โครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2553-2557 ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการจัดหาเครื่องบิน ปี 2553-2557 จำนวน 15 ลำ รวมเครื่องยนต์อะไหล่ 5 เครื่องยนต์ วงเงินลงทุนรวม 35,484 ล้านบาท ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ ประกอบด้วย

1. เครื่องบินภูมิภาคความจุประมาณ 300 ที่นั่ง จำนวน 7 ลำ โดยวิธีเช่าซื้อ (Financial Lease) วงเงิน 31,259 ล้านบาท

2. เครื่องบินข้ามทวีปความจุประมาณ 350 ที่นั่ง จำนวน 8 ลำ โดยวิธีเช่าดำเนินงาน (Operating Lease) (วงเงินผูกพันการเช่าจำนวน 79,185 ล้านบาท ไม่รวมอยู่ในวงเงินลงทุนของโครงการ)

3. เครื่องยนต์อะไหล่สำหรับเครื่องบินภูมิภาค 2 เครื่องยนต์ วงเงิน 922 ล้านบาท

4. เครื่องยนต์อะไหล่สำหรับเครื่องบินข้ามทวีป 3 เครื่องยนต์ วงเงิน 3,303 ล้านบาท

โดยให้บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) ดำเนินการตามแผนการเงินและแผนการกู้เงินตามที่เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงคมนาคมรายงานว่า คณะกรรมการบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้มีมติในการประชุม ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ความเห็นชอบโครงการจัดหาเครื่องบินปี 2553-2557 ของ บกท.โดยให้ บกท. ดำเนินการตามแผนการเงินและแผนการกู้เงิน ซึ่งมีสาระสำคัญของโครงการสรุปได้ ดังนี้

1. การจัดหาเครื่องบินและผลตอบแทนทางการเงิน

โครงการจัดหาเครื่องบินปี 2553-2557 จำนวน 15 ลำ เป็นการดำเนินงานตามแผนงานช่วง 5 ปีแรกของแผนพัฒนาเครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบิน ระยะเวลา 15 ปี (จัดหาเครื่องบิน รวมทั้งสิ้นจำนวน 90 ลำ และปลดระวางเครื่องบินจำนวน 77 ลำ) โดยโครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของแผนยุทธศาสตร์ (แผนวิสาหกิจ) ปี 2553-2557 ที่ประกอบด้วยแผนการจัดหาเครื่องบินที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างรอรับมอบเครื่องบินจำนวน 9 ลำ และการจัดหาเครื่องบินใหม่อีก 15 ลำ โดย บกท.มีแผนการปลดระวางเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานนานกว่า 20 ปี หรือมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงจำนวน 25 ลำ โดยโครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพฝูงบินและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งจะทำให้ในช่วงแผนวิสาหกิจระหว่างปี 2553-2557 บกท.จะมีเครื่องบินใหม่ 24 ลำ และมีเครื่องบินในฝูงบินรวมจำนวนทั้งสิ้น 87 ลำ (แบ่งเป็นแบบเครื่องบินทั้งหมด 7 แบบ และมีอายุเฉลี่ยของฝูงบินเท่ากับ 11.3 ปี)

2. แผนการให้บริการสำหรับเครื่องบินใหม่

เครื่องบินภูมิภาคที่จัดหาใหม่ จำนวน 7 ลำ จะถูกนำไปให้บริการในเส้นทางภูมิภาคเป็นหลัก ในขณะที่เครื่องบินข้ามทวีป จำนวน 8 ลำ จะสามารถนำมาใช้ในเส้นทางบินข้ามทวีป ภูมิภาค และบินเสริมเที่ยวบินภายในประเทศด้วย

3. แผนการเงินและแหล่งเงินกู้

บกท.ได้ประมาณการความต้องการเงินทุนเพิ่มเติมในช่วงระยะเวลา 5 ปี (ปี 2553-2557) เพื่อปรับโครงสร้างทางการเงินด้วยการเพิ่มสภาพคล่องและการใช้คืนหนี้ที่ถึงกำหนดชำระ จำนวน 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเพิ่มทุน จำนวน 20,000 ล้านบาท และการชดเชยสภาพคล่องโดยการกู้เงิน จำนวน 30,000 ล้านบาท สำหรับการจัดหาเครื่องบินนั้น บกท.จะใช้จ่ายจากเงินกู้ จำนวน 75,372 ล้านบาท เพื่อจัดซื้อเครื่องบินภูมิภาค จำนวน 7 ลำ วงเงิน 25,007 ล้านบาท และเครื่องบินที่ได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรีไว้แล้ว จำนวน 9 ลำ วงเงิน 50,365 ล้านบาท โดยการใช้เครื่องบินเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันในวงเงินร้อยละ 80 ของราคาเครื่องบินและอุปกรณ์ตกแต่งระยะเวลาการกู้เงินประมาณ 12 ปี ซึ่ง บกท.อาจขอรับการค้ำประกันเงินกู้จาก Export Credit Agencies หรือ US Ex-Im Bank ต่อไป

4. กระทรวงคมนาคมพิจารณาแล้วเห็นว่า โครงการจัดหาเครื่องบินดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลในการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจ โดยมุ่งเน้นการพัฒนา การให้บริการ การลดต้นทุนดำเนินงาน และการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมการบินและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เพื่อสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการบินและการขนส่งสินค้าทางอากาศชั้นนำของเอเชีย โดยโครงการดังกล่าวเป็นการจัดหาเครื่องบินเพื่อทดแทนเครื่องบินที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อปรับปรุงคุณภาพการให้บริการที่ดี ช่วยลดปริมาณการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงทำให้ฝูงบินมีอายุการใช้งานเฉลี่ยลดลง สามารถขยายกำลังการผลิตเพื่อรองรับความต้องการและการแข่งขันของตลาดที่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นหากสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจโลกคลายตัวลง ซึ่ง บกท.ได้ประมาณการว่าจะทำให้ผลประกอบการดีขึ้นในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า โดย บกท.ได้พิจารณาแนวทางเลือกในการจัดหาเครื่องบินด้วยการเช่าซื้อเครื่องบินภูมิภาค จำนวน 7 ลำ และเช่าดำเนินงานเครื่องบินข้ามทวีป จำนวน 8 ลำ เนื่องจากเห็นว่าเป็นวิธีการที่เหมาะสมกับสถานะปัจจุบันของ บกท.

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ