เรื่อง ขอรับการสนับสนุนงบประมาณโครงการการดำเนินงานต่อเนื่องของศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิต
ประจำโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ปีงบประมาณ 2554-2558
คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ต่อเนื่อง โดยให้ดำเนินการในช่วงในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2556 (ระยะเวลา 3 ปี) สำหรับงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการบริหารงานของศูนย์ฯ ค่าจัดจ้างพนักงานราชการ 74 อัตรา และค่าตอบแทนพิเศษรายเดือน และเงินค่าตอบแทนสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษสำหรับพนักงานราชการ (ค.ต.ส.) นั้น สำนักงบประมาณได้เสนอขอจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รองรับไว้แล้ว และในปีต่อ ๆ ไป เห็นควรให้สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุขและกรมสุขภาพจิตขอรับการจัดสรรงบประมาณปกติตามความเหมาะสมและความจำเป็นเป็นรายปี ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ
ข้อเท็จจริง
คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2550 อนุมัติในหลักการโครงการจัดตั้งศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้และบรรจุพนักงานราชการตำแหน่งนักจิตวิทยาประจำศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตครอบคลุมพื้นที่ทั้งในโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชนใน 3 จังหวัด และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา ประกอบด้วย จังหวัดยะลา 7 แห่ง จังหวัดปัตตานี 13 แห่ง จังหวัดนราธิวาส 12 แห่ง และจังหวัดสงขลา 5 แห่ง ระยะเวลาดำเนินการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2550 -2553 งบประมาณดำเนินการ 34,222,720 บาท โดยกำหนดเกณฑ์การคัดเลือกจากบุคลากรที่สำเร็จการศึกษาจากสาขาจิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาแนะแนว/ปรึกษา รวมจำนวน 74 อัตรา โดยมีการดำเนินงานและพัฒนาระบบงานด้านสุขภาพจิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา เพื่อสามารถให้บริการแก่ผู้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบและประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้และ 5 อำเภอในจังหวัดสงขลา
อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้ได้รับผลกระทบในพื้นที่มีจำนวนมากขึ้นในทุกระดับอายุ และมีปัญหาสุขภาพจิตที่ยุ่งยากซับซ้อนตามมามากขึ้นเช่นเดียวกัน จากการรายงานสถานการณ์การเฝ้าระวังการบาดเจ็บจากความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ (Violence-related Injury Surveillance - VIS) ตั้งแต่เดือนมกราคม 2550 — มิถุนายน 2552 (ข้อมูลอ้างอิงจาก www.deepsouthvis.org) จำนวนเหตุการณ์เกิดขึ้น 2,178 ครั้ง บาดเจ็บ 4,730 ราย เสียชีวิต 1,195 ราย จำนวนผู้ได้รับผลกระทบ ในครอบครัวผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต 3,694 ราย นักจิตวิทยาและทีมเยียวยาประจำศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตได้ทำการเยี่ยมครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบฯ (VMS — Violence-ralated Mental Health Surveilance) ปี 2550 จำนวน 1,769 ครอบครัว 2,175 ราย มีผู้ที่มีความเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง จำนวน 366 ราย ปี 2551 เยี่ยมครอบครัว จำนวน 1,306 ราย ปี 2552 เยี่ยมครอบครัว จำนวน 572 ราย และเพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับบริการที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีนักจิตวิทยาประจำศูนย์เยียวยาฟื้นฟูสุขภาพจิตประจำโรงพยาบาลอย่างต่อเนื่อง โดยปฏิบัติงานแบบบูรณาการร่วมกับทีมบุคลากรสาธารณสุขและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกหน่วยงาน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 มีนาคม 2553--จบ--