เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. ....
และร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. ร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้เสียหายจากการรับบริการสาธารณสุข พ.ศ. .... มีสาระสำคัญดังนี้
1.1 กำหนดบทนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” “สถานพยาบาล” “บริการสาธารณสุข” “กองทุน” และ “คณะกรรมการ” เป็นต้น (ร่างมาตรา 3)
1.2 กำหนดให้ผู้เสียหายมีสิทธิได้รับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชยจากกองทุน โดยไม่ต้องพิสูจน์ความผิด เว้นแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นตามปกติธรรมดาของโรคนั้น หรือซึ่งหลีกเลี่ยงมิได้เกิดจากการให้บริการสาธารณสุขตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือเมื่อสิ้นสุดกระบวนการให้บริการสาธารณสุขแล้วไม่มีผลกระทบต่อการดำรงชีวิตตามปกติ (ร่างมาตรา 5 และร่างมาตรา 6)
1.3 กำหนดให้มีคณะกรรมการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข กำหนดองค์ประกอบคณะกรรมการ อำนาจหน้าที่ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้แทนองค์กร และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ องค์ประชุม และให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะอนุกรรมการได้ (ร่างมาตรา 7 ถึงร่างมาตรา 12)
1.4 กำหนดให้มีคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งจากผู้ทรงคุณวุฒิที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด อำนาจหน้าที่ และวาระการดำรงตำแหน่ง (ร่างมาตรา 13 ถึงร่างมาตรา 15)
1.5 กำหนดให้ประธานกรรมการ กรรมการ ประธานกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ กรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์ ประธานอนุกรรมการ หรืออนุกรรมการ ได้รับเบี้ยประชุม ค่าพาหนะ ค่าเบี้ยเลี้ยง ที่พัก และประโยชน์ตอบแทนอื่น ตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของกระทรวงการคลัง และให้เป็นเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา (ร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 17)
1.6 กำหนดให้กรมสนับสนุนบริการสุขภาพเป็นสำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการ และให้มีอำนาจหน้าที่ตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 19)
1.7 กำหนดให้จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข โดยมีวัตถุประสงค์ตามที่กำหนด และให้กองทุนส่วนหนึ่งประกอบด้วยเงินที่โอนมาจากเงินตามมาตรา 41 แห่งพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 เงินที่สถานพยาบาลจ่ายสมทบ และเงินอุดหนุนจากรัฐบาล (ร่างมาตรา 20 และ ร่างมาตรา 22)
1.8 กำหนดให้สถานพยาบาลต้องจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และอัตราที่คณะกรรมการประกาศกำหนด (ร่างมาตรา 21)
1.9 กำหนดขั้นตอนและวิธีการการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและเงินชดเชย การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และการพิจารณาให้เงินชดเชย (ร่างมาตรา 25 ถึงร่างมาตรา 27 และร่างมาตรา 30)
1.10 กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการอุทธรณ์คำขอเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และจำนวนเงินชดเชย (ร่างมาตรา 28 และร่างมาตรา 31)
1.11 กำหนดให้การพิจารณาให้เงินช่วยเหลือเบื้องต้น และการจ่ายเงินชดเชย ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราที่คณะกรรมการกำหนดในระเบียบ (ร่างมาตรา 29 และร่างมาตรา 32)
1.12 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการจ่ายเงินชดเชยในกรณีผู้เสียหายหรือทายาทยินยอมรับเงินชดเชย หรือผู้เสียหายหรือทายาทไม่ยินยอมรับเงินชดเชยและรายได้ฟ้องคดีต่อศาล หรือในกรณีที่มีการฟ้องคดีและขอรับค่าเสียหายตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 36)
1.13 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการการขอรับเงินชดเชยในกรณีความเสียหายปรากฏขึ้นภายหลังการทำสัญญาประนีประนอมยอมความ (ร่างมาตรา 37)
1.14 กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการไกล่เกลี่ยและการสร้างเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในระบบบริการสาธารณสุข (ร่างมาตรา 38 ถึงมาตรา 41)
1.15 กำหนดให้มีการวิเคราะห์สาเหตุแห่งความเสียหายเพื่อให้มีการพัฒนาระบบความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายของผู้รับบริการสาธารณสุข (ร่างมาตรา 42 ถึงร่างมาตรา 44)
1.16 กำหนดให้ศาลสามารถนำข้อเท็จจริงต่าง ๆ ของผู้ให้บริการสาธารณสุขที่ถูกฟ้องเป็นจำเลยในคดีอาญาเกี่ยวกับประวัติ พฤติการณ์แห่งคดี มาตรฐานทางวิชาชีพ การบรรเทาผลร้ายแห่งคดี การรู้สำนึกในความผิด การชดใช้เยียวยาความเสียหาย และการที่ผู้เสียหายไม่ติดใจให้จำเลยได้รับโทษ ตลอดจนเหตุผลอื่นอันสมควรมาพิจารณาลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นหรือจะไม่ลงโทษเลยก็ได้ (ร่างมาตรา 45)
1.17 กำหนดบทเฉพาะกาลเกี่ยวกับเงินช่วยเหลือเบื้องต้น และการคัดเลือกและแต่งตั้งคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 47 ถึงร่างมาตรา 50)
2. ร่างพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ .. (พ.ศ. ....) มีสาระสำคัญดังนี้
2.1 ยกเลิกมาตรา 18 (7) ตัดอำนาจของคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการสาธารณสุขได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ผู้รับบริการสาธารณสุขไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร (ร่างมาตรา 3)
2.2 ยกเลิกมาตรา 41 และมาตรา 42 ตัดหลักการในการกันเงินช่วยเหลือเบื้องต้นและภารกิจในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้แก่ผู้รับบริการที่ได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลของหน่วยบริการ (ร่างมาตรา 4)
2.3 ยกเลิกมาตรา 50 (8) ตัดอำนาจของคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานในการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ในกรณีที่ผู้รับบริการได้รับความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลโดยหาผู้กระทำผิดมิได้ หรือหาผู้กระทำผิดได้แต่ผู้รับบริการไม่ได้รับค่าเสียหายภายในระยะเวลาอันสมควร (ร่างมาตรา 5)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--