คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี พ.ศ. .... ที่คณะรัฐมนตรีชุดก่อนมีมติอนุมัติหลักการ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และให้ดำเนินการต่อไปได้
ข้อเท็จจริง
กระทรวงพาณิชย์แจ้งว่า
1. ประเด็นปัญหาเรื่องจำนวนหลักประกันสมควรกำหนดเท่าใดนั้น เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 แล้วจะพบว่า เหตุผลที่กฎหมายกำหนดให้ผู้ประกอบกิจการให้บริการด้านการทำบัญชี การสอบบัญชี และการให้บริการวิชาชีพด้านอื่นต้องจัดให้มีหลักประกันนั้น ก็เพื่อให้ผู้เสียหายที่เกิดจากความบกพร่องจากการประกอบวิชาชีพบัญชีได้รับการเยียวยา ดังนั้น หลักประกันจึงต้องมีจำนวนมากพอสมควรที่สามารถจะเยียวยาความเสียหายได้
2. ผลการศึกษาการกำหนดจำนวนหลักประกันจากข้อมูลของสำนักงานบัญชี และสำนักงานสอบบัญชีที่จดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าการกำหนดจำนวนหลักประกันร้อยละหนึ่ง จะได้จำนวนหลักประกันน้อยมากไม่เพียงพอในการคุ้มครองความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นแก่บุคคลที่สาม โดยเฉพาะสำนักงานขนาดเล็กที่มีทุนจดทะเบียนไม่ถึง 3 ล้านบาท ส่วนสำนักงานสอบบัญชีในตลาดหลักทรัพย์ซึ่งให้บริการสอบบัญชีกับธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสาธารณชนอย่างกว้างขวางนั้นจำเป็นต้องมีจำนวนหลักประกันในจำนวนสูง ซึ่งการกำหนดจำนวนหลักประกันร้อยละสาม มีความเหมาะสมแล้วเมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด และไม่เป็นอุปสรรคต่อการประกอบวิชาชีพบัญชี เพราะผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีสามารถจัดหาหลักประกันได้หลายประเภท เช่น เงินฝากประจำ พันธบัตรรัฐบาล และสามารถได้รับผลตอบแทนจากหลักประกันดังกล่าว
3. ดังนั้น จึงเห็นควรยืนยันจำนวนหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละสามของทุน ณ วันจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ตามร่างฯ ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว
สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
กำหนดประเภท จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดให้มีหลักประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีที่เป็นนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชี หรือให้บริการ วิชาชีพบัญชีด้านอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกาตามมาตรา 9
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--