สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 14:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศมีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในเดือนมกราคม พ.ศ. 2553 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน จำนวนผู้ว่างงานลดลง 3.5 แสนคน (จาก 8.8 แสนคน เป็น 5.3 แสนคน) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2552 จำนวน ผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น 1.8 แสนคน (จาก 3.5 แสนคน เป็น 5.3 แสนคน) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจ สรุปได้ดังนี้

1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 37.80 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.04 ล้านคน ผู้ว่างงาน 5.3 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 2.3 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 5.0 แสนคน (จาก 37.30 ล้านคน เป็น 37.80 ล้านคน)

2. ผู้มีงานทำ

2.1 ผู้มีงานทำ 37.04 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 จำนวน 8.4 แสนคน (จาก 36.20 ล้านคน เป็น 37.04 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้

(1) ผู้ทำงานเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผู้ทำงานในสาขาเกษตรกรรมมากที่สุด เพิ่มขึ้น 4.4 แสนคน (จาก 12.48 ล้านคน เป็น 12.92 ล้านคน) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 2.6 แสนคน (จาก 2.62 ล้านคน เป็น 2.88 ล้านคน) สาขาการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคน (จาก 2.41 ล้านคน เป็น 2.52 ล้านคน) สาขาการศึกษา เพิ่มขึ้น 5.0 หมื่นคน (จาก 1.09 ล้านคนเป็น 1.14 ล้านคน) สาขากิจกรรมด้านอสังหาริมทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้น 5.0 หมื่นคน (จาก 0.76 ล้านคน เป็น 0.81 ล้านคน) และสาขาขายส่งขายปลีกฯ 1.0 หมื่นคน (จาก 6.08 ล้านคน เป็น 6.09 ล้านคน) ตามลำดับ

(2) ผู้ทำงานลดลง ได้แก่ สาขาการผลิต 2.3 แสนคน (จาก 5.86 ล้านคน เป็น 5.63 ล้านคน) และสาขาการขนส่งฯ 2 หมื่นคน ส่วนสาขาการผลิต เมื่อพิจารณาในสาขาย่อยมีการเพิ่มขึ้นและลดลง คือลดลงในสาขาการผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 1.8 แสนคน (จาก 1.26 ล้านคน เป็น 1.08 ล้านคน) การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน 5.4 หมื่นคน (จาก 1.59 แสนคน เป็น 1.05 แสนคน) การผลิตเครื่องแต่งกาย 3.8 หมื่นคน (จาก 7.68 แสนคน เป็น 7.30 แสนคน) การผลิตกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ 3.8 หมื่นคน (จาก 1.18 แสนคน เป็น 0.80 แสนคน) การผลิตเครื่องอุปกรณ์การขนส่งอื่น ๆ 3.1 หมื่นคน (จาก 0.63 แสนคน เป็น 0.32 แสนคน) การผลิตเครื่องจักรและอุปกรณ์ 2.9 หมื่นคน (จาก 1.66 แสนคน เป็น 1.37 แสนคน) ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตย่อยที่เพิ่มขึ้นเป็นการผลิตเฟอร์นิเจอร์ 3.8 หมื่นคน การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 3.2 หมื่นคน การผลิตยานยนต์ 3.1 หมื่นคน การผลิตสิ่งทอ 2.5 หมื่นคน ที่เหลืออยู่ในสาขาการผลิตอื่น ๆ

2.2 ผู้ทำงานได้ไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 12.67 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 34.2 ของผู้ทำงานทั้งหมด หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 (จากร้อยละ 32.6 เป็นร้อยละ 34.2 ) สำหรับผู้ทำงานได้เต็มเวลา (ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 24.37 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 65.8 ของผู้ทำงานทั้งหมด

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 5.4 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 3.5 แสนคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2552) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.15 แสนคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 4.15 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการบริการและการค้า 1.55 แสนคน ภาคการผลิต 1.51 แสนคน และภาคการเกษตรกรรม 1.09 แสนคน

3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายมากที่สุดจำนวน 1.48 แสนคน ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 1.27 แสนคน ระดับประถมศึกษาและระดับอุดมศึกษาเท่ากัน คือ 1.02 แสนคน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.1 หมื่นคน ตามลำดับ

3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 2.2 แสนคน ภาคกลาง 1.2 แสนคน ภาคเหนือ 0.9 แสนคน ภาคใต้ 0.5 แสนคน และกรุงเทพมหานคร 0.4 แสนคน หากคิดเป็นอัตราการว่างงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นภาคที่มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.9 ส่วนภาคที่มีอัตราการว่างงานต่ำสุดเป็นภาคใต้ ร้อยละ 1.0

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ