ขอรับการสนับสนุนงบกลางสำหรับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 09:40 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามความเห็นของสำนักงบประมาณ ที่เห็นควรสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 44,824,800 บาท เพื่อเป็นค่าตอบแทนบุคลากรในการปฏิบัติงานรับแจ้งเหตุและสั่งการให้ชุดปฏิบัติการออกช่วยเหลือ ในอัตราตามระเบียบกระทรวง การคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงานนอกเวลา พ.ศ. 2550

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการพัฒนาบุคลากรในระบบแพทย์ฉุกเฉิน รวมทั้ง ค่าตอบแทนบุคลากรในส่วนที่เกินจากระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการเบิกจ่ายเงินตอบแทนผู้ปฏิบัติงานนอกเวลา พ.ศ. 2550 ให้ปลัดกระทรวงสาธารณสุขอนุมัติเงินสมทบในส่วนที่ขาดจำนวนจากเงินบำรุงของสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน รายงานว่า

1. สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติได้รับจัดสรรงบประมาณตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 วงเงินทั้งสิ้น 444,966,700 บาท จำแนกเป็น 2 รายการคือ

1.1 งบกองทุนการแพทย์ฉุกเฉินได้รับ จำนวน 390,250,000 บาท สำหรับเป็นค่าชดเชยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน 700,000 ครั้ง (คิดเป็นอัตรา 8.30 บาทต่อประชากรในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือคิดเป็น อัตรา 6.23 บาทต่อประชากรไทยทั้งหมด)

1.2 งบบริหารจัดการของสถาบัน ได้รับเฉพาะงบรายจ่ายประจำ จำนวน 54,716,700 บาท ในวงเงินดังกล่าวไม่ได้รับจัดสรรงบประมาณในการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนศูนย์ รับแจ้งเหตุและสั่งการ ค่าบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัด

2. จากการจัดสรรงบประมาณดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการทุกจังหวัด ซึ่งเป็นจุดเริ่มในการรับแจ้งเหตุจากประชาชนหรือผู้ป่วยฉุกเฉินและการสั่งการให้ชุดปฏิบัติการออกให้บริการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉิน รวมทั้งการบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินระดับจังหวัดไม่สามารถปฏิบัติงานได้ และการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินอื่น ๆ ที่มีความจำเป็น เช่น การตรวจสอบคุณภาพ การจ่ายชดเชยบริการการแพทย์ฉุกเฉิน การพัฒนาบุคลากร ดังนั้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณอย่างเพียงพอจะส่งผลกระทบต่อความพร้อมของศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการในการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินให้ได้รับการบำบัดรักษาอย่างทันท่วงที ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและความพิการของผู้ป่วยฉุกเฉินเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อระบบการแพทย์ฉุกเฉินในการวินิจฉัยสั่งการให้ชุดปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉิน ออกปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินทั้งในภาวะปกติและยามเกิดภัยพิบัติ ซึ่งในปัจจุบันมีสถานการณ์ที่รุนแรงมากขึ้น จึงมีความจำเป็นต้องมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานที่ศูนย์รับแจ้งเหตุและสั่งการตลอด 24 ชั่วโมง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ