ร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่ง พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:01 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่ง พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงคมนาคมได้เสนอตามรายงานของกรมการบินพลเรือนว่า

1. โดยที่มีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 เนื่องจากได้ใช้บังคับมาเป็นเวลานาน และมีบทบัญญัติไม่เป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (Convention on International Civil Aviation) ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคี และมาตรฐานสากลของประเทศต่างๆ

2. เนื่องจาก มาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติการเดินอากาศ (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2551 บัญญัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมออกกฎกระทรวงกำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามมาตรา 20 และเพื่อให้เป็นไปตามบทบัญญัติดังกล่าว กรมการบินพลเรือนจึงได้ดำเนินการยกร่างกฎกระทรวง เพื่อเป็นการกำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่ง (เฉพาะในเส้นทางภายในประเทศ) ทั้งนี้ กรมการบินพลเรือนได้จัดประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณค่าโดยสารและค่าระวางภายในประเทศเมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2552 และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 โดยเชิญผู้ประกอบการสายการบินต่างๆ ภายในประเทศเข้าร่วมพิจารณา ซึ่งที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นควรกำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามที่กำหนดไว้ในร่างกฎกระทรวงฉบับนี้

สาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง

กำหนดอัตราขั้นสูงสำหรับค่าโดยสารและค่าระวางสำหรับอากาศยานขนส่งตามมาตรา 20 วรรคสาม เฉพาะในเส้นทางภายในประเทศ ดังนี้

1. อัตราค่าโดยสารไม่เกิน 30 บาทต่อหนึ่งกิโลเมตร เว้นแต่ดังต่อไปนี้ ให้ผู้ประกอบการอากาศยานขนส่งกำหนดอัตราค่าโดยสารได้โดยเสรี

1.1 เส้นทางการบินที่มีระยะทางการบินไม่เกิน 300 กิโลเมตร

1.2 เส้นทางการบินที่บินเชื่อมระหว่างภาค โดยไม่แวะกรุงเทพฯ

2. อัตราค่าระวางไม่เกิน 50 บาทต่อหนึ่งกิโลเมตร (ร่างข้อ 1)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ