ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 24, 2010 13:14 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีสมัครไปปฏิบัติงานใดๆ

ตามความประสงค์ของทางราชการ พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีสมัครไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน ก.พ. เสนอ

ข้อเท็จจริง

สำนักงาน ก.พ.เสนอว่า

1. มาตรา 110 (2) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ.2551 บัญญัติให้ผู้บังคับบัญชาซึ่งสั่งบรรจุบุคคลเข้ารับราชการพลเรือนสามัญ และแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตามมาตรา 57 มีอำนาจสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการเพื่อรับบำเหน็จบำนาญเหตุทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้ เมื่อข้าราชการพลเรือนสามัญผู้ใดสมัครไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ โดยการสั่งให้ออกจากราชการตามกรณีดังกล่าวให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎ ก.พ.

2. ในคราวประชุม ก.พ. เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ได้มีมติเห็นชอบกับร่างกฎ ก.พ. ว่าด้วยการสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญออกจากราชการกรณีสมัครไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการ พ.ศ. .... ทั้งนี้ ร่างกฎ ก.พ. ดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาจาก อ.ก.พ.วิสามัญเกี่ยวกับกฎหมายและระเบียบข้าราชการด้วยแล้ว

สาระสำคัญของร่างกฎ ก.พ.

1. กำหนดหน่วยงานที่จะสั่งให้ข้าราชการพลเรือนสามัญไปปฏิบัติงานใด ๆ ตามความประสงค์ของทางราชการต้องเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งใหม่เป็นเวลาไม่เกินห้าปี และเป็นการไปปฏิบัติงานในหน่วยงานลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ (1) รัฐวิสาหกิจ (2) องค์การมหาชน (3) หน่วยบริการรูปแบบพิเศษ (4) หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ (5) หน่วยงานของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี (6) หน่วยงานอื่นตามที่ ก.พ.กำหนด (ร่างข้อ 2)

2. กำหนดกรณีการไปปฏิบัติงานตามความประสงค์ของทางราชการตามกฎ ก.พ.นี้ หมายถึง การไปปฏิบัติงานตามความประสงค์ร่วมกันของหน่วยงานต้นสังกัดและหน่วยงานตามข้อ 1 และต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการ โดยอาจเป็นไปเพื่อประโยชน์ของหน่วยงานต้นสังกัด หน่วยงานตามข้อ 1 หรือเป็นไปเพื่อประโยชน์ของทางราชการโดยรวมก็ได้ (ร่างข้อ 3)

3. กำหนดให้ข้าราชการพลเรือนสามัญซึ่งถูกสั่งให้ออกไปปฏิบัติงานใด ๆ จะต้องแสดงความสมัครใจเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังนี้ คือ มีอายุน้อยกว่าห้าสิบปี มีอายุราชการไม่น้อยกว่าห้าปี และไม่อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัยหรืออยู่ระหว่างชดใช้ทุน และหากในกรณีที่มีเหตุผลความจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ ก.พ.จะพิจารณายกเว้นคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามให้เป็นการเฉพาะรายก็ได้ (ร่างข้อ 4)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ