รายงานผลการนำเสนอแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการนำเสนอแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย (Investment Plan)

เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก Clean Technology Fund (CTF) ของธนาคารโลก

คณะรัฐมนตรีรับทราบเรื่องรายงานผลการนำเสนอแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย (Investment Plan) เพื่อขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก Clean Technology Fund (CTF) ของธนาคารโลก ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังได้รายงานความคืบหน้าในการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับการขอรับการสนับสนุนจากกองทุน CTF ของธนาคารโลก ดังนี้

1. กระทรวงการคลังได้นำส่งแผนการลงทุนเพื่อขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีคาร์บอนต่ำของประเทศไทย(Investment Plan) เพื่อขอรับการสนับสนุนจาก CTF ในวงเงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐให้คณะกรรมการฯ CTF พิจารณาเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2552

2. CTF ได้มีหนังสือเชิญกระทรวงการคลังให้นำเสนอแผนการลงทุนฯ ของประเทศไทย ในการประชุมคณะกรรมการฯ CTF วันที่ 2 ธันวาคม 2552 ผ่านทาง video conference ณ ธนาคารโลก ประจำเทศประเทศไทย

3. คณะกรรมการฯ CTF ได้มีมติเห็นชอบ (endorse) แผนการลงทุนฯ โดยมีวงเงินสนับสนุนให้แก่ประเทศไทยประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐประกอบด้วย 2 สาขาหลัก ได้แก่ สาขาพลังงาน และสาขาการขนส่ง มีวงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 4,263 ล้านเหรียญสหรัฐ ดังนี้

3.1) Clean Energy Advancement-Public Sector วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,676 ล้านเหรียญสหรัฐ

3.2) Clean Energy Advancement-Private Sector วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,320 ล้านเหรียญสหรัฐ

3.3) Urban Transformation วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 1,266.7 ล้านเหรียญสหรัฐ

4. การดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายในแผนการลงทุนฯ เป็นการสนับสนุนทางการเงินในรูปแบบการกู้ผสมระหว่างกองทุน CTF ที่มีเงื่อนไขให้เงินกู้แบบไม่มีดอกเบี้ยแต่มีค่าธรรมเนียม โดยจะเป็นการกู้ร่วมกับธนาคารโลก หรือ IFC ที่มีเงื่อนไขเงินกู้ทั่วไปของแต่ละสถาบันการเงิน ซึ่งจะทำให้มีต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำ และเงินดำเนินโครงการส่วนที่เหลือจะได้มาจากการจัดสรรเงินงบประมาณจากภาครัฐ การสมทบเงินลงทุน โดยภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะต้องศึกษาและพิจารณาเกี่ยวกับสัดส่วนของเงินลงทุนเป็นรายโครงการต่อไป

5. คณะกรรมการฯ มีข้อสังเกตว่า

5.1) โครงการลงทุนด้านพลังงานของภาครัฐบาลที่ผ่านมาประสบความสำเร็จในการดำเนินโครงการ และชื่นชมแผนการลงทุนฯ ของไทยซึ่งมีการสนับสนุนโครงการจากหน่วยงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ กรุงเทพมหานคร

5.2) แผนการลงทุนฯ ที่เสนอสามารถเปลี่ยนแปลงได้แต่หากเป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับโครงการที่บรรจุอยู่ในแผนการลงทุนฯ ต้องนำเสนอเพื่อให้คณะกรรมการฯ CTF พิจารณาอนุมัติก่อน

5.3) ประเทศไทยต้องการให้ธนาคารโลกสนับสนุนด้าน Capacity Building ซึ่งธนาคารโลกจะให้ความช่วยเหลือทางด้านวิชาการในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินโครงการ

6. แผนการลงทุนฯ เป็นเพียงกรอบการลงทุนในภาพรวมของประเทศไทย ซึ่งการพิจารณาโครงการที่จะขอรับการสนับสนุนทางการเงินจาก CTF ต้องมีการประเมินและศึกษาความพร้อมเป็นรายโครงการตามขั้นตอนปกติ และต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 แก้ไขเพิ่ม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 และระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ.2549 และนำเสนอเพื่อให้คณะกรรมการฯ CTF พิจารณาอนุมัติเป็นรายโครงการต่อไป

7. กระทรวงการคลังเห็นว่า การขอรับการสนับสนุนจาก CTF ซึ่งมีต้นทุนในการกู้เงินที่ต่ำ และมีความช่วยเหลือทางวิชาการจากธนาคารโลกเพื่อจัดเตรียมโครงการ ซึ่งหน่วยงานดำเนินโครงการจะได้ประโยชน์จากการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยเป็นการช่วยสนับสนุนการดำเนินโครงการที่ลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกของภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งเป็นปัญหาที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังให้ความสนใจและร่วมมือกันแก้ปัญหาที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้เพิ่มขึ้น ทำให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถสร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานก่อให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ในการนี้ กระทรวงการคลังจะประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดทำรายละเอียดโครงการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ