สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 5

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 5 ณ วันที่ 8 มีนาคม 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 และการให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. ภัยแล้ง ช่วงภัย วันที่ 15 ธ.ค. 52 ถึง 28 ก.พ. 53 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มี.ค. 53) พื้นที่ประสบภัย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย แพร่ น่าน สุโขทัย กาญจนบุรี และตรัง แยกเป็น

ด้านพืช พื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย(3 อำเภอ) แพร่ (5 อำเภอ) น่าน (2 อำเภอ) สุโขทัย (1 อำเภอ) และกาญจนบุรี(1 อำเภอ) เกษตรกร 30,672 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 118,414 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว 3,431 ไร่ พืชไร่ 114,327 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 656 ไร่

การดำเนินการ จังหวัดแพร่และสุโขทัย ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำเข้าพื้นที่ ยังไม่มีพื้นที่เสียหาย จังหวัดเชียงราย สำรวจเสร็จและผ่าน ก.ช.ภ.อ.แล้ว 2 อำเภอ อยู่ระหว่างสำรวจ 1 อำเภอ จังหวัดน่าน สำรวจเสร็จและผ่าน ก.ช.ภ.อ.แล้ว 1 อำเภอ อยู่ระหว่างสำรวจ 1 อำเภอ จังหวัดกาญจนบุรี อยู่ระหว่างสำรวจความเสียหาย

ด้านปศุสัตว์ พื้นที่ประสบภัย 1 จังหวัด คือ จังหวัดตรัง สัตว์ที่ได้รับผลกระทบ คือ โค จำนวน 2,062 ตัว

การดำเนินการ สนับสนุนพืชอาหารสัตว์ จำนวน 71.8 ตัน

2. ศัตรูพืช โรคพืช ระบาด

2.1 เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553 อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 1,240 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามโครงการช่วยเหลือเกษตรกรแก้ไขปัญหาโดยการตัดวงจรเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล โรคเขียวเตี้ย และโรคใบหงิก

การดำเนินการ ได้ประชาสัมพันธ์โครงการผ่านกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และตามหอกระจายข่าว รวมทั้งได้แต่งตั้งคณะกรรมการประชาคมระดับหมู่บ้านเรียบร้อยแล้ว ณ วันที่ 8 มีนาคม 2553 มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 1,036 ราย พื้นที่ 21,710 ไร่ ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก 45 ราย พื้นที่ 698 ไร่ พิจิตร 133 ราย พื้นที่ 2,653 ไร่ กำแพงเพชร 700 ราย พื้นที่ 16,585 ไร่ ชัยนาท 6 ราย พื้นที่ 113 ไร่ อ่างทอง 92 ราย พื้นที่ 1,136 ไร่ ปทุมธานี 60 ราย พื้นที่ 525 ไร่ ส่วนจังหวัดลพบุรี อุทัยธานี ยังไม่มีเกษตรกรสมัครเข้าร่วมโครงการ

2.2 เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 อนุมัติงบประมาณ วงเงิน 65.66 ล้านบาท เพื่อดำเนินโครงการการจัดการเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง

การดำเนินการ จัดรณรงค์ป้องกันกำจัดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการพร้อมแจกสารเคมีสำหรับแช่ท่อนพันธุ์และฉีดพ่นป้องกันเพลี้ยแป้งมันสำหลัง การถ่ายทอดความรู้และประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำอย่างต่อเนื่อง การจัดตั้งศูนย์จัดการศัตรูพืชชุมชน จำนวน 413 ศูนย์ โดยจัดทำแปลงสำรวจติดตามสถานการณ์ และผลิตขยายปริมาณศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส สำหรับใช้ควบคุมปริมาณเพลี้ยแป้งในระยะยาว ให้สามารถปล่อยไปในแปลงปลูกได้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2553 จากการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ส่งผลให้พื้นที่การระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังลดลง จำนวน 216,962 ไร่ เหลือพื้นที่ที่ยังคงมีการระบาด จำนวน 383,038 ไร่

อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่นอกโครงการ พบการระบาดประมาณ 475,055 ไร่ เนื่องจากเกษตรกรที่ปลูกมันสำปะหลังใหม่ในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2552 ถึง มกราคม 2553 ไม่ได้แช่ท่อนพันธุ์ด้วยสารเคมีตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ประกอบกับสภาพอากาศร้อนและแห้งแล้งซึ่งเหมาะสำหรับการขยายพันธุ์ของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และแพร่กระจายไปพื้นที่อื่นโดยลมซึ่งเป็นปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร ประสานกับชุมชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการควบคุมการเคลื่อนย้ายท่อนพันธุ์ และขอความร่วมมือจากลานมัน โรงแป้ง และสมาคมผู้ค้าสารเคมี ในการสนับสนุนสารเคมีแก่เกษตรกรต่อไป

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 8 มีนาคม 2553

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศ (8 มีนาคม 2553) มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งหมด 46,026 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 63 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งหมด (ปริมาณน้ำใช้การได้ 22,181 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (49,807 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 68) จำนวน 3,781 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 5 ของความจุอ่างฯ

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่สะสมในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 8 มี.ค. 53 จำนวน 4,994 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณระบายสะสมในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.52 ถึง 8 มี.ค. 53 จำนวน 15,034 ล้านลูกบาศก์เมตร

                                                                                        หน่วย : ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ       ปริมาตรน้ำในอ่างฯ     ปริมาตรน้ำใช้การได้       ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ            ปริมาณน้ำระบาย
               ปริมาตร   %ความจุ   ปริมาตร    %ความจุ     วันนี้   เมื่อวาน     สะสม      วันนี้   เมื่อวาน       สะสม
                   น้ำ     อ่างฯ       น้ำ      อ่างฯ                    1 พ.ย.                       1 พ.ย.
                                                                         52                           52
ภูมิพล            6,260       46    2,460        18    1.32     1.54      546    30.00    35.00      3,401
สิริกิติ์            4,265       45    1,415        15    2.79     3.89      620    18.98    20.12      2,288
ภูมิพล+สิริกิติ์      10,525       46    3,875        17    4.11     5.43    1,167    48.98    55.12      5,689
ป่าสักชลสิทธิ์         437       46      434        45    1.30     1.32      212     5.20     5.22        609

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 1 อ่าง คือ ศรีนครินทร์(85)

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 2 อ่าง ได้แก่ แม่กวง (20) และทับเสลา (18)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 89.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 50 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 75 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 42 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 408.7 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 78 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 380 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 73 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ แม่น้ำท่าตะเภา แม่น้ำตาปี แม่น้ำโก-ลก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย

3. คุณภาพน้ำ (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ.53)

กรมชลประทาน ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำ แม่กลอง ดังนี้

แม่น้ำ        จุดเฝ้าระวัง                            ค่า DO(mg/l)   ค่า Sal (g/l)    เกณฑ์
เจ้าพระยา    ท่าน้ำจังหวัดนนทบุรี                          0.98          0.21         ค่า DO ต่ำกว่าเกณฑ์
ท่าจีน        ที่ว่าการอำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม          2.16          0.18         ปกติ
แม่กลอง      ปากคลองดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี            4.03          0.05         ปกติ
หมายเหตุ ค่า Do หมายถึง ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ ไม่ต่ำกว่า 2 มิลลิกรัม/ลิตร

ค่า Sal หมายถึง ค่าความเค็มของน้ำ สำหรับการเกษตรไม่เกิน 2 กรัม/ลิตร

การจัดสรรน้ำและการปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2552/2553

แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2552/2553 (วันที่ 1 พ.ย.52-30 เม.ย. 53) จำนวน 20,720 ล้าน ลบ.ม. (เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,836 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,539 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,176 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 169 ล้าน ลบ.ม.) โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 600 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.)

ผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52 ถึง 8 มี.ค.53 จัดสรรน้ำไปแล้ว 15,254 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 74 ของแผนการจัดสรรน้ำ

คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 2552/2553 จำนวน 12.28 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 7.50 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.78 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) และมีแผนการจัดสรรน้ำให้พืชอื่นๆ เช่น ไม้ยืนต้น อ้อย บ่อปลา บ่อกุ้ง จำนวน 3.64 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน)

ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 5 มี.ค. 53 พื้นที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น จำนวน 15.27 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 124 ของพื้นที่คาดการณ์ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 12.68 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 133 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 8.03 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 4.65 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.59 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 93 ของพื้นที่คาดการณ์ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.57 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.02 ล้านไร่)

พืชอื่นๆ จำนวน 3.84 ล้านไร่

การให้ความช่วยเหลือ

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 669 เครื่อง ในพื้นที่ 39 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 15 จังหวัด จำนวน 231 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (37 เครื่อง) ลำพูน (10 เครื่อง) แม่ฮ่องสอน (18 เครื่อง) ลำปาง (27 เครื่อง) น่าน (9 เครื่อง) พะเยา (3 เครื่อง) เชียงราย (6 เครื่อง) พิษณุโลก (8 เครื่อง) พิจิตร (16 เครื่อง) นครสวรรค์ (18 เครื่อง) อุตรดิตถ์ (4 เครื่อง)ตาก (16 เครื่อง) สุโขทัย (16 เครื่อง) แพร่ (33 เครื่อง) และกำแพงเพชร (10 เครื่อง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 245 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี (8 เครื่อง) หนองคาย (17 เครื่อง) หนองบัวลำภู (7 เครื่อง) เลย (6 เครื่อง) สกลนคร (14 เครื่อง) ขอนแก่น (15 เครื่อง) มหาสารคาม (26 เครื่อง) ร้อยเอ็ด (84 เครื่อง) กาฬสินธุ์ (58 เครื่อง) และชัยภูมิ (10 เครื่อง)

ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 11 จังหวัด จำนวน 160 เครื่อง ได้แก่ จังหวัด นครนายก (12 เครื่อง) ปราจีนบุรี (29 เครื่อง) ฉะเชิงเทรา (22 เครื่อง) จันทบุรี (5 เครื่อง) ตราด (1 เครื่อง) เพชรบูรณ์ (6 เครื่อง) ชัยนาท (41 เครื่อง) ลพบุรี (25 เครื่อง) สระบุรี (3 เครื่อง) พระนครศรีอยุธยา(9 เครื่อง) และอ่างทอง (7 เครื่อง)

                ภาคใต้ 3 จังหวัด จำนวน 33 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช (30 เครื่อง) กระบี่ (1 เครื่อง) พังงา          (2 เครื่อง)

2. สนับสนุนรถบรรทุกน้ำ จำนวน 8 คัน ในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดฉะเชิงเทรา (1 คัน) จันทบุรี (7 คัน)

3. การปฏิบัติการฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคกลาง (นครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น นครราชสีมา) ภาคตะวันออก(ระยอง) และภาคใต้(อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์) โดยเริ่มตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง ประจำปี 2553 ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2553 เป็นต้นมา เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง และเพิ่มความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าไม้ ซึ่งขณะนี้ได้จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงแล้ว จำนวน 4 ศูนย์ (6 หน่วยปฏิบัติการ) ได้แก่

1) ศูนย์ฯ ภาคกลาง (หน่วยฯ จังหวัดนครสวรรค์)

2) ศูนย์ฯ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (หน่วยฯ จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุบลราชธานี)

3) ศูนย์ฯ ภาคตะวันออก (หน่วยฯจังหวัดระยอง และจังหวัดจันทบุรี)

4) ศูนย์ฯ ภาคใต้ (หน่วยฯหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์)

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำสัปดาห์ วันที่ 26 กุมภาพันธ์ — 4 มีนาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 3 วัน 20 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 2 จังหวัด ได้แก่ สระแก้ว และประจวบคีรีขันธ์ วัดปริมาณน้ำฝนได้ 4.0 — 30.3 มิลลิเมตร

ผลการปฏิบัติการฝนหลวงสะสม วันที่ 25 มกราคม — 4 มีนาคม 2553 ขึ้นปฏิบัติการ จำนวน 11 วัน 62 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ ระยอง จันทบุรี ชลบุรี สระแก้ว ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี วัดปริมาณน้ำฝนได้ 0.1 — 30.3 มิลลิเมตร

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ