ผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM retreat) ครั้งที่ 16

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM retreat) ครั้งที่ 16 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ

ข้อเท็จจริง

ตามที่นายกรัฐมนตรีได้อนุมัติให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายอลงกรณ์ พลบุตร) เข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (AEM retreat) ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 27-28 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เมืองปุตราจายา ประเทศมาเลเซีย นั้น กระทรวงพาณิชย์ขอสรุปผลการประชุม ดังนี้

1. การติดตามการดำเนินงานด้านเศรษฐกิจของอาเซียน

1.1 การปรับปรุง AEC Scorecard

ที่ประชุมเห็นชอบให้ปรับปรุงการวัดผลตาม AEC Scorecard ในด้านการเปิดเสรีและอำนวยความสะดวกด้านการลงทุน การอำนวยความสะดวกทางการค้า การขนส่ง และบริการโลจิสติกส์

1.2 การดำเนินมาตรการตามแผนงาน AEC Blueprint

ที่ประชุมมอบให้เจ้าหน้าที่อาวุโสด้านเศรษฐกิจ เร่งรัดการดำเนินงานที่ล่าช้ากว่าเป้าหมายโดยเน้นเรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยเฉพาะเรื่องสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา นโยบายการแข่งขัน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และการเงิน

1.3 การปฏิรูปโครงสร้างและกฎระเบียบภายในอาเซียน

ที่ประชุมเห็นควรให้จัดลำดับความสำคัญของสาขาที่จะปฏิรูป โดยให้ประเทศสมาชิกระบุสาขาที่ต้องการ Capacity Building และมอบสำนักเลขาธิการอาเซียนจัดทำ Work Plan on Regulatory Reform เสนอในช่วงการประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนครั้งที่ 42 ในเดือนสิงหาคม 2553

1.4 Trade Policy Dialogue and Review (TPRD)

ที่ประชุมมอบหมายสำนักเลขาธิการอาเซียนใช้ข้อมูลที่ประเทศสมาชิกรายงานต่อ WTO จัดทำรายงานนโยบายด้านเศรษฐกิจในกรอบอาเซียนเสนอให้รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

1.5 พัฒนาการของสถาปัตยกรรมภูมิภาคและการเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

ที่ประชุมมอบให้สำนักเลขาธิการอาเซียนศึกษาและประมวลผล FTA ที่อาเซียนได้จัดทำกับประเทศคู่เจรจา เพื่อใช้กำหนดยุทธศาสตร์การเป็นศูนย์กลางของอาเซียน รวมทั้งที่ประชุมได้รับทราบการมอบหมายประเทศผู้ประสานงานในคณะทำงาน 4 คณะ (กฎถิ่นกำเนิดสินค้า การจำแนกพิกัดศุลกากร พิธีการศุลกากร และความร่วมมือทางเศรษฐกิจ) และให้เร่งจัดประชุมคณะทำงานดังกล่าวโดยเร็ว นอกจากนี้ ที่ประชุมยังรับทราบข้อเสนอของอินโดนีเซียที่ขอให้อาเซียนประชุมร่วมกัน ในช่วงการประชุมสำคัญๆ เช่น APEC ASEM WTO เพื่อสร้างท่าทีร่วม ซึ่งจะช่วยทำให้อาเซียนมีความน่าเชื่อถือในสายตาของนานาประเทศมากขึ้น

1.6 ASEAN-Gulf Cooperation Council (GCC) และ MERCOSUR

ที่ประชุมรับรองข้อเสนอแนะการประชุมคณะทำงานระดับสูงว่าด้วยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียน เริ่มแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องกฎระเบียบการค้าและการลงทุนกับ GCC และ MERCOSUR และให้สำนักเลขาธิการอาเซียนจัดสัมมนาโต๊ะกลมกับฝ่ายเลขาฯ ของ GCC ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของอาเซียนเพื่อหารือแนวทางในการร่วมมือกันต่อไป

2. การมีผลบังคับใช้ของความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน (ATIGA)

ไทยแจ้งที่ประชุมทราบว่า บรรลุข้อตกลงเรื่องข้าวกับฟิลิปปินส์แล้ว และอยู่ระหว่างการดำเนินการภายในประเทศและคาดว่าจะสามารถให้สัตยาบันความตกลง ATIGA ได้ภายในเดือนเมษายนศกนี้

3. การเปิดเสรีด้านการลงทุน (ASEAN Comprehensive Investment Area : ACIA)

เรื่องการให้สัตยาบันในความตกลง ที่ประชุมรับทราบว่า ไทยจะให้สัตยาบันเมื่อรายการข้อสงวน (Reservation List) ของสมาชิกอาเซียนทั้งหมดได้รับความเห็นชอบ ซึ่งขณะนี้เหลือเพียงรายการข้อสงวนของอินโดนีเซียประเทศเดียวที่ยังไม่ผ่านความเห็นชอบ ที่ประชุมจึงขอให้อินโดนีเซียเร่งปรับปรุงร่างข้อสงวนให้เป็นไปตามข้อความตกลง ACIA ภายในเดือนพฤษภาคม ศกนี้ เพื่อให้ความตกลงมีผลบังคับใช้ในเดือนสิงหาคม 2553 ส่วนประเด็นการ phase out รายการข้อสงวนชั่วคราว (TEL) ภายใต้ความตกลง AIA พม่าแจ้งว่าไม่สามารถ phase out การผลิตสินค้าปิโตรเลียมได้ เนื่องจากกฎหมายปัจจุบันยังไม่อนุญาต ซึ่งที่ประชุมมอบหมายให้ SEOM และ CCI ไปหารือในรายละเอียดต่อไปโดยยึดหลักการ ดังนี้

1) ACIA เป็นการขยายขอบเขตที่กว้างกว่า AIA ดังนั้นรายการข้อสงวนที่ไม่ backtrack จากข้อสงวนเดิมที่เคยผูกพันใน AIA ก็ให้ถือว่าข้อสงวนนั้นเป็นที่ยอมรับได้

2) ประเทศสมาชิกอาจได้รับการขยายเวลาในการจัดทำรายการข้อสงวน สำหรับการปรับปรุงกระบวนการภายในเพื่อให้ข้อสงวน ACIA ไม่ backtrack ไปจาก AIA

4. แถลงการณ์ของผู้นำอาเซียนในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน

ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาร่างแถลงการณ์ของผู้นำในเรื่องการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของอาเซียน โดยไทยได้แจ้งขอเพิ่มประเด็นเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์และเศรษฐกิจพอเพียง

5. อาเซียน — สหรัฐอเมริกา

ที่ประชุมได้หารือเรื่องคำเชิญของสหรัฐฯ ที่เชิญอาเซียนจัด AEM Road Show ไปยังเมืองสำคัญของสหรัฐฯ สรุปว่า จะจัดระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2553 โดยมีกำหนดเยือนวอชิงตัน ดีซี นิวยอร์กและซีแอทเทิล และขอให้แต่ละประเทศพิจารณาว่า รัฐมนตรีสามารถร่วมเดินทางด้วยหรือไม่

6. ทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนหลังปี 2015

ที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันถึงความสำคัญของการพิจารณาหาทิศทางการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของอาเซียนหลังปี 2015 และได้มอบหมายให้สำนักเลขาธิการอาเซียนรวบรวมความคิดเห็นของประเทศสมาชิกโดยให้พิจารณาแนวโน้มทางเศรษฐกิจและการเมืองประกอบเพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นสำหรับรัฐมนตรีหารือในช่วงการประชุมสุดยอดผู้นำต่อไป

7. เรื่องอื่น ๆ

7.1 เศรษฐกิจสร้างสรรค์

ที่ประชุมได้แสดงความสนใจและให้การสนับสนุนข้อเสนอของไทยที่จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม World Creative Economic forum ในเดือนธันวาคม 2553

7.2 การเปิดเสรีด้านสินค้าบริการภายใต้ ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS

ที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าในการปรับปรุงตารางข้อผูกพันชุดที่ 7 ของเวียดนามและฟิลิปปินส์ที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนมีนาคม 2553 และพฤษภาคม 2553 ตามลำดับ

7.3 ตารางการลดภาษีสินค้าปิโตรเลียมของเวียดนาม

เวียดนามรับที่จะพิจารณาปรับปรุงตารางการลดภาษีดังกล่าวให้เป็นที่ยอมรับของประเทศสมาชิกอาเซียนมากขึ้น

8. ผลการหารือทวิภาคี

8.1 ไทย-เวียดนาม

ไทยแสดงความขอบคุณเวียดนามที่ตัดสินใจไม่ใช้มาตรการปกป้องสินค้าโฟลทกลาสและแจ้งกำหนดจัดการประชุมคณะอนุกรรมการร่วมทางการค้าในเดือนพฤษภาคม 2553 รวมทั้งเสนอความร่วมมือในการสร้างถนนจากไทยผ่านลาวไปยังท่าเรือน้ำลึกของเวียดนาม และแจ้งความพร้อมที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมฉลองในโอกาสที่มหานครฮานอยครบรอบ 1,000 ปี ในปีนี้

8.2 ไทย-มาเลเซีย

ไทยได้ขอให้มาเลเซียพิจารณาปรับโควตาการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนโดยทางถนนจากไทยผ่านมาเลเซียไปสิงคโปร์ และยกประเด็นปัญหาที่ภาคเอกชนไทยร้องเรียนว่ามาเลเซียประกาศประเทศที่มีสิทธิ์มาประมูลนำเข้าน้ำตาลกับรัฐบาลมาเลเซียซึ่งไม่มีประเทศไทยรวมอยู่ด้วย รวมทั้งได้แจ้งกำหนดการประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้า (JTC) ไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 2 ในช่วงเดือนกันยายน ศกนี้ พร้อมกับเสนอจัดโครงการยุทธศาสตร์ 5-5-5 ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจที่ไทยริเริ่ม ซึ่งมาเลเซียพร้อมจะให้ความร่วมมือในเรื่องนี้เป็นอย่างดี

9. การหารือกับมุขมนตรีเมืองปีนัง

ไทยได้เสนอโครงการ ลีมอ ดาซาร์ ห้าจังหวัด ห้ารัฐและห้าสาขาเศรษฐกิจ ซึ่งมุขมนตรีเมืองปีนังแสดงความสนใจ และแจ้งว่าพร้อมจะเป็นเจ้าภาพจัดงาน Business Matching ที่ปีนังในปีหน้า

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ