ยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 12:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ สำหรับการดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำรายละเอียดข้อมูล ตลอดจนความพร้อมในการดำเนินงานประกอบการนำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรองและบริหารโครงการภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 เพื่อขอรับการจัดสรรเงินตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 (SP2) ตามขั้นตอนในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารโครงการตามแผนปฏิบัติการไทยเข้มแข็ง 2555 พ.ศ. 2552 และหากมีความจำเป็นเร่งด่วนต้องดำเนินการตามยุทธการดังกล่าวให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไปดำเนินการตามความเหมาะสมและจำเป็น สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 — 2557 ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดลำดับความสำคัญของแผนการดำเนินงานตามความจำเป็นเร่งด่วน โดยกำหนดพื้นที่ เป้าหมาย ผลลัพธ์ ผลผลิต กิจกรรมและตัวชี้วัดให้สอดคล้องกับยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติและประสานกับสำนักงบประมาณ เพื่อใช้ประกอบการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

ทั้งนี้ ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รับความเห็นของกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไปพิจารณาประกอบการดำเนินการด้วย และให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เร่งรัดการดำเนินการทำฝนเทียมในพื้นที่ที่ประสบภัยแล้งและมีภาวะวิกฤตด้านหมอกควันและฝุ่นละออง เช่น พื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ เป็นต้น โดยให้ประสานการดำเนินการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องโดยด่วน

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีจำนวนไม่เพียงพอจึงไม่สามารถนำมาดำเนินการตามมาตรการเร่งด่วนดังกล่าวได้ ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันพบว่า ทรัพยากรป่าไม้ของประเทศอยู่ในภาวะวิกฤต ถูกบุกรุกทำลายอย่างต่อเนื่องทำให้เกิดผลต่อระบบนิเวศทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมูลค่าอันไม่สามารถประเมินได้ ส่งผลกระทบให้เกิดการชะล้างพังทลายของดินและภัยพิบัติทางธรรมชาตินานัปการดังที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

2. ทส. ได้ดำเนินงานสำคัญด้านการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ดังนี้

2.1 จัดทำโครงการฟื้นฟูสภาพป่าเพื่อแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน

2.2 จัดทำโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศชายฝั่ง

2.3 จัดทำโครงการเร่งด่วนเพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ของประเทศ

2.4 จัดทำโครงการเทิดพระเกียรติเหลือง-ฟ้ามหามงคล จากวันแม่ถึงวันพ่อ

2.5 จัดทำโครงการพุทธอุทยานพระสงฆ์ร่วมอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2552

3. ทส. รับผิดชอบดูแลรักษาครอบคลุมพื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าไม้ถาวร กระจายอยู่ทั่วประเทศครอบคลุมพื้นที่ถึง 137 ล้านไร่ โดยมีข้อจำกัดในการดำเนินงานที่สำคัญ ได้แก่

(1) สภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงสลับซับซ้อน ยากแก่การเข้าถึง

(2) พื้นที่ป่ามีขอบเขตที่ไม่ชัดเจน และยังมีราษฎรอยู่อาศัยทำกินกระจายตัวอยู่ทั้งในพื้นที่ป่าและรอบบริเวณพื้นที่ป่าเป็นจำนวนมาก ซึ่งรัฐบาลได้เคยมีนโยบายในการแก้ไขปัญหาโดยการตรวจสอบสิทธิของที่ดินในพื้นที่ ป่าไม้ แต่ก็ดำเนินการไปได้ช้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องของอุปกรณ์ เครื่องมือ และเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินงาน ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการตรวจตราเฝ้าระวังของเจ้าหน้าที่ อาจไม่สามารถดูแลรักษาป่าได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ

(3) กำลังเจ้าหน้าที่ ยานพาหนะ อาวุธ อุปกรณ์สื่อสาร และเทคโนโลยีที่มีอยู่ในปัจจุบันมีไม่เพียงพอ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องใช้อากาศยานและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการปฏิบัติงาน เพื่อให้การดูแลรักษาป่าโดยเฉพาะการป้องกันและปราบปรามการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

(4) งบประมาณในแต่ละปีที่ ทส. ได้รับเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติงานด้านการอนุรักษ์และป้องกันรักษาป่านั้นมีจำนวนไม่เพียงพอ

4. จากข้อมูลสถานการณ์/สภาพปัญหาการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้และป่าชายเลน ตลอดจนข้อจำกัดในการดำเนินงานจะเห็นได้ว่า การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า การลับลอบล่า/ค้าสัตว์ป่า รวมถึงการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยและทำการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในที่ดินยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีแนวโน้มที่สถานการณ์จะรุนแรงมากขึ้นโดยเฉพาะในพื้นที่วิกฤต และยังรวมถึงพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั่วไปก็มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่า หากยังคงขาดแคลนอัตรากำลังเฝ้าระวังพื้นที่ ขาดแคลนยานพาหนะ อาวุธ เครื่องมือและอุปกรณ์สนับสนุนการปฏิบัติงาน ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาการบุกรุกทำลายป่าในพื้นที่วิกฤต ตลอดจนติดตามเฝ้าระวังไม่ให้มีการบุกรุกทำลายในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนแห่งชาติทั่วไป ทส. จึงขอเสนอ “ยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติ” ดังนี้

4.1 วัตถุประสงค์

4.1.1 เพื่อเฝ้าระวัง ติดตาม ตรวจสอบการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ในระดับพื้นที่อย่างเข้มงวดโดยการจัดตั้งศูนย์บัญชาการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติในส่วนกลาง และจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการยุทธการแก้ไขปัญหาวิกฤตป่าไม้ของชาติในพื้นที่วิกฤต และสนธิกำลังลาดตระเวนอย่างเข้มข้นทั้งทางภาคพื้นดิน ทางเรือ และทางอากาศ

4.1.2 เพื่อดำเนินการกับผู้กระทำความผิดกฎหมายป่าไม้ตามแนวทาง/ขอบเขตของกฎหมายโดยใช้มาตรการควบคุม ตรวจสอบ และเร่งรัดการดำเนินคดี

4.1.3 เพื่อดำเนินการควบคุมพื้นที่ที่ถูกบุกรุกทำลายไม่ให้ขยายพื้นที่เพิ่มเติมโดยการปลูกทดแทนทันทีเพื่อฟื้นฟูสภาพป่าให้กลับคืนความอุดมสมบูรณ์

4.1.4 เพื่อป้องกันการบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าโดยส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมโดยสร้างและขยายเครือข่าย/แนวร่วมการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ให้เพิ่มขึ้น และฝึกอบรมให้ความรู้ ตลอดจนประชาสัมพันธ์เผยแพร่เพื่อสร้างจิตสำนึกและความตระหนักในคุณค่าของการอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้

4.1.5 เพื่อพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่าโดยจัดหายานพาหนะ เครื่องมือและอุปกรณ์ในการปฏิบัติงาน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมทั้งการเพิ่มขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานป้องกันรักษาป่า เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

4.2 พื้นที่เป้าหมาย

4.2.1 พื้นที่ทั่วไป ประกอบด้วย พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน

4.2.2 พื้นที่วิกฤต ประกอบด้วย พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน ที่ประสบภาวะวิกฤตและล่อแหลมต่อการถูกบุกรุกทำลาย โดยมีเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่วิกฤตใน 2 ด้าน ดังนี้

4.2.2.1 ความสำคัญของพื้นที่ ประกอบด้วย พื้นที่ป่าต้นน้ำลำธาร พื้นที่อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ป่าสงวนแห่งชาติ และป่าชายเลน พื้นที่มรดกโลกทางธรรมชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง พื้นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าทั่วไปรวมถึงสัตว์ป่าหายาก พื้นที่ที่มีไม้เศรษฐกิจ และพื้นที่อันควรอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (7 เมษายน 2552)

4.2.2.2 สภาพปัญหาของพื้นที่ ประกอบด้วย การบุกรุกตัดไม้ทำลายป่าการลักลอบล่า/ค้าสัตว์ป่า และการบุกรุกแผ้วถางป่าเพื่อเปลี่ยนแปลงเป็นที่อยู่อาศัยและทำกิน ซึ่งกระทำการโดยราษฎรและนายทุน/ผู้มีอิทธิพล

โดยได้คัดเลือกพื้นที่เป้าหมายที่เป็นพื้นที่วิกฤต จำนวน 198 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ 30 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ตาก แพร่ กำแพงเพชร อุทัยธานี ชัยภูมิ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ อุบลราชธานี จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ตราด ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง สุราษฎร์ธานี กาญจนบุรี กระบี่ ตรัง พังงา ภูเก็ต พัทลุง สตูล และสงขลา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ