ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:54 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 1 ปี (มกราคม พ.ศ. 2553)

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 1 ปี (มกราคม พ.ศ. 2553) ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการบริหารงานของรัฐบาล เมื่อบริหารงานครบ 1 ปี (มกราคม พ.ศ. 2553) โดยสอบถามประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีประชาชนเป็นตัวอย่างทั้งสิ้น จำนวน 7,800 คน โดยเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างวันที่ 4 — 25 มกราคม 2553 ภายหลังจากที่รัฐบาลนำโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้บริหารงานครบ 1 ปี เพื่อติดตามการบริหารงานของรัฐบาล ความพึงพอใจ รวมทั้งความเชื่อมั่นต่อการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งมีสาระสำคัญจากความคิดเห็นของประชาชน ประมวลและสรุปได้ดังนี้

1. ประชาชนร้อยละ 81.5 ระบุว่าติดตามการปฏิบัติงาน/การนำเสนอผลการปฏิบัติงานของรัฐบาล (โดยผู้ติดตามฯ เป็นประจำมีร้อยละ 18.4 และติดตามฯ เป็นบางครั้งมีร้อยละ 63.1) ส่วนผู้ที่ระบุว่าไม่ได้ติดตามฯ มีร้อยละ 18.5 โดยประชาชนที่ติดตามการปฏิบัติงานดังกล่าวมีลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 82.8 ในเดือน มี.ค.52 (เมื่อรัฐบาลบริหารงานครบ 3 เดือน) เป็น ร้อยละ 81.5 ในเดือน ม.ค.53 (เมื่อรัฐบาลบริหารงานครบ 1 ปี)

สำหรับการติดตามรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” มีประชาชนร้อยละ 48.9 ระบุว่าติดตาม (โดยผู้ติดตามเป็นประจำมีร้อยละ 6.9 ติดตามเป็นบางครั้งมีร้อยละ 42.0) และมีร้อยละ 51.1 ที่ไม่ได้ติดตาม โดยประชาชนที่ติดตามรายการนี้มีเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 45.2 ในเดือน มี.ค.52 เป็นร้อยละ 48.9 ในเดือน ม.ค.53

ส่วนผู้ที่ติดตามรายการ “เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯ อภิสิทธิ์” ในเดือน ม.ค.53 ร้อยละ 37.3 ให้ข้อเสนอแนะรายการ ดังนี้ ควรปรับเพิ่มเนื้อหาสาระให้เข้มข้น (ร้อยละ 46.6) เวลาออกอากาศไม่เหมาะสม/เปลี่ยนเวลาออกอากาศเป็น 18.00 น. (ร้อยละ 20.9) และควรประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบเรื่องราวต่าง ๆ อย่างทั่วถึง (ร้อยละ 11.5) เป็นต้น

2. ประชาชนร้อยละ 77.6 เห็นว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศได้ โดยเห็นว่าแก้ไขได้ในระดับมากร้อยละ 8.0 ปานกลางร้อยละ 49.7 และน้อยกว่าร้อยละ 19.9 ส่วนผู้ที่เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ มีร้อยละ 11.9 และผู้ที่ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจมีร้อยละ 10.5 และเมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.52 ประชาชนเห็นว่าแก้ไขปัญหาได้เพิ่มขึ้น จากร้อยละ 60.6 ในเดือน มี.ค.52 เป็นร้อยละ 77.6 ในเดือน ม.ค.53

ส่วนการแก้ไขปัญหาด้านสังคมของรัฐบาล ประชาชนร้อยละ 71.5 เห็นว่าสามารถแก้ไขได้ โดยเห็นว่าแก้ไขได้ในระดับมากร้อยละ 5.8 ปานกลางร้อยละ 44.2 และน้อยร้อยละ 21.5 ส่วนผู้ที่เห็นว่ารัฐบาลไม่สามารถแก้ไขได้ มีร้อยละ 16.7 และผู้ที่ระบุว่าไม่ทราบ/ไม่แน่ใจ มีร้อยละ 11.8

3. ประชาชนร้อยละ 87.3 มีความพึงพอใจโดยรวมต่อการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากร้อยละ 13.1 ปานกลางร้อยละ 58.3 และน้อยร้อยละ 15.9 ส่วนผู้ที่ไม่พึงพอใจมีร้อยละ 8.5 และผู้ที่ไม่ทราบ/ไม่แน่ใจมีร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับเดือน มี.ค.52 ประชาชนมีความพึงพอใจฯ ลดลงจากร้อยละ 93.4 ในเดือน มี.ค.52 เป็น ร้อยละ 87.3 ในเดือน ม.ค.53

4. ประชาชนร้อยละ 86.3 ได้แสดงความคิดเห็น โดยระบุว่านโยบายที่ชื่นชอบ 5 อันดับแรก ได้แก่ การให้เบี้ยยังชีพกับผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป (ร้อยละ 59.4) การจัดการศึกษาฟรี 15 ปี (ร้อยละ 53.9) นโยบายช่วยเหลือค่าครองชีพประชาชน 5 มาตรการ (ร้อยละ 47.7) การประกันราคาพืชผลทางการเกษตร (ร้อยละ 21.4) และการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ (ร้อยละ 13.0)

5. ประชาชนร้อยละ 87.0 ได้แสดงความคิดเห็นถึงปัญหาสำคัญที่ต้องการให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขอย่างเร่งด่วน 5 อันดับแรก ได้แก่ ปัญหายาเสพติด (ร้อยละ 37.7) ปัญหาด้านเศรษฐกิจของประเทศ เช่น หนี้สิน การส่งออก (ร้อยละ 35.3) ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อย/ความแตกแยกภายในประเทศ (ร้อยละ 27.2) ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้/พื้นที่ทับซ้อน (ร้อยละ 24.3) และปัญหาการว่างงาน (ร้อยละ 16.9)

6. ประชาชนร้อยละ 33.4 ได้ให้ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะต่อการบริหารงานของรัฐบาล ดังนี้ การทำงานด้วยความตั้งใจ เป็นระบบ (ร้อยละ 30.2) การไม่เลือกปฏิบัติ/ไม่ปฏิบัติ 2 มาตรฐาน (ร้อยละ 22.5) การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ (ร้อยละ 12.6) การสร้างความสมานฉันท์ภายในประเทศ (ร้อยละ 9.6) และการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมือง (ร้อยละ 5.7) เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ