คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการโครงการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ประธานคณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรี เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาหนี้สินของเกษตรกรอย่างบูรณาการ เสนอ ดังนี้
1. อนุมัติการแก้ไขปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร จำนวนประมาณ 510,000 ราย โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.1 จัดสรรงบประมาณรายจ่ายงบกลางประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวนเงิน 1,140,000,000 บาท ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรในการแก้ไขปัญหาหนี้และเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูพัฒนาอาชีพหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
1.2 จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จำนวน 2,200,000,000 บาท และ 2,530,000,000 บาท ตามลำดับเพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพหลักในการลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิต
2. มอบหมายให้สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรจัดสรรงบประมาณของกองทุนฟื้นฟูฯ ในการสนับสนุน แก้ไขปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามความจำเป็น
3. มอบหมายให้สำนักกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประสานงานกับธนาคารทั้ง 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร บมจ.ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้บรรลุวัตถุประสงค์ของโครงการ
ทั้งนี้ ให้รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และสำนักงบประมาณไปพิจารณาดำเนินการด้วย
ข้อเท็จจริง
คณะกรรมการเฉพาะกิจของนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ซึ่งการประชุมของคณะอนุกรรมการฯ ได้ข้อสรุปการแก้ไขปัญหาหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร ดังนี้
1. หลักเกณฑ์และแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร
คณะอนุกรรมการฯ และผู้บริหารธนาคาร 4 แห่ง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) บมจ.ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารออมสิน มีความเห็นร่วมกันว่าการจัดกลุ่มเกษตรกร หลักเกณฑ์และแนวทางการปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร มีรายละเอียด ดังนี้
กลุ่มที่ 1 เกษตรกรที่เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) และเป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร
1) เกษตรกรลูกหนี้ จำนวนประมาณ 80,000 ราย สถานะหนี้เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ 31 ธันวาคม 2552 การพิจารณาแก้ไขให้คำนึงถึงสถานะหนี้ และอายุความของการดำเนินคดี
2) ปรับโครงสร้างหนี้โดยการพักชำระต้นเงินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อนโดยให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้ต้นเงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามงวดและระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี ต้นเงินและดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการลดให้ทั้งหมด เมื่อเกษตรกรได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายแล้ว
3) เกษตรกรลูกหนี้ที่มีหลักทรัพย์คุ้มต้นเงินถ้ามูลค่าหลักทรัพย์ลดครึ่งหนึ่งแล้วยังมีมูลค่าสูงกว่า ร้อยละ 50 ของต้นเงิน ส่วนต่างนั้นรัฐบาลจะชดเชยให้สถาบันการเงิน (ราคาประเมินหลักทรัพย์ราคาราชการ) เช่นเกษตรกรเป็นหนี้ต้นเงิน 100,000 บาท เกษตรกรจะต้องชำระหนี้ต้นเงินคือ (ร้อยละ 50) เท่ากับ 50,000 บาท ราคาประเมินหลักทรัพย์ 200,000 บาท เมื่อหลักทรัพย์นั้นถูกบังคับคดีขายทอดตลาดราคาจะลดลงต่ำสุดถึง ร้อยละ 50 เท่ากับ 100,000 บาท จึงมีส่วนต่างระหว่างต้นเงินที่เกษตรกรชำระหนี้คืนกับราคาหลักทรัพย์ที่ขายได้อยู่ 50,000 บาท เจ้าหนี้จะได้รับการชดเชยจากรัฐบาล 50,000 บาท ราคาประเมินราชการที่ใช้คำนวณการขอชดเชยส่วนต่างจากรัฐบาล ใช้ราคา ณ ปัจจุบัน ส่วนการเบิกจ่ายจริงจะได้รับเมื่อเกษตรกรชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายแล้ว
4) รัฐบาลให้การสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร
5) กองทุนฟื้นฟูฯ ประสานงานกับสถาบันเจ้าหนี้ในการจัดทำข้อมูลประกอบการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเข้าระบบและเป็นฐานข้อมูลร่วมกัน
6) ผู้รับผิดชอบ กองทุนฟื้นฟูฯ และธ.ก.ส.
กลุ่มที่ 2 เกษตรกรอาจจะเป็นหรือไม่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรแต่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนหนี้
1) เกษตรกรเป็นลูกหนี้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร สถานะหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ 31 ธันวาคม 2552 จำนวนประมาณ 350,000 ราย โดยคำนึงถึงสถานะหนี้และอายุความของการดำเนินคดี
2) ปรับโครงสร้างหนี้โดยการพักชำระต้นเงินครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) และดอกเบี้ยทั้งหมดไว้ก่อนโดยให้เกษตรกรผ่อนชำระหนี้ต้นเงินที่เหลืออีกครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 50) ตามงวดและระยะเวลาที่ตกลงกันแต่ไม่เกิน 15 ปี ต้นเงินและดอกเบี้ยที่พักไว้จะได้รับการลดให้ทั้งหมด เมื่อเกษตรกรได้ชำระหนี้คืนงวดสุดท้ายแล้ว
3) รัฐบาลให้การสนับสนุนการฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร
4) กองทุนฟื้นฟูฯ ประสานงานกับสถาบันเจ้าหนี้ในการจัดทำข้อมูลประกอบการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเข้าระบบและเป็นฐานข้อมูลร่วมกัน
5) ผู้รับผิดชอบ ธ.ก.ส.
กลุ่มที่ 3 เกษตรกรลูกหนี้สถาบันการเงินอื่น สหกรณ์ฯ และนิติบุคคลที่คณะกรรมการกองทุนกำหนด
1) จำนวนประมาณ 80,000 ราย
2) ปรับโครงสร้างหนี้หลังจากดำเนินการกลุ่มที่ 1 และ 2 แล้ว
3) การฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกรหลังจากดำเนินการกลุ่มที่ 1 และ 2 แล้ว
4) กองทุนฟื้นฟูฯ ประสานงานกับสถาบันเจ้าหนี้ในการจัดทำข้อมูลประกอบการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อเข้าระบบและเป็นฐานข้อมูลร่วมกัน
5) ผู้รับผิดชอบ กองทุนฟื้นฟูฯ และสถาบันเจ้าหนี้ที่ร่วมโครงการ
2. หลักการและแนวทางฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพเกษตรกร
คณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ของเกษตรกร ได้ข้อสรุปการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรโดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1) ปรับความคิด ทัศนคติ และพฤติกรรม 2) ฟื้นฟูและพัฒนาอาชีพหลัก 3) พัฒนาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ 4) การฟื้นฟูอาชีพให้แก่เกษตรกรสมาชิกองค์กรเกษตรกร กองทุนฟื้นฟูฯ ดำเนินการร่วมกับ ธ.ก.ส. 5) ประสานความร่วมมือจากกระทรวง กรม กองต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการดำเนินการฟื้นฟูอาชีพเกษตรกร
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--