การพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:18 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดแม่ฮ่องสอน สุโขทัย เชียงราย เพชรบูรณ์ และอุทัยธานี

ตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 4) ลงวันที่ 11 มีนาคม 2553 ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ โดยสาระสำคัญของประกาศ มีดังนี้

ข้อ 1 ให้ยกเลิกความในข้อ 20 ข้อ 22 ข้อ 25 ข้อ 27 และข้อ 29 ของประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 3) ลงวันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2552 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน

“ข้อ 20 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยหกสิบบาท ในท้องที่จังหวัดชุมพร ตราด นครนายก นราธิวาส ยะลา ลำพูน อุทัยธานี และอุบลราชธานี

ข้อ 22 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบแปดบาท ในท้องที่จังหวัดกำแพงเพชร ชัยนาท นครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และสุพรรณบุรี

ข้อ 25 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบห้าบาท ในท้องที่จังหวัดนครพนม มุกดาหาร และอำนาจเจริญ

ข้อ 27 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบสามบาท ในท้องที่จังหวัดตาก พิษณุโลก แม่ฮ่องสอน สุโขทัย สุรินทร์ และอุตรดิตถ์

ข้อ 29 ให้กำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเป็นเงินวันละหนึ่งร้อยห้าสิบเอ็ดบาท ในท้องที่จังหวัดพะเยา พิจิตร และแพร่

ข้อ 2 ประกาศคณะกรรมการค่าจ้างฉบับนี้ ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า ได้ดำเนินการตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2553 ดังนี้

1. รง. ได้มีหนังสือแจ้งคณะอนุกรรมการอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 5 จังหวัด (ตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี) พิจารณาจัดประชุมเพื่อทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดอีกครั้ง ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดมีมติ

1.1 เห็นชอบให้คงอัตราค่าจ้างขั้นต่ำไว้ในอัตราเดิม 2 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุโขทัยและเชียงราย

1.2 ให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 3 จังหวัด ได้แก่

(1) จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากวันละ 151 บาท เป็นวันละ 153 บาท

(2) จังหวัดอุทัยธานี จากวันละ 158 บาท เป็นวันละ 160 บาท

(3) จังหวัดเพชรบูรณ์ จากวันละ 155 บาท เป็นวันละ 158 บาท

2. คณะอนุกรรมการวิชาการและกลั่นกรองได้มีการประชุมพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2553 ของ 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 แล้ว มีมติเห็นชอบตามคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดทั้ง 5 จังหวัด

3. คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของทั้ง 5 จังหวัด เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2553 โดยมีมติเห็นชอบอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดตามที่คณะอนุกรรมการฯ จังหวัด และคณะอนุกรรมการวิชาการฯ เสนอ โดยให้มีผลใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และได้มีความเห็นเพิ่มเติมว่าการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของ 5 จังหวัด ตามข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรี ถึงแม้จะไม่เป็นไปตามหลักการที่คณะกรรมการค่าจ้างเคยปฏิบัติที่ผ่านมา โดยกำหนดให้มีการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำปีละ 1 ครั้ง ในช่วงระหว่างเดือนกันยายน — ธันวาคมของทุกปี และมีการประชุมเพื่อติดตามสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้ว หากพบว่าสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลง อันส่งผลกระทบต่อภาวะค่าครองชีพของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรง ก็จะมีการพิจารณาทบทวนอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศใช้อยู่อีกครั้ง ประกอบกับช่วงระยะเวลาการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของคณะกรรมการค่าจ้างในครั้งนี้กับครั้งที่ผ่านมามีระยะเวลาไม่ห่างกันมากนัก (1 - 2 เดือน) ซึ่งสภาพเศรษฐกิจ สังคม และแรงงานของแต่ละจังหวัดยังไม่มีความเปลี่ยนแปลงหรือแตกต่างกันมากนัก แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อ รง. แจ้งข้อสังเกตของคณะรัฐมนตรีให้คณะอนุกรรมการฯ จังหวัดทั้ง 5 จังหวัดทราบ และคณะอนุกรรมการฯ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อุทัยธานี และเพชรบูรณ์มีมติให้ปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในอัตรา 2 — 3 บาท และผ่านการประชุมพิจารณากลั่นกรองของคณะอนุกรรมการวิชาการฯ แล้ว คณะกรรมการค่าจ้างจึงมีมติเห็นชอบตามนั้น เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานใน 3 จังหวัด มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนอีก 2 จังหวัด ก็เห็นด้วยว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของจังหวัดในปัจจุบันยังเหมาะสมอยู่ ประกอบกับจากการรายงานเศรษฐกิจไทยของหลายสำนักมีความเห็นตรงกันว่าในช่วงปลายปี 2552 และต้นปี 2553 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ส่วนภาวะค่าครองชีพของประชาชนปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก ถึงแม้ว่าราคาสินค้ากลุ่มอาหารโดยเฉลี่ยจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาน้ำมันที่ลดลงอย่างมากจากปีที่ผ่านมา ประกอบกับมาตรการช่วยค่าครองชีพของรัฐบาล (6 มาตรการและค่าเล่าเรียน) ทำให้ค่าครองชีพของประชาชนลดลง ด้านการจับจ่ายใช้สอยจากการที่ภาวะเงินเฟ้อเริ่มเข้าสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ภาวะการจ้างงานเริ่มดีขึ้น ดังนั้น การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่อของ 3 จังหวัด จึงเหมาะสมแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ