คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. ยกเลิกมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2548
2. ให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่งลงประกาศจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคา ประกวดราคา และประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) และเว็บไซต์ของหน่วยงาน
3. ให้หน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติงานในระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government Procurement : e-GP) ระยะที่ 1 ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยกรมบัญชีกลางจัดฝึกอบรม จัดทำคู่มือการปฏิบัติงาน และจัดทำสื่อการเรียนรู้ในรูปแบบของแผ่นดีวีดี เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า
1. กค. (กรมบัญชีกลาง) ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบริหารงานด้านพัสดุได้ดำเนินการพัฒนาและปรับปรุงกฎระเบียบและแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับการจัดซื้อจัดจ้าง รวมทั้งพัฒนาระบบ e-GP ขึ้น
2. การพัฒนาระบบ e-GP ในช่วงแรกเป็นระบบที่ใช้งานในปัจจุบันที่เน้นให้หน่วยจัดซื้อภาครัฐประกาศจัดซื้อจัดจ้างบนเว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างและพัสดุภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) เพื่อความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้างเท่านั้นไม่สามารถติดตามความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างในระบบได้ นอกจากนี้ระบบงานปัจจุบันได้เริ่มให้บริการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2547 ซึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ต่าง ๆ ล้าสมัยและไม่สามารถขยายประสิทธิภาพของระบบงานได้ รวมทั้งไม่สามารถรองรับปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นได้ กรมบัญชีกลางจึงได้มีโครงการพัฒนาระบบ e-GP เพื่อสามารถให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยแบ่งการพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ดังนี้
- ระยะที่ 1 พัฒนาระบบศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อให้ผู้บริหารและหน่วยงานภาครัฐสามารถติดตามสถานะหรือความคืบหน้าของการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐได้ในลักษณะ Online ซึ่งหากหน่วยงานภาครัฐจัดซื้อจัดจ้างได้เร็วก็จะสามารถเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาล ระบบงานในระยะนี้ครอบคลุมถึงการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีสอบราคา ประกวดราคา และการประกวดราคาด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ ขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลองใช้ระบบงาน
- ระยะที่ 2 พัฒนาระบบจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-GP) เพิ่มเติม เพื่อรวบรวมการจัดซื้อจัดจ้างให้ครบถ้วนทุกวิธีตามที่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติมได้กำหนดไว้ การเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบ GFMIS ธนาคารพาณิชย์ในส่วนของการค้ำประกัน ศูนย์ข้อมูลที่ปรึกษาไทย รวมถึงระบบบริหารสัญญาและการคำนวณค่าปรับ เป็นต้น ขณะนี้ได้ดำเนินการประกาศประกวดราคาซื้อด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ซึ่งคาดว่าสามารถนำระบบมาใช้งานได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554
- ระยะที่ 3 e-Marketplace เป็นการพัฒนาเพื่อเป็นตลาดกลางซื้อขายสินค้าและบริการภาครัฐด้วยอิเล็กทรอนิกส์ (e-Marketplace) โดยเป็นสื่อกลางในการซื้อ-ขายสินค้าและบริการภาครัฐ ระหว่างผู้ซื้อ (Buyer) และผู้ค้า (Supplier) ซึ่งจัดเป็นลักษณะของตลาดกลางแบบ B2G คือ ตลาดกลางสินค้าระหว่างธุรกิจร้านค้า (Business) กับหน่วยงานภาครัฐ (Government) ซึ่งคาดว่าสามารถนำระบบมาใช้งานได้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2555
3. การพัฒนาระยะที่ 1 กรมบัญชีกลางได้ว่าจ้างบริษัท โปรเฟสชั่นนัล คอมพิวเตอร์ จำกัด เป็นผู้พัฒนาระบบ e-GP เพื่อให้หน่วยงานภาครัฐและเอกชน สามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้าง และพัสดุภาครัฐที่มีความถูกต้องได้ด้วยความรวดเร็ว ครบถ้วน และทั่วถึงมีต้นแบบการประมูลด้วยอิเล็กทรอนิกส์ครบกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐและเชื่อมต่อข้อมูลจากแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ได้ โดยมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจำนวน 75,300,000 บาท
4. เนื่องจากต้องให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่งลงประกาศจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างด้วยการสอบราคา การประกวดราคา และการประกวดราคาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ (www.gprocurement.go.th) และเว็บไซต์ของหน่วยงานเพื่อความโปร่งใสของการจัดซื้อจัดจ้าง ดังนั้นเพื่อประโยชน์ทางด้านข้อมูลสารสนเทศ จึงจำเป็นต้องเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ เพื่อให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่งถือปฏิบัติ
5. เนื่องจากระบบปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่จากส่วนราชการเข้ามาใช้งานค่อนข้างมาก และในบางจังหวะเวลา ที่มีคนเข้ามาใช้งานมากทำให้ระบบไม่มีเสถียรภาพ ซึ่งมีสาเหตุมาจากอุปกรณ์ทางด้านฮาร์ดแวร์ไม่เพียงพอที่จะรองรับปริมาณข้อมูลที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ และเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ไม่ทันสมัยไม่สามารถทำการปรับขยายกับอุปกรณ์ใหม่ได้ รวมทั้งประโยชน์ในด้านสารสนเทศก็มีน้อย ดังนั้น เพื่อประโยชน์แก่ทางราชการและให้การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ของไทยทันสมัยมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงเห็นควรเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบให้นำระบบงานที่ได้พัฒนาแล้วเสร็จมาใช้ทดแทนระบบงานเดิม
6. การให้ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์การมหาชน และหน่วยงานของรัฐทุกแห่ง (ที่ลงประกาศจัดซื้อจัดจ้างสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างที่เว็บไซต์ศูนย์ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างพัสดุภาครัฐ (www.grpocurement.go.th) เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีการปฏิบัติงานจากระบบงานเดิมไปสู่ระบบงานใหม่ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐ ผู้ค้าภาครัฐ และผู้สนใจทั่วไปจะได้รับประโยชน์จากระบบ e-GP ที่ได้พัฒนา ดังนี้
6.1 หน่วยงานภาครัฐ
(1) หน่วยจัดซื้อภาครัฐสามารถปฏิบัติงานบนระบบ e-GP ได้อย่างถูกต้องตามขั้นตอนที่ระเบียบกำหนด ซึ่งเป็นการลดความผิดพลาดจากการปฏิบัติงานด้านการจัดซื้อจัดจ้างของเจ้าหน้าที่
(2) หน่วยงานภาครัฐมีฐานข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างที่ทันสมัยมีข้อมูลที่เป็นปัจจุบัน ซึ่งสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์สำหรับการวิเคราะห์ทั้งในระดับหน่วยจัดซื้อ ระดับจังหวัด ระดับกรม ระดับกระทรวง และระดับประเทศได้
(3) หน่วยงานภาครัฐสามารถติดตามการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างในแต่ละโครงการได้ว่าอยู่ในขั้นตอนใด ซึ่งจะช่วยให้ส่วนราชการเร่งดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างและเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามแผนการใช้จ่ายเงินของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
(4) เพิ่มความโปร่งใสในการจัดซื้อจัดจ้างและลดปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น เนื่องจากระบบจะเก็บข้อมูลการปฏิบัติงานไว้ทุกขั้นตอน
(5) หน่วยงานกำกับดูแลสามารถนำข้อมูลต่าง ๆมาวิเคราะห์เพื่อประกอบการตัดสินใจเชิงนโยบายด้านการจัดซื้อจัดจ้างได้
(6) มีศูนย์ข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในระดับประเทศที่ทันสมัยเป็นปัจจุบันสามารถสืบค้นข้อมูลได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว
6.2 ผู้ค้าภาครัฐ
(1) ระบบ e-GP สนับสนุนให้ผู้ค้าภาครัฐ หรือผู้ที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างได้สะดวก และเท่าเทียมกัน ช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ค้ารายใหม่ ๆ สามารถเข้าร่วมจัดซื้อจัดจ้างกับภาครัฐได้มากยิ่งขึ้นด้วย
(2) ระบบ e-GP ยังช่วยสร้างความเป็นสากลให้กับผู้ประกอบการของไทยให้มีการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นระบบและคุ้นเคยกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันให้ภาคธุรกิจของประเทศไทยต่อไป
(3) ระบบ e-GP ช่วยให้ผู้ค้าสามารถติดตามสถานะโครงการของตนเองได้ตลอดเวลา และยังทราบข้อมูลข่าวสารโครงการอื่น ๆ ที่อยู่ในความสนใจหรืออยู่ในธุรกิจที่ผู้ค้านั้น ๆ ดำเนินกิจการอยู่ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ทันเวลา โดยผู้ค้าต้องลงทะเบียนไว้ในระบบฯ
6.3 ผู้สนใจทั่วไป
(1) สามารถค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้าง อาทิ ประกาศจัดซื้อ จัดจ้าง กฎระเบียบ ตลอดจนข่าวกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
(2) สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐได้ในอีกทางหนึ่ง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--