรมเชิงปฏิบัติการ การประชุม การทำวิจัยร่วมกัน รวมถึงกิจกรรมที่อยู่ระหว่างดำเนินการและความร่วมมือในรูปแบบอื่น ๆ ที่จะเห็นชอบร่วมกันในภายหลัง

2.2 กิจกรรมความร่วมมือภายใต้บันทึกความเข้าใจจะดำเนินการตามความพร้อมของทั้งสองฝ่ายในเรื่องบุคลากร ทรัพยากรและเงินทุน โดยไม่มีผลบังคับในเรื่องค่าใช้จ่ายใด ๆ และไม่ผูกมัดกับทรัพยากรหรือบุคลากรทั้งสองฝ่ายอาจแสวงหาแหล่งเงินทุนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมความร่วมมือได้ตามความเหมาะสมและจะดำเนินการภายใต้กฎระเบียบและวิธีปฏิบัติของหน่วยงานทั้งสองฝ่ายและกฎหมายของแต่ละประเทศ

2.3 ผลงานที่เกิดขึ้นเป็นลิขสิทธิ์ของเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหรือต้นสังกัดของเจ้าหน้าที่ผลงานที่ดำเนินการร่วมกันถือเป็นเจ้าของร่วมกัน

2.4 บันทึกความเข้าใจเริ่มมีผลบังคับใช้นับแต่การลงนาม และจะมีผลคงอยู่ 4 ปี สามารถขยายเวลาต่อไปอีกได้ภายใต้ความเห็นชอบร่วมกัน เว้นแต่ฝ่ายหนึ่งจะแจ้งขอให้สิ้นสุดบันทึกความเข้าใจให้อีกฝ่ายหนึ่งทราบเป็นลายลักษณ์อักษร 3 เดือน ก่อนวันสิ้นอายุ

3. กรมทรัพยากรธรณีได้ส่งร่างบันทึกความเข้าใจให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ตรวจสอบและพิจารณาว่าบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะเข้าข่ายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หรือไม่

4. กต. โดยกรมสนธิสัญญาและกฎหมายพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้

4.1 โดยที่ความตกลงฉบับนี้ระบุในอารัมภบทวรรคแรกว่า บันทึกความเข้าใจฉบับนี้ไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย ดังนั้นจึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญา ทั้งนี้ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เกี่ยวกับคำแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชาฉบับลงวันที่ 18 มิถุนายน 2551 ระบุว่า “หนังสือสัญญา หมายถึงความตกลงระหว่างประเทศ ทุกประเภทที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษรและอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าจะถูกบันทึกไว้ในเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่เกี่ยวพันกัน และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร”

4.2 หากพิจารณาแล้วเห็นว่าสาระของร่างบันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือฉบับนี้อยู่ในอำนาจหน้าที่ของกรมทรัพยากรธรณีอยู่แล้วและไม่มีข้อใดของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ขัดกับนโยบายของรัฐบาลในเรื่องนี้ กรมทรัพยากรธรณีก็น่าจะลงนามไปได้ แต่ก่อนลงนามอาจพิจารณานำร่างบันทึกความเข้าใจฯ เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ

4.5 ทส. แจ้งเพิ่มเติมว่า ร่างบันทึกความเข้าใจดังกล่าวเน้นประโยชน์ในการพัฒนาและเพิ่มพูนศักยภาพด้านการสำรวจและวิจัยซากดึกดำบรรพ์ การบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ธรณีวิทยาของประเทศไทย และสนับสนุนความสามารถทางวิชาการด้านธรณีวิทยาและเผยแพร่งานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว ซึ่งบันทึกความเข้าใจดังกล่าวไม่มีผลผูกพันตามกฎหมาย จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาไม่มีผลกระทบเกี่ยวกับดินแดนอาณาเขตหรือเขตอำนาจแห่งรัฐ ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ ไม่มีข้อความใด ๆ ในร่าง ฯ มีประเด็นเกี่ยวข้องที่จะต้องดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ