การให้ความช่วยเหลือทางการเงิน แก่ สปป.ลาว สำหรับโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 3 (R3)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 15:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังโดยสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) ดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป. ลาว) สำหรับโครงการปรับปรุงถนนหมายเลข 3 (R3) สปป. ลาว ในวงเงิน 405 ล้านบาท โดยให้ สพพ. กู้เงินจากธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) และธนาคารออมสิน โดยมีเงื่อนไขการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดทำสัญญาและสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อไป ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว เพิ่มเติม กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นด้วยกับข้อเสนอของ สพพ. โดยดำเนินการ ดังนี้

1. จัดหาเงินกู้จาก ธสน. จำนวน 200 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขทางการเงินดังนี้

1.1 สพพ. ใช้เงินสะสมของ สพพ. ที่ไม่มีภาระผูกพันจำนวน 200 ล้านบาท ค้ำประกันเงินกู้ทั้งจำนวน โดย สพพ. จ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ให้ ธสน. ในอัตราร้อยละ 0.50 ต่อปี

1.2 ในกรณีที่ สพพ. ไม่สามารถนำเงินฝากค้ำประกันได้ทั้งจำนวน ธสน. จะคิดดอกเบี้ยเงินกู้เฉพาะวงเงินที่ไม่ได้ค้ำประกัน โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน เฉลี่ยของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 1 ต่อปี) บวกส่วนต่างร้อยละ 1.75 ต่อปี

2. จัดหาเงินกู้จากธนาคารออมสิน จำนวน 205 ล้านบาท โดยมีเงื่อนไขทางการเงิน เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว โดยใช้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือนเฉลี่ยของ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ บวกส่วนต่างอีกร้อยละ 1.65 ต่อปี

ภาระดอกเบี้ยที่ สพพ. ต้องจ่ายให้แก่ ธสน. และธนาคารออมสินในช่วง 10 ปีแรก คิดเป็นเงินประมาณ 86 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 8.6 ล้านบาท แบ่งเป็นดอกเบี้ยจ่ายให้ ธสน. จำนวน 10 ล้านบาท และธนาคารออมสิน จำนวน 76 ล้านบาท ทั้งนี้ หาก สปป. ลาว ผิดนัดชำระหนี้ และ สพพ. ไม่สามารถชำระหนี้ดังกล่าวให้ ธสน. และธนาคารออมสินให้รัฐบาลจัดสรรเงินงบประมาณให้ สพพ. ตามจำนวนเงินที่ผิดนัดชำระหนี้เพื่อชำระคืนให้แก่ธนาคารทั้งสองแห่งไปก่อน และเมื่อ สพพ. เรียกเก็บหนี้ดังกล่าวได้ ก็ให้นำเงินส่งคืนคลังต่อไป

3. สพพ. นำเงินกู้จาก ธสน. และธนาคารออมสิน (ข้อ 1. และ 2.) ไปให้กู้ต่อแก่ สปป. ลาว ในรูปของเงินกู้ที่มีลักษณะเงื่อนไขผ่อนปรน คือ อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.5 ต่อปี และระยะเวลาการชำระหนี้คืนต้นเงินนาน 30 ปี (รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 10 ปี) คิดเป็นดอกเบี้ยรับจาก สปป. ลาว ในช่วง 10 ปีแรก เป็นเงินประมาณ 60.75 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 6.075 ล้านบาท

4. สพพ. บริหารเงินกู้จาก ธสน. และธนาคารออมสิน รวมถึงเงินให้กู้แก่ สปป. ลาว โดย สพพ. จะนำดอกเบี้ยรับที่ได้จากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินของโครงการอื่นและรายได้จากการบริหารเงินสะสมของ สพพ. ซึ่งจัดเก็บได้ประมาณปีละ 70 ล้านบาท รวมไปถึงดอกเบี้ยที่ สพพ. จะได้รับในอัตราร้อยละ 1 ต่อปี จากการดำเนินธุรกรรมกับ ธสน. (ข้อ 1.1) (สพพ. ได้รับชำระดอกเบี้ยจาก สปป. ลาว ในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี แต่ชำระดอกเบี้ยให้ ธสน. ในอัตราร้อยละ 0.5 ต่อปี) คิดเป็นเงินจำนวน 2 ล้านบาทต่อปี ไปจ่ายเป็นค่าชดเชยส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยที่ สพพ. กู้จาก ธสน. และธนาคารออมสิน ซึ่งในช่วง 10 ปีแรก สพพ. จะมีภาระชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยดังกล่าวประมาณ 25.25 ล้านบาท หรือเฉลี่ยปีละ 2.525 ล้านบาท

ทั้งนี้ วิธีดำเนินงานตามแนวทางที่กล่าว สพพ. สามารถดำเนินโครงการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้าน และรับภาระค่าใช้จ่ายชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เกิดขึ้นได้ทั้งหมด โดยไม่เป็นภาระต่อเงินงบประมาณแผ่นดิน

โดยที่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว สำหรับโครงการซ่อมแซมถนน R3 ดังกล่าวไม่เป็นภาระทางการเงินแก่งบประมาณแผ่นดิน และ สพพ. สามารถรับภาระดอกเบี้ยที่เกิดจากการให้ความช่วยเหลือทางการเงินดังกล่าวได้ ประกอบกับวิธีการที่ สพพ. เสนอมาเป็นการเพิ่มศักยภาพการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้านโดยใช้แหล่งเงินทุนอื่นนอกเหนือจากการใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน นอกจากนี้ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากโครงการดังกล่าว ดังนั้น กระทรวงการคลังจึงเห็นชอบในหลักการการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพิ่มเติมแก่ สปป. ลาว เพื่อซ่อมแซมถนน R3 และจ่ายเป็นค่า Price Adjustment ค่าวัสดุก่อสร้างรวมเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 405 ล้านบาท โดย สพพ. กู้เงินจาก ธสน. และธนาคารออมสิน รวมถึงดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ สปป. ลาว โดยมีเงื่อนไข (ข้อ 1 - 4) เป็นหลักเกณฑ์เบื้องต้นในการจัดทำสัญญากู้เงินและสัญญาการให้ความช่วยเหลือทางการเงินต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ