ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 09:46 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ เสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 2/2553

2. เห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ.และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการกรอ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ.และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 2/2553เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ทำเนียบรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ ได้สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง

1.1 สาระสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง สรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1.1.1 ผลการศึกษา ประกอบด้วย (1) การพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในประเทศไทยจะเน้นการพัฒนาและต่อยอดศักยภาพของผู้ผลิตอุตสาหกรรมในประเทศที่มีศักยภาพอยู่แล้ว (2) การกำหนดแผนที่นำทาง (Roadmap) โดยการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง เป็น 3 ระยะ ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2554-2556) ประเมินศักยภาพการผลิตของผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมการขนส่งระบบราง ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2557-2562) พัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการในการผลิต ระบบไฟฟ้าสำหรับรางของรถไฟยกระดับ หรือโครงสร้างของตัวตู้โดยสาร และระยะที่ 3 (พ.ศ. 2562-2572) พัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ และสร้าง Open Source Platform เพื่อพัฒนาผู้ผลิตชิ้นส่วนไทยให้สามารถผลิตชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มและมีเทคโนโลยีสูงขึ้นได้ และ (3) การกำหนดหลักเกณฑ์ให้ผู้เข้าร่วมประมูลงานโครงการแสดงรายการชิ้นส่วนต่างๆ ที่ใช้ โดยให้มีการแจกแจงคุณสมบัติเฉพาะของแต่ละชิ้นส่วน รวมถึงมาตรฐานที่ใช้ ทั้งนี้ อาจมีการพิจารณาหลักเกณฑ์ที่เป็นประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมไทยมากขึ้น เช่น การใช้ชิ้นส่วนในประเทศ การพัฒนาบุคลากร และการร่วมดำเนินการวิจัยและพัฒนากับสถาบันการศึกษา สถาบันอิสระหรือหน่วยงานวิจัยของรัฐ เป็นต้น

1.1.2 ประเด็นพิจารณา (1) ขอความเห็นชอบในแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ตามผลการศึกษาแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องที่กระทรวงอุตสาหกรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมดำเนินการศึกษาแล้วเสร็จ (2) ขอความเห็นชอบในหลักการการจัดตั้งสถาบันพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องของประเทศไทย

1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

1.2.1 เห็นชอบในหลักการแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการขนส่งระบบรางและ อุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ โดยให้มีการดำเนินการตามแผนที่นำทาง (Roadmap) ทั้ง 3 ระยะไปพร้อมๆ กัน สำหรับการกำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข การให้แต้มต่อสำหรับการประมูลโครงการที่ใช้ชิ้นส่วนในประเทศ เห็นควรให้พิจารณาความเป็นไปได้ด้วยความระมัดระวัง โดยต้องให้เป็นการแข่งขันโดยสมบูรณ์และไม่ขัดแย้งกับกฎกติกาขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งต้องพิจารณาให้ครอบคลุมทั้งระบบ เช่น ประเด็นเรื่องอายุการใช้งาน การซ่อมบำรุง รักษา และรูปแบบของการพัฒนาใหม่ๆ เป็นต้น

1.2.2 มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับเป็นหน่วยงานหลักในการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ในการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาความเหมาะสมของรูปแบบและแนวทางการดำเนินงานของสถาบันพัฒนาระบบขนส่งทางรางและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่อง โดยให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว

2. แนวทางการแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต และแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค

2.1 สาระสำคัญ กระทรวงคมนาคมได้เสนอข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อรับฟังปัญหาและข้อคิดเห็นการบริหารการบินภายในประเทศ และนำมาเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต และแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

2.1.1 การยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต กระทรวงคมนาคม โดย บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ บกท. ชี้แจงว่า บกท. มีแผนในการปรับเปลี่ยนตำแหน่งทางกลยุทธ์ภายใต้ แนวคิด Two-Brand Strategy ให้สามารถครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทั้งระดับพรีเมี่ยม และกลุ่มลูกค้าที่มุ่งเน้นการเดินทางราคาประหยัด ซึ่งจะยังคงแบรนด์การบินไทยให้เป็นสายการบินที่มีเครือข่ายต่อเนื่อง และมีบริการที่เป็นเลิศ (Premium Service Network Airline) ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมจะได้กำกับให้การดำเนินความร่วมมือระหว่าง บกท. และสายการบินนกแอร์ให้ ผู้ใช้บริการได้รับบริการอย่างมีคุณภาพ และมอบหมายให้ บกท. ทำการประเมินผลการดำเนินงานที่เกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการดำเนินงานให้ประโยชน์สูงสุดต่อผู้ใช้บริการ

2.1.2 การพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค ท่าอากาศยานภูมิภาคในความรับผิดชอบของกรมการบินพลเรือนมี จำนวน 28 แห่ง ประกอบด้วย การให้บริการเชิงพาณิชย์และบริการหน่วยงานราชการ จำนวน 18 แห่ง การให้บริการหน่วยงานราชการ จำนวน 8 แห่ง และท่าอากาศยานที่ไม่มีการใช้ประโยชน์ จำนวน 2 แห่ง ได้แก่ ตากและแม่สะเรียง ท่าอากาศยานภูมิภาคมีปัญหาในด้านที่ตั้งทางกายภาพของท่าอากาศยานไม่เหมาะสมการจัดตารางบินไม่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่ และการเดินทางทางถนนมีความสะดวกมากขึ้นซึ่งกระทรวงคมนาคมเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการสร้างแรงจูงใจให้สายการบินมาให้บริการในท่าอากาศยานภูมิภาค เช่น การลดค่าธรรมเนียม การสร้างเส้นทางการบินที่ประหยัด และการเปิดเส้นทางการบินที่มีศักยภาพ เป็นต้น รวมทั้งกระทรวงคมนาคมจะดำเนินการศึกษาหาแนวทางการให้เอกชนเข้ามาบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค

2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต และแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค โดยมอบหมายให้ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ไปประเมินผลการดำเนินงานของสายการบินนกแอร์ ทั้งในด้านคุณภาพการให้บริการ การตรงต่อเวลา และความปลอดภัย

3. ความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484

สาระสำคัญ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมป่าไม้ รายงานความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 ของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ดังนี้

3.1.1 การขยายรอบระยะเวลาการจัดทำบัญชีไม้เป็นทุก 7 วัน โดยแก้ไขข้อกำหนดกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องนั้น กรมป่าไม้ขอพิจารณาทบทวนให้รอบคอบก่อน เนื่องจากปัจจุบันได้มีการตรวจพบและดำเนินคดีผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราที่มีการนำไม้ที่มิชอบด้วยกฎหมายเข้าแปรรูปไม้ในโรงงานแปรรูปไม้ฯ

3.1.2 การออกและต่ออายุใบอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ของกรมป่าไม้ที่มีอายุคราวละ 1 ปี ควรปรับปรุงให้สอดคล้องกับของกรมโรงงานอุตสาหกรรมที่มีอายุคราวละ 5 ปี นั้น เห็นว่า มีความเหมาะสมแล้ว เนื่องจากมีวัตถุประสงค์การควบคุมที่แตกต่างกัน แต่ได้เร่งรัดการต่ออายุใบอนุญาตให้รวดเร็วขึ้น โดยได้มีหนังสือซักซ้อมความเข้าใจเกี่ยวกับการต่ออายุใบอนุญาตอุตสาหกรรมไม้ทุกประเภท ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแล้ว

3.1.3 การขอแก้ไข พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 เกี่ยวกับอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพาราไม่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 นั้น เห็นว่า ในชั้นนี้ยังไม่ควรแก้ไข เนื่องจากมีปัญหาในการตรวจสอบควบคุมของเจ้าหน้าที่ อีกทั้งยังเกี่ยวข้องกับกฎหมายหลายฉบับ ซึ่งปัจจุบันยังมีการตรวจพบและจับกุมดำเนินคดีโรงงานแปรรูปไม้ยางพาราที่นำไม้ที่มิชอบด้วยกฎหมายเข้ามาแปรรูปในโรงงานฯ

3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบความคืบหน้าข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ. ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาโดยตราเป็นกฎหมายเฉพาะสำหรับไม้เศรษฐกิจ อีกทั้งให้มีผลต่อการปรับปรุงกระบวนการทำงานให้เอื้อต่อการประกอบการของอุตสาหกรรมแปรรูปไม้ยางพารา โดยมิให้เกิดผลกระทบต่อการอนุรักษ์ พื้นที่ป่า โดยมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน

4. ความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง

4.1 สาระสำคัญ กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 ดังนี้

4.1.1 กระทรวงอุตสาหกรรม จัดตั้ง “คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย” โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานกรรมการ เพื่อทำหน้าที่วางกรอบนโยบายและแนวทางการดำเนินงาน และประสานการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้างไปสู่การปฏิบัติ โดยการดำเนินงานของคณะกรรมการมีความคืบหน้า ดังนี้ (1) จัดตั้ง “สถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย” (Construction Institute of Thailand) ในสังกัดกระทรวงอุตสาหกรรม โดยให้อธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ ทำหน้าที่รักษาการผู้อำนวยการสถาบันฯ ไปก่อนจนกว่าการสรรหาผู้อำนวยการสถาบันฯ จะแล้วเสร็จ งบประมาณที่ใช้ในการดำเนินกิจกรรมในปี 2553 กระทรวงอุตสาหกรรมจะเจียดจ่ายงบประมาณให้ 10 ล้านบาท และภาคเอกชนสมทบอีก 10 ล้านบาท และมีกำหนดการเปิดตัวสถาบันในเดือนมีนาคม 2553 นี้ (2) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพก่อสร้าง ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการยกร่างกฎหมาย และ (3) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำแผนกลยุทธ์และแผนปฏิบัติการ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้างในระยะ 5 ปี (พ.ศ.2553-2557)

4.1.2 สำนักงานผู้แทนการค้าไทย ได้มีการดำเนินการดังนี้

1) การลงนามข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 ได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสถาบันการเงิน ได้แก่ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย และธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย กับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสถาบันธุรกิจก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ เพื่อสนับสนุนและผลักดันให้ผู้ประกอบการไทย ไปประมูลงานในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และมีความเป็นเอกภาพมากขึ้น

2) การแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการอุตสาหกรรมก่อสร้างไปขยายตลาดงานในต่างประเทศ เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุน ตลอดจนเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในต่างประเทศ โดยมีประธานผู้แทนการค้าไทยเป็นประธานกรรมการ ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ ได้มีการประชุมเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 สรุปผลการประชุมได้ดังนี้

3) กำหนดแผนดำเนินงานในการขยายตลาดงานในต่างประเทศ ได้แก่ บาห์เรน มาเลเซีย และเวียดนาม

4) การมอบหมายงาน (1) ให้หน่วยงานจัดทำรายละเอียดโครงการและงบประมาณทั้งหมด ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยไปต่างประเทศ (2) ให้สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ จัดทำยุทธศาสตร์ในการเจาะกลุ่มประเทศเป้าหมาย (3) ให้สถาบันการเงินจัดทำรายงานความพร้อมของการหาพันธมิตรกับสถาบันการเงิน และ (4) ให้สมาชิกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างฯ กำหนดเป้าหมายโครงการที่สนใจเข้าร่วมประมูลในประเทศอินเดีย ศรีลังกา ลิเบีย เพื่อประกอบการวางยุทธศาสตร์ในการเข้าร่วมประมูลโครงการ

4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงแรงงานศึกษาแนวทางการอำนวยความสะดวกในกรณีที่ผู้ประกอบการไทยได้รับประมูลงานก่อสร้างในต่างประเทศ สามารถนำแรงงานไทยไปทำงานในประเทศนั้น ๆ ได้ โดยให้ได้รับการดูแลด้านสวัสดิการและคุณภาพชีวิตที่ดี

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ