คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ
เรื่องเดิม
คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2553 อนุมัติให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นเจ้าภาพร่วมกับสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission Secretariat: MRCS) จัดการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 (The First MRC Summit) ระหว่างวันที่ 2-5 เมษายน 2553 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ การประชุมดังกล่าวประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นการประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference) เรื่อง การบริหารจัดการน้ำข้ามพรมแดนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก ระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2553 และ ส่วนที่ 2 เป็นการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2553 ซึ่งการประชุมทั้ง 2 ส่วนดังกล่าวได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว โดยสรุปผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ได้ดังนี้
ส่วนที่ 1 การประชุมวิชาการนานาชาติ (International Conference) ระหว่างวันที่ 2-3 เมษายน 2553 เป็นการเสนอผลงานทางวิชาการของผู้แทนองค์กรลุ่มน้ำนานาชาติจากภูมิภาคต่างๆของโลกได้แก่ ทวีปเอเชีย แอฟริกา ยุโรป และลาตินอเมริกา ผู้แทนองค์กรเอกชน ภาคประชาชน และผู้แทนลุ่มน้ำภายในประเทศ ประมาณ 300 คน และมีสื่อมวลชนเข้าร่วมเสนอข่าวประมาณ 300 คน สาระสำคัญของการประชุมวิชาการที่มีลำดับความสำคัญในอาเซียนและเวทีนานาชาติ ได้แก่ ความมั่นคงด้านอาหารและการผลิตพลังงานในลุ่มน้ำข้ามพรมแดน (Towards Sustainable and Energy Production in Transboundary Basins) การปรับตัวต่อผลกระทบที่เกิดจากสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง (Adapting to Impacts of Climate Change) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ยั่งยืนของภาคเอกชน (Towards Sustainable Private Sector Infrastructure Development) และความท้าทายขององค์กรลุ่มน้ำข้ามพรมแดนท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลก (Challenges for Transboundary RBOs in the Changing World) เป็นต้น โดยผลสรุปที่ได้จากการประชุมวิชาการดังกล่าวได้นำเสนอในการประชุมระดับผู้นำเพื่อพิจารณาประกอบการกำหนดทิศทางความร่วมมือของการพัฒนาทรัพยากรน้ำในอนาคตของลุ่มน้ำโขงต่อไป
การประชุมทางวิชาการดังกล่าวได้ข้อสรุปว่า ความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับการคุ้มครองและการแบ่งปันทรัพยากรน้ำร่วมกันโดยผ่านกลไกของความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งนับเป็นความท้าทายของโลกเป็นอย่างยิ่งเนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรทำให้ความต้องการใช้น้ำเพื่อผลิตอาหารและพลังงานเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การขยายตัวของเมืองทำให้พื้นที่ที่ใช้ในผลิตทางการเกษตรและการผลิตเพื่อพลังงานลดลงเช่นกัน ดังนั้น คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission: MRC) ซึ่งมีบทบาทในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในทุกๆมิติ จึงเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับองค์กรลุ่มน้ำต่างๆ ทั่วโลก และในขณะเดียวกัน MRC ก็ต้องเรียนรู้จาก ลุ่มน้ำอื่นๆ เช่นกัน ซึ่งรายละเอียดผลการประชุมวิชาการ
ส่วนที่ 2 การประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขง ระหว่างวันที่ 4-5 เมษายน 2553 เป็นการประชุมระดับผู้นำของประเทศภาคีสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง 4 ประเทศ ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรไทย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม รวมทั้งประเทศคู่เจรจา (Dialogue Partners) ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สหภาพพม่า และผู้แทนระดับสูงของหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา (Development Partners) โดยนายกรัฐมนตรีไทยได้ขอให้ที่ประชุม ตระหนักถึงปัญหาที่ประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงประสบนั้นมีความซับซ้อนมากขึ้น และไม่สามารถคาดเดาเหมือนกับในอดีตที่ผ่านมาได้ เช่น ปัญหาจากการใช้น้ำที่ไม่ใช่วิถีทางแห่งความยั่งยืน และปัญหาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่รุนแรง เช่น อุทกภัย วิกฤตภัยแล้ง และปัญหาหมอกควัน ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือในทุกวิถีทาง ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารและองค์ความรู้ ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศในลุ่มน้ำโขง เพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหาความยากจนในภูมิภาคโดยเชิญชวนประเทศในลุ่มน้ำโขงตอนบนให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับ MRC และการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนของภูมิภาค และการขยายขอบข่ายความร่วมมือกับ ASEAN และ GMS
ราชอาณาจักรกัมพูชาจะให้ความร่วมมือกับทุกประเทศในลุ่มน้ำโขงเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา สิ่งแวดล้อม การคุ้มครองและรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ และให้การสนับสนุนการดำเนินงานของ MRC ตามแผนยุทธศาสตร์ เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ขององค์กร สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว จะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง สิ่งแวดล้อม และ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในขณะที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ให้ความสำคัญด้านการจัดทำยุทธศาสตร์แบบบูรณาการเพื่อเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมกับเสนอให้มีกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศต้นน้ำและท้ายน้ำ นอกจากนี้ ควรสร้างความร่วมมือระหว่าง MRC กับกรอบ ความร่วมมืออื่นๆ เช่น ASEAN และ GMS และได้ขอให้นายกรัฐมนตรีของไทยรายงานผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 1 ต่อที่ประชุม ASEAN Summit ครั้งที่ 16 ณ กรุงฮานอย สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม
สาธารณรัฐประชาชนจีนได้แสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านอุตุ-อุทกวิทยา เพื่อแก้ไขปัญหาความแห้งแล้งของภูมิภาค และแลกเปลี่ยนประสบการณ์การบริหารจัดการน้ำ พร้อมเสนอแนะให้เพิ่มความร่วมมือด้านการเดินเรือ เกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งจัดการฝึกอบรมบุคลากร การพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำด้วยการส่งคณะผู้แทนเข้าร่วมศึกษาดูงานเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน สหภาพพม่าแสดงเจตนารมณ์ที่จะให้ความร่วมมือกับ MRC และพร้อมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ และสนับสนุนการจัดตั้งศูนย์ประสานงานด้านข้อมูลข่าวสาร
กลุ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา แสดงความห่วงใยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำในลุ่มน้ำโขง จึงขอให้ประเทศในลุ่มน้ำได้ตระหนักถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นโดยขอให้มีการศึกษา และวางแผนอย่างรัดกุม ด้วยการใช้หลักการบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ ที่คำนึงถึงผลกระทบสิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐกิจ รวมทั้งการติดตามตรวจสอบน้ำทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ นอกจากนี้ หัวหน้าผู้บริหารองค์กร (Chief Executive Officer: CEO) จะต้องมีความเป็นผู้นำที่เข้มแข็งและมาจากกระบวนการคัดเลือกที่โปร่งใส ทั้งนี้ กลุ่มหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนายินดีที่จะให้การสนับสนุน MRC ต่อไป
จากนั้น ผู้นำประเทศภาคีสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่างทั้ง 4 ประเทศ ได้รับรองปฏิญญาหัวหิน ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC Hua Hin Declaration) ซึ่งเป็นการแสดงความมุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันพัฒนาลุ่มน้ำต่อไป เพื่อให้การใช้น้ำ และทรัพยากรที่เกี่ยวข้องเกิดประโยชน์สูงสุด เป็นประโยชน์ร่วมกันสำหรับทุกประเทศริมฝั่งน้ำ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 7 เมษายน 2553--จบ--