รายงานผลการเข้าร่วมประชุมของศูนย์พัฒนาชนบท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 31, 2010 16:39 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการเข้าร่วมประชุมของศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ CIRDAP

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการเข้าร่วมประชุมของศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ (Center on Integrated Rural Development for Asia and the Pacific : CIRDAP) และเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ ให้ กษ. ใช้เงินงบประมาณ ปี 2554 สำหรับบริจาคเงินเข้ากองทุนร่วม จำนวน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 850,000 บาท โดยให้ กษ. เสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ และให้ กษ. รับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศไปพิจารณาต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กษ. รายงานว่า ได้ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีด้านการพัฒนาชนบทและการประชุมอื่นที่เกี่ยวข้องของศูนย์พัฒนาชนบทแบบผสมผสานสำหรับภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ CIRDAP (Centre on Integrated Rural Development for Asia and the Pacific) ระหว่างวันที่ 24 - 28 มกราคม 2553 ณ กรุงธากา ประเทศบังกลาเทศ สรุปสาระสำคัญของการประชุมได้ ดังนี้

1. ประเทศสมาชิกของ CIRDAP ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุมครบทั้ง 14 ประเทศ (อินเดีย บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน เนปาล อัฟกานิสถาน อิหร่าน เวียดนาม ฟิลิปปินส์ ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย พม่า ไทย) โดยมี 9 ประเทศที่ส่งผู้แทนระดับรัฐมนตรีเข้าร่วมการประชุม ส่วนอีก 5 ประเทศ ( อินโดนีเซีย พม่า ไทย เวียดนาม ศรีลังกา) ส่งผู้แทนในระดับต่ำกว่าระดับรัฐมนตรี นอกจากนี้ ยังมีประเทศที่มิใช่สมาชิกเข้าร่วมการประชุมด้วย 3 ประเทศ คือ ออสเตรเลีย ฟิจิ และญี่ปุ่น

2. ผลการประชุม Executive Committee และ Governing Council

2.1 รับทราบผลการดำเนินงานของ CIRDAP ในด้านการพัฒนาชนบท โดยประเทศอินเดียให้การสนับสนุนในการจัดฝึกอบรม 5-6 โครงการ ประเทศปากีสถาน 2 โครงการ ส่วนประเทศไทยให้การสนับสนุนการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการด้านเศรษฐกิจพอเพียง 1 โครงการ

2.2 มีมติให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง เพื่อพิจารณาทบทวนข้อเสนอเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีความเข้มแข็ง เนื่องจากมีการเพิ่มจำนวนบุคลากร เพิ่มอัตราเงินเดือน และเพิ่มค่าบำรุงสมาชิกสูงเกินไป รวมถึงข้อเสนอที่ขออนุมัติงบประมาณประจำปี 2553-2554 สูงเกินไปด้วย ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นชอบให้ใช้จ่ายงบประมาณสำหรับปีงบประมาณ 2553-2554 ในวงเงินเท่ากับปีงบประมาณที่ผ่านมา (2551-2552) โดยไม่ให้เรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาชิกเพิ่มขึ้น

2.3 ขอให้ประเทศสมาชิกที่ยังไม่ได้บริจาคเงินเข้ากองทุนภูมิภาค (รวมทั้งประเทศไทย) พิจารณาการบริจาคโดยขอให้แจ้งจำนวนเงินที่จะบริจาคให้ฝ่าย Secretariat ของ CIRDAP ทราบเป็นลายลักษณ์อักษร ภายในกำหนดเวลา 1 ปี ซึ่งกำหนดให้บริจาคอย่างน้อย ประเทศละ 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศที่บริจาคแล้วมี 4 ประเทศ คือ บังกลาเทศ อินเดีย ปากีสถาน และฟิลิปปินส์)

2.4 ขอให้ประเทศสมาชิกพิจารณาความเหมาะสมในการเปลี่ยนกระทรวงที่ทำหน้าที่ประสานงานกับ CIRDAP จาก กษ. เป็นกระทรวงที่รับผิดชอบในการพัฒนาชนบท

2.5 ขอให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศร่วมกันบริจาคเป็นเงิน หรือสิ่งของ สำหรับการก่อสร้าง หรือตกแต่งศูนย์ประชุมนานาชาติที่สำนักงานใหญ่ของ CIRDAP เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งนี้ บังกลาเทศเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างอาคาร จำนวน 2.118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และอินเดียสนับสนุนการติดตั้งระบบ IT แต่ยังขาดงบประมาณในการก่อสร้างและการตกแต่งศูนย์ฯ อีกประมาณ 670,000 ดอลลาร์สหรัฐ

3. ผลการประชุม Policy Dialogue on Sustainable Rural Livelihood

ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาชนบท ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ สภาพการดำรงชีวิตของชาวชนบท ภาพรวมของนโยบายการพัฒนาชนบทของประเทศสมาชิก แนวโน้มการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชนบท การเข้าถึงพื้นที่ทำกินและทรัพยากรธรรมชาติอื่น ๆ ของชาวชนบท และแนวทางการปรับบทบาทของ CIRDAP ให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกาภิวัตน์

4. ผลการประชุม Ministerial Meeting on Rural Development

การประชุมแยกออกเป็น 2 ส่วน คือ การกล่าวถ้อยแถลง (Statement) ของหัวหน้าคณะผู้แทน และการออกปฏิญญากรุงธากาว่าด้วยการพัฒนาชนบท

4.1 หัวหน้าคณะผู้แทนประเทศสมาชิกได้กล่าวถ้อยแถลง ในเรื่องของนโยบายและกิจกรรมในการพัฒนาชนบทและการขจัดความยากจนในประเทศของตนเอง สำหรับประเทศไทยได้กล่าวเกี่ยวกับนโยบายขจัดความยากจนของรัฐบาล โดยเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น และมาตรการประกันรายได้ให้แก่เกษตรกร รวมถึงการเสนอแนะให้ CIRDAP ดำเนินการกิจกรรมต่าง ๆ เฉพาะในเรื่องที่เป็นภารกิจโดยตรงและมีความเชี่ยวชาญเป็นด้านหลัก และเพิ่มความร่วมมือกับองค์การระหว่างประเทศอื่น ๆ

4.2 ที่ประชุมได้พิจารณาแก้ไข (ร่าง) ปฏิญญากรุงธากาว่าด้วยการพัฒนาชนบท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเรื่องของการใช้ภาษาให้ถูกต้องและมีความกระชับมากยิ่งขึ้น โดยไม่เปลี่ยนสาระสำคัญของร่างปฏิญญา ไม่มีข้อผูกพันทางกฎหมายและส่วนใหญ่เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลที่ดำเนินการอยู่แล้ว สำหรับข้อเสนอแนะของกระทรวงการต่างประเทศ ที่ขอให้เพิ่มคำว่า “politically” หน้าคำว่า “commit” นั้น ที่ประชุมเห็นว่า การระบุคำว่า politically จะทำให้ความหมายแคบลง ประกอบกับหัวหน้าคณะผู้แทนหลายประเทศไม่ใช่ผู้แทนระดับรัฐมนตรีหรือฝ่ายการเมือง ที่ประชุมจึงเห็นว่าไม่ควรใส่คำ politically ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอแนะ โดยประโยคสุดท้าย ระบุว่า “เราผูกพันที่จะดำเนินงานตามปฏิญญาผ่านทางประเทศสมาชิก (We commit to the implementation through CMCs)”

5. ข้อคิดเห็นของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

5.1 ทาง CIRDAP ได้เชิญรัฐมนตรีจากประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่มิได้เป็นสมาชิก ประมาณ 15 ประเทศ เข้าร่วมการประชุม โดยคาดหวังว่า จะมีหลายประเทศสมัครเข้าเป็นสมาชิก แต่ปรากฏว่ามีเพียง 3 ประเทศ ที่ส่งผู้แทนเข้าร่วมการประชุม และไม่ใช่ระดับรัฐมนตรี คือ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และฟิจิ นอกจากนี้ มีเพียงประเทศฟิจิประเทศเดียวเท่านั้นที่แสดงความจำนงว่าจะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ซึ่งแสดงให้เห็นว่า CIRDAP ยังไม่มีบทบาทหรือจุดเด่นเพียงพอที่จะให้ประเทศต่างๆ ให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งที่ประชุม ทั้ง EC และ GC มีความเห็นร่วมกันว่า ต้องพัฒนาศักยภาพของ CIRDAP Secretariat ให้เป็นเวทีที่มีประสิทธิภาพ

5.2 สาระสำคัญที่ระบุในปฏิญญาฯ เป็นแนวทางกว้าง ๆ ที่ต้องการให้รัฐบาลท้องถิ่น หรือสถาบันเพื่อการพัฒนาชนบทมีความเข้มแข็ง เพื่อเอื้อต่อการให้บริการด้านพัฒนาชนบท และเพื่อให้ประชากรในชนบทสามารถเข้าถึงทรัพยากร และมีส่วนร่วมในการตัดสินใจในการพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง

5.3 ข้อเสนอในการเปลี่ยนหน่วยงานระดับกระทรวง (CMC) เพื่อทำหน้าที่ประสานงานกับ CIRDAP จาก กษ. เป็นกระทรวงอื่นที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชนบทและรัฐบาลท้องถิ่น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกระทรวงใดที่รับผิดชอบงานด้านพัฒนาชนบทโดยตรง

5.4 สำหรับการบริจาคเงินโดยสมัครใจเข้ากองทุนภูมิภาค (Regional Cooperation Fund) จำนวน 25,000 ดอลลาร์สหรัฐ เห็นสมควรให้การสนับสนุนตามที่ได้มีการตกลงกัน เพื่อประโยชน์ในการดำเนินโครงการ/กิจกรรมร่วมของประเทศสมาชิก เนื่องจาก CIRDAP ขาดแคลนงบประมาณ ประเทศสมาชิกจึงต้องช่วยเหลือซึ่งกันและกันให้มากขึ้น

5.5 ส่วนการบริจาคเงินเพื่อการก่อสร้าง/ตกแต่งห้องต่าง ๆ ภายในศูนย์ประชุมนานาชาติของ CIRDAP ประเทศไทยอาจสนับสนุนในการตกแต่งห้องใดห้องหนึ่ง ซึ่งจะพิจารณารายละเอียดต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 30 มีนาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ