เรื่อง ขออนุมัติให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงคมนาคม (คค.) เสนอให้ประเทศไทยให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS Cross — Border Transport Agreement : CBTA) จำนวน 3 ฉบับ คือ
ภาคผนวก 7 ข้อบังคับการจราจรและสัญญาณจราจร
ภาคผนวก 9 หลักเกณฑ์เรื่องการอนุญาตผู้ประกอบการขนส่งสำหรับการประกอบการขนส่งข้ามพรมแดน
พิธีสาร 3 โควตาการบริการขนส่งและการออกใบอนุญาต
สาระสำคัญของเรื่อง
คค. รายงานว่า
1. ประเทศไทยได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (CBTA) รวมทั้งภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA จำนวน 20 ฉบับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งสินค้าและผู้โดยสารระหว่างภูมิภาค ซึ่งประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง (GMS) จะต้องให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารครบทุกฉบับ เพื่อให้ความตกลง CBTA มีผลบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ
2. คค. ได้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติ (ตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 25 มีนาคม 2551) ให้ประเทศไทยให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแล้ว จำนวน 11 ฉบับ ที่ประเทศไทยมีความพร้อมก่อน เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถแจ้งความคืบหน้าต่อที่ประชุมสุดยอดผู้นำ GMS ครั้งที่ 3 เดือนมีนาคม 2551 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สำหรับภาคผนวกและพิธีสารฉบับอื่นที่ยังไม่สามารถให้สัตยาบันได้ เนื่องจากอยู่ระหว่างการหารือร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนอยู่ระหว่างการพิจารณาออกกฎกระทรวงและ/หรือระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่ออนุวัติการตามภาคผนวกและพิธีสารดังกล่าว เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ คค. จะเร่งนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติการให้สัตยาบันต่อไป
3. คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2552 มีมติรับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามความตกลง CBTA และมอบหมายให้ คค. เร่งจัดการให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลง CBTA จำนวน 3 ฉบับ ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ในเดือนมีนาคม 2553 ณ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ประกอบด้วย
ภาคผนวก 7 ข้อบังคับการจราจรและสัญญาณจราจร
ภาคผนวก 9 หลักเกณฑ์เรื่องการอนุญาตผู้ประกอบการขนส่งสำหรับการประกอบการขนส่งข้ามพรมแดน
พิธีสาร 3 โควตาการบริการขนส่งและการออกใบอนุญาต
ทั้งนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กรมการขนส่งทางบก กรมทางหลวง และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีความพร้อมที่จะให้ประเทศไทยให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารดังกล่าว
4. กรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) พิจารณาแล้วเห็นว่า ภาคผนวกและพิธีสารทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการกำหนดรายละเอียดของ 1) ข้อบังคับการจราจรทางถนนและเครื่องหมายและสัญญาณการจราจรทางถนน 2) หลักเกณฑ์ในการอนุญาต และความสามารถตลอดจนคุณสมบัติของผู้ประกอบการขนส่งสำหรับการประกอบการขนส่งข้ามพรมแดน และ 3) โควตาการบริการขนส่งและเงื่อนไขในการออกใบอนุญาตขนส่งทางถนน ดังนั้น จึงไม่น่าเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขต ซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากส่วนราชการเจ้าของเรื่องสามารถปฏิบัติตามภาคผนวกและพิธีสารทั้ง 3 ฉบับดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญาทั้ง 3 ฉบับ ก็ไม่น่าจะเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
5. คค. เห็นด้วยกับความเห็นของ กต. ว่าการให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารดังกล่าวไม่อยู่ในข่ายมาตรา 190 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากไม่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ ตามที่กำหนดในบทบัญญัติแห่งมาตราดังกล่าว
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2553--จบ--