สถานการณ์สินค้าเกษตรสำคัญ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:35 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบรายงานสถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญด้านการผลิตและการตลาด (ข้าวนาปรังและมันสำปะหลัง) และการบริหารจัดการเรื่องสุกร รวมทั้งแนวทางในการดำเนินการแก้ไข ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า

1. ในฤดูการผลิตสินค้าเกษตร ปี 2552/53 สินค้าเกษตรสำคัญหลายชนิดได้มีราคาปรับตัวสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงต้นฤดูการเก็บเกี่ยว เนื่องจากสภาวะอากาศที่แปรปรวนและภัยธรรมที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรของโลกโดยรวมลดลงและมีการนำเข้าสินค้าอาหารจากประเทศต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลดีต่อรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การผลิตในประเทศที่ประสบปัญหาโรคระบาดหลายชนิด โรคเพลี้ยกระโดดข้าว โรคเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง และโรค PED (Porcine Epidemic Diarrhea) ในสุกร เป็นต้น ซึ่งอาจส่งผลต่อปริมาณผลผลิตที่ลดลงและกระทบต่อภาวะราคาตลอดจนอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่น ๆ ในระยะต่อไป

2. แนวโน้มสถานการณ์

2.1 ข้าวนาปรัง พื้นที่เพาะปลูก ปี 2553 มีประมาณ 12.4 ล้านไร่ จะผลิตข้าวเปลือกได้ประมาณ 8.305 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา (ผลผลิต 8.415 ล้านตัน) แต่สภาพภัยแล้งในปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่าน ๆ มา โดยเฉพาะปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่มีปริมาณลดลง ประกอบกับการระบาดของเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลรวมทั้งโรคใบหงิก โรคเขียวเตี้ย ที่เกิดขึ้นในพื้นที่หลายจังหวัดของภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ส่งผลให้ผลผลิตที่จะเก็บเกี่ยวในระยะต่อไปมีแนวโน้มต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มากจนอาจเกิดผลกระทบต่อภาวะการค้าโดยเฉพาะการส่งออกที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไปด้วย

2.2 มันสำปะหลัง ผลจากการระบาดของเพลี้ยแป้งในพื้นที่เพาะปลูกสำคัญ 25 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ทำให้ปริมาณผลผลิตที่คาดว่าจะผลิตได้ 27.759 ล้านตัน ลดลงเหลือเพียง 23.22 ล้านตัน น้อยกว่าปีที่ผ่านมา (30.088 ล้านตัน) ร้อยละ 22.83 แนวโน้มผลผลิตอาจจะลดลงอีกหากไม่สามารถหยุดการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ รวมทั้งมีแนวโน้มที่จะมีการระบาดต่อเนื่องไปในฤดูถัดไปหากเกษตรกรไม่มีความรู้ที่จะป้องกันให้ท่อนพันธุ์ปลอดเชื้อโรคก่อนนำไปปลูกใหม่ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเริ่มประสบการขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตแล้ว ซึ่งมีผลทำให้การส่งออกผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังต้องชะลอตัวลงทั้ง ๆ ที่ตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการอีกมาก

2.3 สุกร จากการระบาดของโรคทางเดินหายใจและโรคอุบัติใหม่ที่ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน เช่น โรค PED (Porcine Epidemic Diarrhea) ตั้งแต่ปลายปี 2552 เป็นต้นมา ทำให้อัตราการสูญเสียลูกสุกรและสุกรขุนมีมากขึ้น ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งทำให้สุกรมีชีวิตที่เข้าสู่ตลาดมีปริมาณลดลงและขาดช่วง ในขณะที่ความต้องการของตลาดยังมีสม่ำเสมอมีผลทำให้ราคาจำหน่ายสุกรมีชีวิต/สุกรชำแหละปรับตัวสูงขึ้นจนประชาชนและผู้ประกอบการที่บริโภค/ใช้เนื้อสุกรได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ราคาสุกรมีชีวิตที่เกษตรกรขายได้ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคม 2553 เป็นต้นมา อย่างไรก็ตาม ในช่วงเดือนมีนาคม — เมษายน 2553 ซึ่งสภาพอากาศร้อนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ขาดแคลนสุกรมากขึ้นเนื่องจากสุกรจะกินอาหารได้น้อยและโตช้า

3. แนวทางการแก้ไข

เพื่อป้องกันปัญหาด้านการผลิตที่จะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรซึ่งเป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศเห็นควรให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการแก้ไขปัญหาและรายงานผลให้คณะรัฐมนตรีทราบอย่างต่อเนื่อง เพื่อปรับกลยุทธ์และบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการผลิตและการตลาดอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป ดังนี้

3.1 ข้าว เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งเรื่องโรค แมลงศัตรูพืช และบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ขาดน้ำในการเพาะปลูก

3.2 มันสำปะหลัง เร่งดำเนินการการชี้แจง ประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรทราบแนวทางแก้ไขและการป้องกันการระบาดของเพลี้ยแป้ง รวมทั้งจัดตั้งชุดรณรงค์ให้ความรู้ในการป้องกันและกำจัดเพลี้ยแป้งในระดับพื้นที่

3.3 สุกร ให้ความช่วยเหลือด้านวัคซีนป้องกันและควบคุมโรคระบาดในสุกรเพื่อบรรเทาภาระความสูญเสียของเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร รวมทั้งนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์พิจารณากำหนดมาตรการบริหารจัดการอุปสงค์อุปทานมิให้เกิดผลกระทบต่อระบบการผลิต/การตลาด ตลอดจนเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรผู้ประกอบการและผู้บริโภคในประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ