คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. อนุมัติให้ดำเนินโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อดำเนินโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ ในวงเงินรวม 1,000 ล้านบาท ดังรายละเอียดตามนัยข้อ 1 โดยในกรณีที่โครงการใดที่เข้าข่ายต้องดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายใด ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัดต่อไป
2. อนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 วงเงิน 1,000 ล้านบาท สำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ในข้อ 5.1 ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของรายละเอียด กิจกรรม และค่าใช้จ่ายของโครงการ โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติการดำเนินโครงการจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อขอจัดสรรเงิน ซึ่งรวมถึงแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติภายใน 15 วันทำการ และหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว หน่วยงานจะต้องลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ
3. อนุมัติการขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ตามนัยข้อ 2
4. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 เรื่อง การชำระดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/2552 ของ ธ.ก.ส. และอนุมัติในหลักการให้ ธ.ก.ส. กู้เงินจำนวน 1,706 ล้านบาท เพื่อชำระค่าดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/2552 ของ ธ.ก.ส. โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลเป็นผู้รับภาระ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังร่วมกับ ธ.ก.ส. เป็นผู้พิจารณาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินที่เหมาะสมและจำเป็น และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ย เงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดจากการกู้เงินดังกล่าวที่เกี่ยวข้องต่อไป ตามนัยข้อ 3
5. อนุมัติขยายระยะเวลาการส่งข้อมูลเพื่อขอรับการจัดสรรเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ตามนัยข้อ 4
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลังรายงานว่า คณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามแผนงานและเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติได้พิจารณาเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 และนำเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้
1. โครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
คณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์แห่งชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ขอให้คณะกรรมการฯ จัดสรรวงเงิน 1,000 ล้านบาท จากพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 เพื่อขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์และนำเสนอโครงการที่มีความพร้อมดำเนินการในปี 2553 และมีความจำเป็นในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ให้บรรลุเป้าหมายตามพันธสัญญาทั้ง 4 ด้านของรัฐบาลให้คณะกรรมการฯ พิจารณาในวงเงิน 1,384 ล้านบาท คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากลั่นกรองโครงการลงทุนภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 โดยมีหลักเกณฑ์การพิจารณาโครงการ ดังนี้
1) สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
2) สอดคล้องกับพันธสัญญา 4 ด้านของรัฐบาลภายใต้โครงการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดังนี้
- ด้านที่ 1 ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสนับสนุนระบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Infrastructure)
- ด้านที่ 2 สร้างรากฐานและปลูกฝังความสามารถด้านการคิด และการสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาไทย (Creative Education & Human Resource)
- ด้านที่ 3 กระตุ้นให้ทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Society & Inspiration)
- ด้านที่ 4 ส่งเสริมสนับสนุนธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Business Development & Investment) โดยในระยะแรกให้ความสำคัญลำดับแรกกับพันธสัญญาด้านที่ 2 การสร้างรากฐานและปลูกฝังความสามารถด้านการคิดและการสร้างสรรค์ในระบบการศึกษาไทย และพันธสัญญาด้านที่ 3 การกระตุ้นทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ประชาชนและหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์
3) สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ “การสร้างสรรค์สินค้าและบริการใหม่ๆ ที่เกิดจากการผสมผสานสินทรัพย์ทางวัฒนธรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และเอกลักษณ์ความเป็นไทยเข้ากับองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อผลิตสินค้าและบริการที่มีลักษณะเฉพาะตัว มีการออกแบบและนวัตกรรมของตนเอง”
4) ความพร้อมของโครงการที่จะดำเนินการได้ในปี 2553 คณะกรรมการฯ ได้พิจารณากลั่นกรองโครงการตามหลักเกณฑ์ดังกล่าวแล้ว มีโครงการที่มีความเหมาะสมที่จะพิจารณาอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้กรอบวงเงินลงทุน 1,000 ล้านบาท โดยเป็นโครงการของหน่วยงานต่าง ๆ ดังนี้
- กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) : กรมทรัพย์สินทางปัญญา (ทป.) 9 โครงการ วงเงิน 745 ล้านบาท กรมส่งเสริมการส่งออก (สอ.) 2 โครงการ วงเงิน 70 ล้านบาท กรมพัฒนาธุรกิจการค้า (พค.) 1 โครงการ วงเงิน 30 ล้านบาท
- กระทรวงการคลัง (กค.) : สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง (สป.) 1 โครงการ วงเงิน 30 ล้านบาท
- กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) : มหาวิทยาลัยมหิดล 1 โครงการ วงเงิน 55 ล้านบาท มหาวิทยาลัยศิลปากร 1 โครงการ วงเงิน 50 ล้านบาท
- กระทรวงวัฒนธรรม : สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ 1 โครงการ วงเงิน 20 ล้านบาท
ที่ โครงการ หน่วยงาน วงเงิน (ล้านบาท) 1 โครงการต้นแบบของพสกนิกรไทย “ในหลวง” กับ “การสร้างสรรค์” ทป./พณ. 50 2 โครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมไทย ทป./พณ. 330 3 โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทป./พณ. 50 4 โครงการส่งเสริมและต่อยอดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทป./พณ. 60 5 โครงการเสริมสร้างความเข้าใจในเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทป./พณ. 90 6 โครงการ Thailand Northern Handicraft and สป./กค. 30 Financial Expo 2010 เปิดประตูสินค้าหัตถกรรม สู่เวทีโลก 7 โครงการสร้างภาพลักษณ์ใหม่สินค้าไทยสู่สากล ทป./พณ. 50 8 โครงการสัมมนาและประชุมเชิงปฏิบัติการเศรษฐกิจสร้างสรรค์ระดับประเทศ ทป./พณ. 20 9 โครงการส่งเสริมการเรียนรู้ด้านเศรษฐกิจสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ทป./พณ. 20 10 โครงการการพัฒนาศักยภาพดนตรีสู่ความเป็นเลิศ และพัฒนาศักยภาพเพื่อการแข่งขัน ม.มหิดล/ศธ. 55 11 โครงการ “ศิลปากรพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์” ม.ศิลปากร/ศธ. 50 12 โครงการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ใน ทป./พณ. 75 15 อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ 13 โครงการส่งเสริมศักยภาพผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสมุนไพรไทย สอ./ พณ. 20 เพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก 14 โครงการพัฒนาทักษะเชิงสร้างสรรค์และเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ สอ./ พณ. 50 ในกลุ่มอุตสาหกรรมไลฟ์สไตล์ (Lifestyle Product) 15 โครงการส่งเสริมพัฒนาเอกลักษณ์ธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทยสู่สากล พค./พณ. 30 16 โครงการจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมเพื่อสร้างรายได้สู่ประชาชน สถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์/วธ. 20 รวม 1,000
สำหรับแหล่งเงินทุนของโครงการเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ดังกล่าว คณะกรรมการฯ เห็นควรอนุมัติจากเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ในส่วนของเงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 ซึ่งตามหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดสรรเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 ที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 ต้องเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ดำเนินการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 รายละเอียดปรากฏตามหนังสือที่อ้างถึง 6 จึงขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการดังกล่าวข้างต้นและจัดสรรวงเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ให้สำนักงบประมาณเป็นผู้พิจารณาความเหมาะสมของรายละเอียด กิจกรรม และค่าใช้จ่ายของโครงการ โดยหน่วยงานที่ได้รับอนุมัติการดำเนินโครงการจะต้องส่งข้อมูลให้สำนักงบประมาณพิจารณาเพื่อขอจัดสรรเงิน ซึ่งรวมถึงแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553 ทั้งนี้ สำนักงบประมาณจะดำเนินการอนุมัติภายใน 15 วันทำการ และหลังจากได้รับอนุมัติแล้ว หน่วยงานจะต้องลงนามในสัญญาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วันทำการ
อนึ่ง คณะกรรมการฯ มีความเห็นเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการสร้างสรรค์ภาพยนตร์ประวัติศาสตร์และ วัฒนธรรมไทย กรมทรัพย์สินทางปัญญาควรพิจารณาในเรื่องการบริหารจัดการรายได้ที่จะเกิดขึ้น ความชัดเจนในการนำส่งรายได้เป็นรายได้แผ่นดิน เช่น รายได้จากการขายบัตรชมภาพยนตร์ รายได้จากลิขสิทธิ์ในภาพยนตร์ และรายได้จากการจำหน่ายสินค้าต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภาพยนตร์ เป็นต้น
2. การขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
2.1 ระเบียบที่เกี่ยวข้อง
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552
- หมวด 4 ข้อ 19 “...หากหน่วยงานเจ้าของโครงการประสงค์จะโอนหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการ ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเสนอคำขอดังกล่าวพร้อมเหตุผลความจำเป็นต่อสำนักงบประมาณ...”
2.2 การขออนุมัติปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายเงินของโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 และวันที่ 20 ตุลาคม 2552 อนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงิน 349,960.4382 ล้านบาท คณะกรรมการฯ รายงานว่า มีหน่วยงานดำเนินโครงการแจ้งขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการ สรุปสาระสำคัญของคำขอได้ ดังนี้
1) กรมทรัพยากรน้ำ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอปรับปรุงรายละเอียดโครงการให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความจำเป็น ได้แก่ โครงการอนุรักษ์ฟื้นฟูแหล่งน้ำ วงเงิน 687.932 ล้านบาท จากจำนวน 263 รายการ เป็น 326 รายการ ในวงเงินเดิม และโครงการปรับปรุงสิ่งก่อสร้างด้านแหล่งน้ำเพื่อการถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวนรายการและวงเงินเดิม
คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพื้นที่ดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นไปตามสภาพปัญหาของพื้นที่ ความจำเป็นเร่งด่วนของราษฎร โดยไม่ทำให้วัตถุประสงค์ของโครงการเปลี่ยนแปลงไป จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้แก้ไขตามที่ขออนุมัติได้
2) จังหวัดและกลุ่มจังหวัด
- ขอปรับกิจกรรมและงบประมาณของโครงการเพื่อความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพต่อการดำเนินงาน
- ขอแก้ไขรายการซ้ำซ้อนกับรายการที่หน่วยงานอื่นได้รับจัดสรรแล้ว โดยโครงการจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งมีรายการซ้ำซ้อน คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้นำโครงการลำดับที่ 2 ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและของกลุ่มจังหวัดปี 2553 มาดำเนินการแทน
- ขอเปลี่ยนแปลงรายละเอียดข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่าย
คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า โครงการจังหวัดและกลุ่มจังหวัดซึ่งมีรายการซ้ำซ้อน คณะกรรมการฯ เห็นชอบให้นำโครงการลำดับที่ 2 ตามแผนปฏิบัติราชการประจำปีของจังหวัดและของกลุ่มจังหวัดปี 2553 มาดำเนินการแทน สำหรับการปรับกิจกรรมและงบประมาณของโครงการเพื่อความเหมาะสมและเกิดประสิทธิภาพต่อการดำเนินงาน และเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการข้างต้นเป็นการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้องตามหลักการจำแนกประเภทรายจ่าย จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้แก้ไขตามที่ขออนุมัติได้
3) กระทรวงศึกษาธิการ
- มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ขอระบุสถานที่ดำเนินการให้ครบถ้วนถูกต้องตามข้อเท็จจริง
- มหาวิทยาลัยมหิดล ขอปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการ ใช้จ่ายเงินในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 — 2555 มาดำเนินโครงการในปี 2553
- สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ขอแก้ไขการพิมพ์ข้อความคลาดเคลื่อนให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง
คณะกรรมการฯ มีความเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการข้างต้นเป็นการแก้ไขข้อมูลที่คลาดเคลื่อนให้ถูกต้องตามความเป็นจริง และกรณีมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นการขอโอนวงเงินที่ได้รับจัดสรรในปี 2554-2555 มาใช้ในปี 2553 เพื่อให้การดำเนินโครงการเป็นไปตามความพร้อม โดยไม่ทำให้วัตถุประสงค์และเป้าหมายของโครงการตามที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ลดลงในสาระสำคัญ จึงเห็นควรนำเสนอคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้แก้ไขตามที่ขออนุมัติได้
3. ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เรื่อง การชำระดอกเบี้ยเงินกู้สำหรับโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/2552 ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติให้ ธ.ก.ส. จ่ายเงินค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่เกิดจากโครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/2552 จากงบประมาณค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการรับจำนำผลผลิตทางการเกษตรปีการผลิต 2551-2552 ซึ่งได้รับงบประมาณรายจ่ายปี 2553 จำนวน 3,523.08 ล้านบาท โดยให้จ่ายจากค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรที่ได้รับอนุมัติใช้เงินพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 จำนวน 1,706 ล้านบาทไปก่อน โดยคำนวณดอกเบี้ยจากเงินและระยะเวลาที่ใช้จ่ายจริง หากการใช้จ่ายดังกล่าวมีผลให้ค่าบริหารโครงการไม่เพียงพอ ให้เสนอขอตั้งงบประมาณปี 2554 ต่อไป นั้น
กระทรวงการคลังรายงานว่า ตามมาตรา 3 แห่งพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลัง กู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 กำหนดให้คณะรัฐมนตรีเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ต่อรัฐสภา เพื่อทราบก่อนเริ่มดำเนินการ ซึ่งกระทรวงการคลังได้นำเสนอกรอบดังกล่าวแล้ว โดยในวัตถุประสงค์ที่ 8 วัตถุประสงค์อื่นตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนดได้ระบุสาขาที่ 14 คือ “การประกันรายได้เกษตรกร” วงเงิน 40,000 ล้านบาท ดังนั้น หากนำวงเงินกู้ดังกล่าวไปใช้ชำระค่าดอกเบี้ยสำหรับ “โครงการรับจำนำผลิตผลการเกษตรปี 2551/2552” ตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้น จะเป็นการใช้จ่ายเงินกู้นอกเหนือจากกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ที่เสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบไปแล้ว ดังนั้น จึงเห็นว่าจะต้องเสนอกรอบการใช้จ่ายเงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 ต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อทบทวนและนำเสนอต่อรัฐสภาเพื่อทราบอีกครั้ง
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังมีความเห็นว่า หากสำนักงบประมาณไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวให้ ธ.ก.ส. ได้ เห็นควรให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการกู้เงินเพื่อนำมาชำระดอกเบี้ยดังกล่าวไปก่อน โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันและรัฐบาลเป็นผู้รับภาระ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลังร่วมกับ ธ.ก.ส. เป็นผู้พิจารณาแหล่งเงินกู้ วิธีการกู้เงิน เงื่อนไขและรายละเอียดต่างๆ ของการกู้เงินที่เหมาะสมและจำเป็น และให้สำนักงบประมาณจัดสรรงบประมาณเพื่อชำระดอกเบี้ย เงินต้นและค่าใช้จ่ายอื่นที่เกิดจากการกู้เงินดังกล่าวที่เกี่ยวข้องต่อไป
4. การกำหนดเวลาการขอรับจัดสรรเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2552 อนุมัติการจัดสรรเงินกู้ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 สำหรับเงินสำรองจ่ายตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 ข้อ 16 วงเงิน 8,500 ล้านบาท และมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติในการจัดสรรเงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555
โดยที่เงินสำรองจ่ายสำหรับโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 มีวัตถุประสงค์เพื่อการเตรียมวงเงินไว้ใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการบริหารโครงการตามความจำเป็นและเหมาะสม โดยอนุมัติคณะรัฐมนตรี ซึ่งรวมถึงการชดเชยค่างานก่อสร้างและกรณีเงินไม่เพียงพอ หากปัจจัยต่างๆ เปลี่ยนแปลง โดยอาจจะขอรับจัดสรรเมื่อดำเนินการก่อสร้างไปแล้ว คณะกรรมการฯ จึงมีความเห็นว่า ควรขยายระยะเวลาการให้หน่วยงานสามารถขอรับจัดสรรเงินเป็นภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2553
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--