คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้สรุปรายงานภาวะสังคมไตรมาสสี่และภาพรวมปี 2552 สรุปได้ดังนี้
ภาวะสังคมไทยไตรมาสสี่ และภาพรวมปี 2552
ชีวิตความเป็นอยู่ของคนมีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้นหลายประการ เนื่องจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาสสุดท้ายปี 2552 ได้เริ่มส่งผลต่อภาคสังคมของประเทศโดยที่คนมีงานทำมากขึ้นซึ่งจะทำให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น และปัญหาการว่างงานคลี่คลายลงเข้าสู่ภาวะปกติ การจ้างงานในไตรมาส 4/2552 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2551 ร้อยละ 1.8 อันเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการผลิตอุตสาหกรรม การก่อสร้าง และภาคบริการ โดยเฉพาะโรงแรมและภัตตาคาร มีการจ้างงานเพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 11.1 อัตราการว่างงานลดลงและอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ขณะเดียวกัน ผู้ประกันตนที่ขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานก็ลดลงเป็นลำดับจากระดับสูงสุด 250,557 คนในไตรมาส 1/2552 เป็น 123,708 คนในไตรมาส 4/2552 รวมทั้งปี มีการจ้างงานเฉลี่ย 37.7 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 1.8 และมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นระดับปกติ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าที่มีการใช้วัตถุดิบและภูมิปัญญาท้องถิ่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องเทศ และสมุนไพร เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์รักษาผิว ซึ่งเป็นกลุ่มสินค้าที่มีประโยชน์ตกกับชุมชนมากขึ้น จะช่วยในการสร้างงานสร้างรายได้ในท้องถิ่นได้ดีขึ้น และช่วยให้การพัฒนามีความยั่งยืน
แม้ในภาพรวมปัญหาการว่างงานจากผลกระทบวิกฤตเศรษฐกิจนับว่ากลับเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีประเด็นสำคัญที่ต้องเฝ้าระวัง คือ ตลาดแรงงานเข้าสู่ภาวะตึงตัว ทั้งการขาดแคลนแรงงานมีฝีมือเนื่องจากทักษะฝีมือและสาขาความเชี่ยวชาญของแรงงานไม่ตรงกับความต้องการของตลาด รวมทั้งแนวโน้มการขาดแคลนแรงงานในอนาคต (5 — 10 ปีข้างหน้า) เนื่องจากการเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้กำลังคนในวัยทำงาน (กลุ่มอายุ 25-39 ปี) มีสัดส่วนลดลง ขณะที่กลุ่มอายุ 45-59 ปี จะทยอยเกษียณอายุ และภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ที่มีการเคลื่อนย้ายคนอย่างเสรีมากขึ้นนั้นประเทศไทยจะเผชิญกับปัญหาการไหลออกของแรงงานมีฝีมือและกลุ่มวิชาชีพที่ขาดแคลนได้ง่าย จึงต้องมีระบบฐานข้อมูลที่ชัดเจนเพื่อการติดตามสถานการณ์แรงงานรายกลุ่มอย่างใกล้ชิด
ในด้านรายได้ค่าจ้างแรงงาน ในปี 2552.ค่าจ้างโดยเฉลี่ยค่อนข้างชะลอตัว เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา แต่ค่าครองชีพที่ลดลงทำให้กำลังซื้อที่แท้จริงของผู้มีงานทำเพิ่มขึ้น สำหรับในปี 2553 ภาวะการตึงตัวของตลาดแรงงานประกอบกับภาวะเงินเฟ้อจะเป็นแรงกดดันต่อการปรับค่าจ้างมากขึ้น ในปัจจุบันระบบการจ่ายค่าจ้างส่วนใหญ่ยังอิงกับระดับการศึกษามากกว่าทักษะหรือความสามารถเฉพาะในการทำงานซึ่งทำให้ผลตอบแทนแรงงานบางกลุ่มยังไม่สะท้อนถึงผลิตภาพแรงงานที่แท้จริง เมื่อพิจารณาแนวโน้มระยะยาวจากข้อมูลปี 2544 — 2552 พบว่าค่าจ้างแท้จริงโดยเฉลี่ยยังเพิ่มขึ้นน้อยมาก ดังนั้นจึงควรปรับใช้ระบบการจ่ายค่าจ้างตามสมรรถนะหรือความเชี่ยวชาญ (Competency pay) ที่อิงกับมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ ที่กำหนดขึ้นโดยกลุ่มอาชีพ/วิชาชีพนั้น เพื่อใช้เป็นกรอบ/แนวทางในการจัดทำหลักสูตรและการฝึกอบรมของสถาบันการศึกษาและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน ซึ่งจะทำให้สามารถพัฒนาสมรรถนะของแรงงานได้ตรงตามความต้องการของตลาด มีเส้นทางอาชีพที่ชัดเจน และสามารถกำหนดค่าจ้างที่เป็นธรรมตามระดับสมรรถนะ ซึ่งจะมีส่วนผลักดันให้มีการปรับปรุงผลิตภาพแรงงานและสนับสนุนให้มีการเพิ่มอัตราค่าจ้างขึ้นได้โดยไม่กดดันต่อต้นทุนการผลิตและค่าครองชีพประชาชน ทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้แรงงานมีการเรียนรู้ตลอดชีวิต ซึ่งในปี 2552 นับว่าเป็นจุดเปลี่ยนผ่านที่สำคัญในด้านการศึกษาที่จะช่วยสนับสนุนการปรับเพิ่มผลิตภาพแรงงานของประเทศ โดยรัฐได้สร้างโอกาสให้เด็กไทยทุกคนได้เรียนภายใต้โครงการสนับสนุนการจัดการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย 15 ปี
พฤติกรรมการบริโภคส่งผลเสียต่อสุขภาพคนไทยมากขึ้น แม้ว่าคนไทยเข้าถึงบริการสุขภาพมากขึ้น มีกระแสความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพและมีความรู้มากขึ้น แต่คนจำนวนไม่น้อยยังมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพและทำให้เกิดโรค เช่น การบริโภคอาหารจำพวกไขมัน แป้งและน้ำตาลสูง กินผักผลไม้น้อย และมีคนเพียงร้อยละ 34.7 ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ ขณะที่ปัญหาโรคอ้วนในกลุ่มเด็กเพิ่มขึ้น โดยเด็กระดับประถมศึกษาเกือบ 1 ใน 5 เป็นโรคอ้วน ซึ่งจะทำให้เกิดโรคตามมาอีกมากมายและจะกลายเป็นอุปสรรคต่อการสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพ ในขณะเดียวกันการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิต หัวใจ เบาหวาน หลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งนับเป็นโรคเรื้อรังที่มีภาระ/ค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาและการฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยที่สูง รวมทั้งส่งผลกระทบต่อผลิตภาพแรงงาน จึงต้องเร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจเพื่อลดพฤติกรรมเสี่ยง เสริมสร้างศักยภาพให้ อสม. เพื่อทำหน้าที่ป้องกันโรค ให้คำแนะนำด้านสุขภาพแก่คนในชุมชน และการส่งเสริมให้มีการตรวจร่างกายประจำปีซึ่งครอบคลุมถึงผู้อยู่ในระบบประกันสังคมด้วย รวมทั้งการเฝ้าระวังการระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ที่เกิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนเมษายน 2552 จนถึงปัจจุบัน และนำไปสู่มาตรการในการป้องกันต่อไป
การตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีมากเพิ่มขึ้นและเป็นปัญหาสังคมเร่งด่วน จากข้อมูลโรงพยาบาลสายใยรักแห่งครอบครัวจำนวน 864 แห่ง (ประมาณร้อยละ 80 ของโรงพยาบาลทั่วประเทศ) พบว่า อัตรามารดาอายุต่ำกว่า 20 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.3 ของมารดาที่คลอดบุตรในเดือนมกราคม 2552 เป็นร้อยละ 20.1 ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน ซึ่งเป็นการยืนยันอัตรามารดาอายุต่ำกว่า 20 ปีต่อประชากรสตรีในช่วงวัยเดียวกันสูงขึ้นจาก 31.1 ต่อประชากรพันคนในปี 2543 เป็น 50.1 ในปี 2551 ซึ่งสูงมากกว่าประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค และการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นมีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งท้องสูงกว่าผู้ใหญ่ แม่มีภาวะซึมเศร้า เครียด ปรับตัวไม่ได้ ในกรณีที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ ยิ่งนำไปสู่ปัญหาด้านสภาวะอารมณ์ ปัญหาเรื่องเรียน ภาวะการเงิน การทำแท้งหรือฆ่าตัวตาย การไม่ได้กลับไปเรียนทำให้ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้ ทารกถูกทอดทิ้งซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่นๆ ตามมา
ปัญหาวัยรุ่นตั้งครรภ์นั้นเกิดจากหลายสาเหตุ ทั้งการที่เด็กวัยรุ่นมีทัศนคติเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ระหว่างชายหญิงเป็นเรื่องธรรมดาจากการซึมซับผ่านสื่อต่าง ๆ ทำให้วัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การมีสภาพครอบครัวแตกแยก และการอยู่หอพัก นอกจากนั้นการดื่มสุรา/สารเสพติด และการใช้อินเทอร์เน็ตและเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ ในทางที่ไม่เหมาะสม หรือเพื่อการล่อลวงทางเพศ จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องกำหนดมาตรการเพื่อการเฝ้าระวัง มีการให้ความรู้และสร้างกลไกที่จะช่วยดูแลพฤติกรรมทางเพศให้มีทักษะชีวิตควบคู่กับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม รวมทั้งเปิดพื้นที่สร้างสรรค์ให้กับวัยรุ่นมากขึ้น
ปัญหายาเสพติดมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นรวมทั้งปัญหาการระบาดและค้ายาเสพติดในทัณฑ์สถาน ในรอบปี 2552 มีคดียาเสพติดถึง 236,008 คดี เพิ่มขึ้นจากปี 2551 ร้อยละ 16.3 ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาวะที่เศรษฐกิจซบเซา และปัญหายังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในปี 2553 เนื่องจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังไม่กระจายไปสู่คนกลุ่มต่าง ๆ อย่างทั่วถึง จึงจำเป็นต้องบูรณาการการทำงานตามยุทธศาสตร์ 5 รั้วป้องกันอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่องสม่ำเสมอ
คุณภาพชีวิตของคนได้รับผลกระทบเนื่องจากเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีมากขึ้น เหตุการณ์ที่นับว่ารุนแรงในช่วงไตรมาส 4/2552 ได้แก่ กรณีเพลิงไหม้สารเคมีบริเวณท่าเรือแหลมฉบัง และก๊าซรั่วในโรงงานในจังหวัดสระบุรีที่ทำให้มีผู้เสียชีวิต ทั้งนี้ การเกิดอุบัติภัยจากสารเคมีส่วนใหญ่เนื่องมาจากความประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ มีการลักลอบทิ้งสารเคมีเพื่อหลีกเลี่ยงค่าใช้จ่ายในการกำจัด และการขาดความพร้อมในการจัดการเมื่อเกิดอุบัติเหตุ นอกจากนี้ แหล่งน้ำเสื่อมโทรมมีจำนวนมากขึ้น ควรใช้มาตรการเก็บค่าปล่อยน้ำทิ้ง กำหนดให้โรงงานอุตสาหกรรมในฐานะผู้ก่อมลพิษเปิดเผยข้อมูลการใช้สารเคมีและปริมาณการปล่อยมลพิษให้ประชาชนทราบ และให้ประชาชนและชุมชนมี ส่วนร่วมในการตรวจสอบและเฝ้าระวังแหล่งกำเนิดมลพิษ
เรื่องเด่นประจำฉบับ “ก้าวต่อไปกับการขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคม”
ปี 2552 นับว่าเป็นปีเปลี่ยนผ่านที่สำคัญสำหรับประเทศไทยที่ได้รับสวัสดิการสังคม บริการทางสังคม และหลักประกันต่าง ๆ มากขึ้นตามสิทธิขั้นพื้นฐาน โดยเฉพาะหลักประกันด้านสุขภาพ และด้านการศึกษา มีความครอบคลุมในระดับสูง แต่สำหรับแรงงานนอกระบบนั้นยังไม่ครอบคลุมเท่าที่ควร ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขาดฐานข้อมูลสำหรับการบ่งชี้กลุ่มแรงงานนอกระบบ แต่ได้มีความพยายามในหลายแนวทาง โดยในขณะนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องอยู่ระหว่างการพิจารณาหลายฉบับ และในขณะเดียวกันก็ได้อาศัยกลไกของชุมชนในการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับคนเหล่านี้ ผ่านกองทุนสวัสดิการชุมชน ซึ่งขณะนี้รัฐมีนโยบายส่งเสริมการจัดสวัสดิการชุมชนโดยสนับสนุนสมทบงบประมาณให้แก่กองทุนที่เข้มแข็งมีเงินออมอยู่แล้ว จำนวน 3,154 กองทุน ในปีงบประมาณ 2553 และจะขยายเพิ่มอีก 2,000 กองทุนในปีงบประมาณ 2554 นอกจากนี้ มีการเสนอโครงการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ซึ่งเป็นการออมเพื่อวัยสูงอายุที่เปิดโอกาสให้แรงงานนอกระบบส่งเงินสมทบด้วยความสมัครใจ และรัฐจะสมทบในอัตราตามอายุของผู้ออม
การพัฒนางานคุ้มครองทางสังคมยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงคุณภาพเท่าที่ควร เนื่องจากขาดการขับเคลื่อนงานอย่างต่อเนื่อง ซ้ำซ้อน สภาพปัญหาที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ความซับซ้อนของปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ในขณะที่ความเสี่ยงทั้งจากภัยพิบัติและความผันผวนทางเศรษฐกิจมีมากขึ้น ดังนั้น การขับเคลื่อนการคุ้มครองทางสังคมนั้นต้องการความร่วมมือจากภาคีการพัฒนาทั้ง 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐนอกจากดำเนินการคุ้มครองทางสังคมอย่างต่อเนื่อง แล้วต้องเน้นการจัดทำระบบฐานข้อมูลประชากรของประเทศ ทั้งในระดับพื้นที่ จำแนกกลุ่มคนตามวัย อาชีพ เพศ และรายได้ เพื่อการจัดทำกลุ่มเป้าหมายในการให้ความคุ้มครองทางสังคมที่ชัดเจน และภาคชุมชนใช้ศักยภาพของตนเองและทุนทางสังคมมาใช้ในการจัดสวัสดิการและบริการให้กับคนในชุมชน รวมทั้งภาคเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดสวัสดิการสังคม เช่น ภาคธุรกิจโดยดำเนินการภายใต้นโยบายความรับผิดชอบทางสังคมของธุรกิจ (Corporate Social Responsibility: CSR) รวมทั้งการก้าวไปสู่ระดับการลงทุนเพื่อการผลิตเพื่อสังคม (Social enterprises)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--