เอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 16:25 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง เอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบเอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2553

1.1 ร่างแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

1.2 ร่างพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของกฎบัตรอาเซียน

1.3 ร่างแนวทางในการพิจารณาการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519

1.4 ร่างแผนการสื่อสารสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

1.5 ร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมประสานงานด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน

รวม 5 ฉบับ

2. อนุมัติให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศร่วมลงนาม หรือรับรอง ร่างเอกสารในการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขร่างเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของประเทศไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีก

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า

1. สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนามจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้อง ระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2553 ที่กรุงฮานอย โดยในระหว่างการประชุมดังกล่าว นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนาม รับรอง และให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญต่าง ๆ ที่อยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงการต่างประเทศ

2. กระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาเอกสารสำคัญที่จะมีการลงนามหรือรับรองในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 16 และการประชุมที่เกี่ยวข้องระหว่างวันที่ 6-9 เมษายน 2553 แล้วมีความเห็นดังนี้

2.1 ร่างแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ร่างแผนการสื่อสารสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน และร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมประสานงานด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นการแสดงเจตนารมณ์ทางการเมืองของประเทศสมาชิกที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในกรอบอาเซียน รวมทั้งเพื่อวางแนวทางการดำเนินงานและเสริมสร้างประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกัน โดยไม่มีการลงนาม จึงไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อย่างไรก็ดี กระทรวงการต่างประเทศเห็นควรขอรับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีในเชิงนโยบายก่อน

2.2 ร่างพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของกฎบัตรอาเซียนเป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ฯ ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้เสนอกรอบการเจรจาให้รัฐสภาพิจารณาและที่ประชุมร่วมรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 และต่อมาคณะผู้เชี่ยวชาญระดับสูงว่าด้วยกฎบัตรอาเซียนได้ดำเนินการยกร่างแล้วเสร็จ และจะเสนอให้รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนลงนามในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงขอเสนอร่างพิธีสารฯ ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนการลงนาม และเมื่อลงนามแล้วจักได้เสนอเรื่องให้รัฐสภาพิจารณาก่อนดำเนินการให้สัตยาบันต่อไป

2.3 ร่างแนวทางในการพิจารณาการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519 มีสาระสำคัญกำหนดระดับชั้นความสำคัญของรัฐต่างๆ ซึ่งอาเซียนจะรับพิจารณาการภาคยานุวัติสนธิสัญญาฯ อีกทั้งกำหนดการใช้หลักการระงับการพิจารณาอย่างยืดหยุ่น จึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศหรือที่เกี่ยวกับองค์การระหว่างประเทศที่มีผลผูกพันรัฐบาลไทย จึงเห็นควรเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาก่อนการรับรองตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการเสนอเรื่องและการประชุมคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2548 มาตรา 4(7)

สาระสำคัญของเรื่อง

1. เอกสารที่นายกรัฐมนตรีจะร่วมให้การรับรอง จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างแถลงการณ์อาเซียนว่าด้วยการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยมีสาระสำคัญเรียกร้องให้รัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั้งหมดดำเนินการเพื่อบรรลุฉันทามติในความตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีผลผูกพันทางกฎหมาย ทั้งนี้ อาเซียนสนับสนุนให้รัฐภาคีทั้งหมดมีส่วนร่วมในการปรึกษาหารือต่อไปเพื่อจัดทำข้อกำหนดที่เหมาะสม ซึ่งจะสรุปในการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาฯ สมัยที่ 16 และการประชุมรัฐภาคีพิธีสารโตเกียว สมัยที่ 6 ในเดือนธันวาคม 2553

2. เอกสารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมลงนาม จำนวน 1 ฉบับ คือ ร่างพิธีสารว่าด้วยกลไกระงับข้อพิพาทของกฎบัตรอาเซียน ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดกลไกและขั้นตอนที่เหมาะสมที่อาเซียนจะดำเนินการเพื่อระงับข้อพิพาทระหว่างประเทศสมาชิก อันเนื่องมาจากกฎบัตรอาเซียนและความตกลงต่างๆ ของอาเซียน ได้แก่ การใช้คนกลางที่น่าเชื่อถือ การไกล่เกลี่ย การประนีประนอม และกระบวนการอนุญาโตตุลาการ

3. เอกสารที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจะร่วมรับรอง จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่

(1) ร่างแนวทางในการพิจารณาการภาคยานุวัติสนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พ.ศ. 2519 เป็นแนวนโยบายที่ตกลงกันระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนเพื่อใช้พิจารณาคำขอของประเทศนอกอาเซียนหรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ ที่จะเข้าเป็นภาคีสนธิสัญญาฯ โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ขอและให้ใช้หลักการระงับการพิจารณาอย่างยืดหยุ่น (flexible moratorium) เพื่อเป็นการชะลอการขยายสมาชิกภาพของสนธิสัญญาฯ โดยจะไม่มีผลเป็นการแก้ไขเปลี่ยนแปลงสนธิสัญญาฯ แต่อย่างใด

(2) ร่างแผนการสื่อสารสำหรับประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นแนวทางในการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมต่อสาธารณชนในลักษณะเดียวกับแผนประชาสัมพันธ์ของประชาคมการเมือง- ความมั่นคงและประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งได้รับความเห็นชอบแล้ว โดยมีเป้าหมายในการประชาสัมพันธ์งานในเสาสังคมและวัฒนธรรมของอาเซียนเพื่อยกระดับความร่วมมือไปสู่ระดับที่สูงขึ้น ทั้งนี้ แผนการสื่อสารมีเนื้อหากำหนดกลุ่มเป้าหมายในการสื่อสารความท้าทายในการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมาย เครื่องมือที่จำเป็นในการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดสรรทรัพยากรและแบ่งความรับผิดชอบในการจัดโครงการและกิจกรรมต่างๆ เพื่อการสื่อสาร

(3) ร่างขอบเขตอำนาจหน้าที่ของที่ประชุมประสานงานด้านประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน เป็นเอกสารที่มีสาระสำคัญกำหนดบทบาท หน้าที่ องค์ประกอบ กำหนดการจัดประชุม และการรายงานผลการประชุมของการประชุมประสานงานด้านประชาสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนให้ดำเนินการต่อไปเพื่อเป็นกลไกในการสนับสนุนงานของคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนในการติดตามความคืบหน้าและประสานความร่วมมือในการดำเนินการตามแผนงานของคณะมนตรีฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ