ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและ OHCHR

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday April 8, 2010 15:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและ OHCHR เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ

ว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ครั้งที่ 15

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการต่างประเทศ เสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม AP Workshop ครั้งที่ 15 โดยให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลัก และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุน เพื่อให้จัดการประชุมดังกล่าวเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

2. เห็นชอบร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและ OHCHR เกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุม AP Workshop ครั้งที่ 15 ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในส่วนที่ไม่ใช่สาระสำคัญ ให้กระทรวงการต่างประเทศพิจารณาดำเนินการต่อไปได้

3. มอบหมายให้เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา เป็นผู้ลงนามร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ ในนามรัฐบาลไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศในนามของรัฐบาลไทยจะเป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (Office of the High Commissioner for Human Rights - OHCHR) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย — แปซิฟิก เพื่อการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน (Workshop on Regional Cooperation for the promotion and Protection of Human Rights in the Asia — Pacific Region — AP Workshop) ครั้งที่ 15 ระหว่างวันที่ 21 — 23 เมษายน 2553 ณ โรงแรม Bangkok Marriott Resort and Spa กรุงเทพฯ โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ภูมิหลัง

AP Workshop เป็นกลไกหนึ่งของสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชน ในการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก โดย OHCHR จะเป็นเจ้าภาพร่วมกับประเทศที่รับเป็นเจ้าภาพในแต่ละสมัย ที่ผ่านมาได้มีการจัดมาแล้ว 14 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายจัดเมื่อเดือนสิงหาคม 2550 ที่บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ส่วนไทยเคยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม ครั้งที่ 9 เมื่อปี 2544 ทั้งนี้ การประชุม AP Workshop ได้เว้นว่างมา 2 ปี เนื่องจากไม่มีประเทศใดเสนอรับเป็นเจ้าภาพ

โดยที่ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ASEAN Intergovernmental Commission on Human Rights - AICHR) ซึ่งถือเป็นกลไกสิทธิมนุษยชนในระดับภูมิภาคกลไกแรกของภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก กอปรกับในปีนี้ไทยได้สมัครเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council - HRC) ซึ่งกำหนดจะมีการเลือกตั้งที่นครนิวยอร์กในเดือนพฤษภาคม 2553 ฉะนั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงเห็นว่าเป็นจังหวะเวลาที่เหมาะสมที่ไทยจะรับเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการประชุมดังกล่าวในปีนี้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมบทบาทของไทยด้านสิทธิมนุษยชนในภูมิภาค และจะสนับสนุนการหาเสียง HRC ให้กับไทยได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะกับประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกที่ไทยไม่มีสถานเอกอัครราชทูตตั้งอยู่

2. สาระสำคัญของการประชุม

การประชุมจะเน้นใน 2 เรื่องหลัก กล่าวคือ วันแรกเน้นการหารือเกี่ยวกับความคืบหน้าการอนุวัติ Tehran Framework นับตั้งแต่การประชุมฯ ครั้งสุดท้ายที่บาหลี และวันที่สองจะเป็น การหารือในหัวข้อเฉพาะ (thematic discussion) ซึ่งในปีนี้ไทยในฐานะเจ้าภาพได้เสนอหัวข้อ “Strengthening regional human rights mechanism by sharing best practices and experiences” เพื่อเป็นการต่อยอดบทบาทของไทยในการขับเคลื่อน AICHR และเพื่อส่งเสริมให้ AICHR ให้เป็นที่รู้จักในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมากยิ่งขึ้น

3. ผู้เข้าร่วมการประชุม

ผู้เข้าร่วมการประชุมประกอบด้วยผู้แทนรัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จำนวน 51 ประเทศ คณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนจาก 15 ประเทศ ผู้แทน NGOs 20 องค์กร ผู้แทนจากกลไกสิทธิมนุษยชนของยุโรป แอฟริกา และลาตินอเมริกา ผู้แทนของ AICHR ผู้แทนองค์กรระดับภูมิภาคต่างๆ ผู้แทนจากหน่วยงานสหประชาชาติ ภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทยที่เกี่ยวข้อง รวมประมาณ 150 คน

4. สาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยกับ OHCHR

4.1 OHCHR จะรับผิดชอบการจัดเตรียมงานด้านสารัตถะ การเชิญผู้แทนจากประเทศและองค์กรต่าง ๆ เข้าร่วม รวมทั้งจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการเดินทางเข้าร่วมการประชุมให้กับผู้แทน 1 คนจากประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาค รวมทั้งค่าใช้จ่ายของผู้แทนจากองค์กรระดับภูมิภาคต่าง ๆ ส่วนรัฐบาลไทยจะรับผิดชอบการเตรียมงานด้านสถานที่จัดการประชุมและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งอำนวยความสะดวกอื่น ๆ ให้กับผู้เข้าร่วมประชุมตามอนุสัญญาว่าด้วยเอกสิทธิ์และความคุ้มกันของสหประชาชาติ (Convention on the Privileges and Immunities of the United Nations) พ.ศ. 2489 (ค.ศ. 1946) ซึ่งไทยเป็นภาคี โดยจะใช้งบประมาณของกระทรวงการต่างประเทศ

4.2 OHCHR ได้เสนอร่างหนังสือแลกเปลี่ยนระหว่างรัฐบาลไทยและ OHCHR เกี่ยวกับการจัดการประชุมดังกล่าวให้ฝ่ายไทยพิจารณา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศได้พิจารณาแล้วและไม่มีขัดข้องต่อสาระสำคัญของร่างหนังสือแลกเปลี่ยนฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ