สรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 14:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปรายงานสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่ง ประจำเดือนเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานสรุปสถิติอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุแยกในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2552 สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2553 กับเดือนกุมภาพันธ์ 2553 และการวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมีนาคม 2553 ดังนี้

1. สถิติการเกิดอุบัติเหตุในภาคการขนส่งประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2553 โดยเปรียบเทียบ

สาขาการขนส่ง          อุบัติเหตุที่รับรายงาน (ครั้ง)            ผู้บาดเจ็บ (คน)                  ผู้เสียชีวิต (คน)
                  กพ.52   กพ.53    เปรียบเทียบ    กพ.52    กพ.53   เปรียบเทียบ   กพ.52    กพ.53   เปรียบเทียบ
ถนน                 931     476       -48.9%      687      433      -37.0%     109      121      +11.0%
จุดตัดรถไฟกับถนน        13      13            -       13       35     +169.2%       5        3      -40.0%
ทางน้ำ                 0       2            -        0        1           -       0        1           -
ทางอากาศ              0       4            -        0        0           -       0        0           -
รวม                 944     495       -47.6%      700      469      -33.0%     114      125       +9.6%

หมายเหตุ: ศูนย์ปลอดภัยคมนาคม กระทรวงคมนาคม และระบบ TRAMS ณ วันที่ 5 มีนาคม 2553 เวลา 13.30 น.

จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุจากภาคการขนส่งในความรับผิดชอบ เปรียบเทียบในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปี 2552 กับปี 2553 พบว่า ในภาพรวมของทุกสาขาการขนส่งมีจำนวนครั้งของสถิติการเกิดอุบัติเหตุลดลงเฉลี่ยร้อยละ 47.6 ซึ่งเป็นไปตามเป้าหมายที่ได้กำหนดไว้ต้องลดสถิติการเกิดอุบัติเหตุลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 แต่อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากความรุนแรงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางถนนยังคงสร้างความสูญเสียอย่างร้ายแรง ซึ่งจากสถิติข้างต้น อุบัติเหตุทางถนน เดือนกุมภาพันธ์ปี 2553 พบว่า เกิดขึ้นสูงถึงร้อยละ 96.2 เมื่อเทียบกับการขนส่งระบบอื่น มีผู้บาดเจ็บร้อยละ 92.3 และมีผู้เสียชีวิตร้อยละ 96.8 โดยการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มีจำนวนครั้งลดลง แต่มีความรุนแรงทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2552 โดยเส้นทางตรงยังคงเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด พฤติกรรมการขับขี่ที่ไม่เคารพกฎจราจรและไม่ปลอดภัย ได้แก่ การขับรถเร็วเกินอัตราที่กำหนด และการตัดหน้ากระชั้นชิด ยังคงเป็นมูลเหตุสันนิษฐานสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุ ทั้งนี้ มูลเหตุสันนิษฐานทั้ง 2 ประเด็นข้างต้นมีสถิติที่ลดลงร้อยละ 48.50 และร้อยละ 58.70 ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของ ปี 2552 นอกจากนี้ ประเภทรถที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุที่สำคัญ ได้แก่ รถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ รถจักรยานยนต์ และรถยนต์

2. สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนเปรียบเทียบระหว่างเดือนมกราคม 2553 กับเดือนกุมภาพันธ์ 2553

          ข้อมูลอุบัติเหตุ          ม.ค.          ก.พ.            รวม
                                                       (ม.ค.- ก.พ.53)
          อุบัติเหตุ (ครั้ง)       1,175          476            1,651
                                         (-59.5%)
          ผู้เสียชีวิต (ราย)        175          121              296
                                         (-30.9%)
          ผู้บาดเจ็บ (ราย)      1,276          433            1,709
                                         (-66.1%)

สถิติอุบัติเหตุการขนส่งทางถนนระหว่างเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ 2553 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,651 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 296 ราย และผู้บาดเจ็บ 1,709 ราย โดยในเดือนกุมภาพันธ์ทั้งจำนวนครั้งของการเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ ลดลงจากเดือนมกราคม

3. การวิเคราะห์แนวโน้มการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในเดือนมีนาคม 2553

          ข้อมูลอุบัติเหตุ          มี.ค. 53 (คาดการณ์)
          อุบัติเหตุ (ครั้ง)            490
          ผู้เสียชีวิต (ราย)           120
          ผู้บาดเจ็บ (ราย)           480

เมื่อนำข้อมูลอุบัติเหตุเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคม 2552 ประกอบกับข้อมูลเดือนกุมภาพันธ์ 2553 มาวิเคราะห์แนวโน้มและประมาณการแนวโน้มสำหรับเดือนมีนาคม 2553 จะสามารถประเมินการเกิดอุบัติเหตุได้ว่า “คาดว่าในเดือนมีนาคม 2553 จะมีจำนวนการเกิดอุบัติเหตุประมาณ 490 ครั้ง ผู้เสียชีวิตประมาณ 120 ราย และผู้บาดเจ็บประมาณ 480 ราย”

4. ข้อเสนอเพื่อการดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุการขนส่งทางถนน

จากผลการวิเคราะห์ข้างต้น กระทรวงคมนาคมจะได้ดำเนินการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนน ดังนี้

4.1 ปรับปรุงแก้ไขจุดอันตราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณทางตรงซึ่งยังคงเกิดอุบัติเหตุในสัดส่วนที่มากกว่าบริเวณอื่น

4.2 การเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายจราจรทางบก เช่น การควบคุมความเร็วของรถไม่ให้เกินอัตราที่กำหนด การกวดขันการใช้งานรถผิดประเภท เช่น การบรรทุกผู้โดยสารจำนวนมากท้ายรถปิคอัพบรรทุก 4 ล้อ เป็นความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุสูง จึงจำเป็นจะต้องเพิ่มความเข้มงวดทั้งการตั้งจุดตรวจระหว่างทาง และการห้ามใช้เส้นทางพิเศษ เป็นต้น

4.3 การตรวจสอบพฤติกรรมความพร้อมของผู้ขับขี่ไม่ให้เมาสุรา/ยาบ้า/ความอ่อนเพลีย เมื่อยล้า

4.4 รณรงค์ให้ผู้ขับขี่ตรวจสภาพความพร้อมของรถก่อนขับขี่ทุกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับขี่ทางไกล

4.5 การประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนใช้บริการศูนย์บริการทางหลวง สถานีบริการ เมื่อขับขี่เป็นระยะเวลานาน 3 — 4 ชั่วโมงแล้ว เพื่อป้องกันการง่วงอ่อนเพลียขณะขับขี่ ซึ่งอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ