ขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมและแต่งตั้งคณะกรรมการในการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 10, 2010 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ดังนี้

1. ให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 (1st MRC Summit) ร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2553 (ระยะเวลา 4 วัน) ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

2. แต่งตั้งคณะกรรมการด้านความมั่นคงและรักษาความปลอดภัยผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง โดยมีรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นรองประธานกรรมการ และมีปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเลขานุการ

3. ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น จำนวน 103,568,360 บาท

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) รายงานว่า

1. ประเทศไทยได้ลงนามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 (Agreement on the Cooperation for the Sustainable Development of the Mekong River Basin : 1995 Mekong Agreement) ร่วมกับรัฐบาลในลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2538 ณ จังหวัดเชียงราย ประเทศไทย และได้ก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นองค์กรภาครัฐ (Intergovernmental Organization) ประกอบด้วยคณะมนตรี คณะกรรมการร่วม และสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat : MRCS) ประสานความร่วมมือเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉันท์มิตรระหว่างประเทศภาคีสมาชิก โดยมีสาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพพม่า เป็นประเทศคู่เจรจา และมีสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงเป็นองค์กรให้การสนับสนุนเครื่องมือด้านวิชาการและองค์ความรู้แก่ประเทศภาคีสมาชิก เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจในการพัฒนาประเทศ โดยปี 2553 จะเป็นวาระครบรอบ 15 ปี แห่งการก่อตั้งคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ดังนั้นคณะมนตรี คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 16 เมื่อวันที่ 26-28 พฤศจิกายน 2552 ณ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ให้จัดประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 โดยมีวัตถุประสงค์ คือ

1.1 เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ในการดำเนินการตามความตกลงว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน พ.ศ. 2538 และสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาค

1.2 เพื่อเพิ่มความร่วมมือกับประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบน ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน และสหภาพพม่า

1.3 เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) และกรอบความร่วมมืออื่น ๆในภูมิภาค รวมทั้งสร้างความเชื่อมั่นให้กับหุ้นส่วนการพัฒนาต่อแนวความร่วมมือของ MRC

1.4 เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความรู้ ประเด็นที่สำคัญในการบริหารจัดการลุ่มน้ำระหว่างลุ่มน้ำนานาชาติ

โดยประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ร่วมกับ MRCS ในระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2553 ในประเทศไทย

2. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 เป็นเวทีที่สำคัญระดับภูมิภาคอีกเวทีหนึ่งของประเทศภาคีสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง นอกจากสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) และโครงการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (Greater Mekong Subregion : GMS) แล้วกรอบความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างอย่างยั่งยืนจะเป็นเวทีที่ให้ผู้นำประเทศได้มีการพบปะหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในด้านความร่วมมือการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ บุคลากรและทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน ท่ามกลางวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก ในขณะที่ประเทศในลุ่มน้ำโขงแต่ละประเทศพยายามแสวงหาศักยภาพในการใช้ทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจประเทศของตนนั้นอีกนัยหนึ่งก็เป็นการ ส่งสัญญาณเรื่องผลกระทบข้ามพรมแดน (Transboundary Impact) ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาทั้งจากประเทศเหนือน้ำและประเทศท้ายน้ำ ดังนั้นการจัดประชุมครั้งนี้จึงเป็นเวทีที่ให้ผู้นำประเทศในลุ่มน้ำโขงได้สร้างความเข้าใจระหว่างกัน และแสดงจุดยืนร่วมกันในการที่จะร่วมมือกันพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืนให้บรรลุความสำเร็จโดยใช้หลักการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบองค์รวม (Integrated Water Resources Management) เพื่อจักได้มีการแบ่งปันผลประโยชน์ซึ่งกันและกันฉันท์มิตร รวมทั้งคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและความสมบูรณ์ทางวัฒนธรรมให้มีความเป็นเอกลักษณ์ของภูมิภาคและยั่งยืนตลอดไปตามความตกลงของประชาชาติในการประชุม “Johannesburg World Summit On Sustainable Development” เมื่อปี พ.ศ.2545 และนับเป็นโอกาสอันดีที่จะพิจารณาประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เสนอเป็นวาระของภูมิภาค (Regional Agenda) พร้อมกับการฉลองความสำเร็จของการดำเนินการตามความตกลงความร่วมมือฯ ปี 2538 (1995 Mekong Agreement)

3. การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 (The First MRC Summit) ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 การประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference) ระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2553 เป็นการเสนอผลงานทางวิชาการจากผู้แทนองค์กรลุ่มน้ำนานาชาติจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก ได้แก่ เอเชีย แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ผู้แทนองค์กรเอกชน ภาคประชาชน และผู้แทนลุ่มน้ำภายในประเทศ ตลอดจนสื่อมวลชนรวมประมาณ 150-200 คน สาระสำคัญของการประชุมวิชาการที่มีลำดับความสำคัญในอาเซียนและเวทีนานาชาติได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตพลังงานในลุ่มน้ำข้ามพรมแดน (Towards sustainable food and energy production in transboundary basins) การปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Adapting to impacts of Climate Change) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนของภาคเอกชน (Towards sustainable private sector infrastructure development) และความท้าทายขององค์กรลุ่มมน้ำข้ามพรมแดนท่ามกลางวิถีการเปลี่ยนแปลงของโลก (Challenges for Transboundary RBOs in the changing world) เป็นต้น ทั้งนี้ผลสรุปที่ได้จากการประชุมวิชาการดังกล่าวจะนำมาประกอบการกำหนดทิศทางความร่วมมือของการพัฒนาทรัพยากรน้ำในอนาคตของประเทศลุ่มน้ำโขงต่อไป

ส่วนที่ 2 การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายนร 2553 เป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศภาคีสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ และผู้นำประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า และผู้แทนระดับสูงของประเทศหุ้นส่วนการพัฒนา (Development Partners) เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันในการพัฒนาลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน และมีการพิจารณาจัดทำปฏิญญาร่วมกัน (Declaration of MRC Summit)

4. ในการประชุมสุดยอดผู้นำของประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 จะมีผู้นำประเทศจากลุ่มน้ำโขง 4 ประเทศ และผู้แทนระดับสูงของรัฐบาลทั้งประเทศคู่เจรจาและประเทศผู้ให้การสนับสนุนแก่ MRC เข้าร่วมประชุม ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยแก่ผู้นำและผู้แทนรัฐบาลต่าง ๆ ที่เข้าร่วมประชุมถือเป็นเรื่องสำคัญสูงสุดและจำเป็นต้องมีงบประมาณจากรัฐบาลไทยสมทบร่วมกับงบประมาณของสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในการจัดประชุมดังกล่าว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ