กรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด พ.ศ. 2554-2559

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 14:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมุติในหลักการตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. กรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559 รวมระยะเวลา 6 ปี เป็นวงเงิน 19,580.8 ล้านบาท จำนวน 933 โครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นวงเงิน 4,436.9 ล้านบาท จำนวน 202 โครงการ ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555-2559 รวมระยะเวลา 5 ปี เป็นวงเงิน 15,143.9 ล้านบาท จำนวน 731 โครงการ โดยเป็นโครงการที่มีความสำคัญต้องดำเนินการเร่งด่วนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เป็นวงเงิน 2,490.5 ล้านบาท จำนวน 31 โครงการ

2. ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมโดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเป็นหน่วยงานรับผิดชอบประสานการดำเนินงานให้เป็นไปตามกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการ กัดเซาะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559

3. ให้สำนักงบประมาณพิจารณาดำเนินการจัดสรรงบประมาณให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะในพื้นที่จังหวัดชายฝั่งทะเล 23 จังหวัดปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานว่า

1. ประเทศไทยซึ่งมีชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 2,815 กิโลเมตร แบ่งออกเป็นชายฝั่งทะเลด้านอ้าวไทยความยาว 1,801 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัดและชายฝั่งทะเลด้านอันดามัน ความยาว 1,014 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัดมีชุมชนเมืองหนาแน่นเป็นที่อยู่อาศัยของประชากรกว่า 12 ล้านบาท และเป็นแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ อาทิ การเกษตรกรรม การเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การประมงชายฝั่ง การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมรวมทั้งเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง

2. จากข้อมูลพบว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลถูกกัดเซาะ 155 แห่ง ระยะทาง 600 กิโลเมตร โดยอยู่ในฝั่งอ่าวไทย 112 แห่ง ระยะทาง 490 กิโลเมตร และอยู่ในฝั่งอันดามัน 43 แห่ง ระยะทาง 110 กิโลเมตร ซึ่งบริเวณที่มีอัตราการกัดเซาะรุนแรง (เฉลี่ยมากกว่า 5 เมตรต่อปี) อยู่ใน 12 จังหวัด คือ จังหวัดจันทบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฏร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส (ระยะทางประมาณ 180 กิโลเมตร) และบริเวณที่มีอัตราการกัดเซาะปานกลาง (เฉลี่ย 1-5 เมตรต่อปี) อยู่ใน 14 จังหวัด คือจังหวัดตราด จันทบุรี ชลบุรี ระยอง สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และนราธิวาส (ระยะทางประมาณ 305 กิโลเมตร) ทั้งนี้ พื้นที่วิกฤตอยู่ในชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน 5 จังหวัด คือ จังหวัดสมุทรสงคราม สมุทรสาคร กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และฉะเชิงเทรา

การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันโดยทั่วไปเกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทย โดยมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงในพื้นที่ 5 จังหวัด คือ จังหวัดระนอง ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และสตูล (ระยะทางประมาณ 23 กิโลเมตร)

3. แนวโน้มสถานการณ์ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในพื้นที่ 23 จังหวัด ทั้งทะเลโคลน หาดโคลน หาดเลน และหาดทราย มีอัตราความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทั้งจากการกระทำของมนุษย์และการเปลี่ยนแปลงสภาพคลื่นลมที่รุนแรงขึ้นอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินริมชายฝั่งทะเลที่ไม่เหมาะสมกับศักยภาพตามธรรมชาติทั้งทางกายภาพและชีวภาพ ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลนอกจากจะส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตของชุมชนทำให้เกิดความสูญเสียวิถีชีวิตและวัฒนธรรม ประเพณีดั้งเดิมของชุมชนชายฝั่งและยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั้งในระดับชุมชนและในระดับประเทศ รวมทั้งพื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญต่อระบบ นิเวศ การถมหิน ดินลูกรัง ทราย การสร้างกำแพงป้องกันคลื่น การจัดวางแนวปะการังเทียมโดยวัสดุประเภทต่าง ๆ ในลักษณะเป็นจุด หรือเป็นแนวภายในเขต 3,000 เมตร จากชายฝั่งทะเลล้วนก่อให้เกิดความเสียสมดุลของระบบนิเวศธรรมชาติทั้งสิ้น และยังทำให้ตะกอนที่เกิดการกัดเซาะเคลื่อนย้ายไปทับถมในพื้นที่ชายฝั่งใกล้เคียง ทำให้รัฐต้องสูญเสียงบประมาณในการขุดลอกเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวเป็นจำนวนมาก

4. การแก้ไขการกัดเซาะชายฝั่งปัจจุบันยังขาดการบูรณาการในเรื่องของพื้นที่ งบประมาณ และหลักวิชาการส่งผลให้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในหลายพื้นที่อยู่ในระดับวิกฤติ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

5. การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลของประเทศเป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการ บูรณาการระหว่างหน่วยงานวิชาการ หน่วยงานปฏิบัติที่กำกับดูแลการอนุญาต ควบคุม และใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรงบประมาณและหน่วยงานติดตามตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณเพื่อให้การดำเนินการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่าการลงทุน

6. กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “สู้วิกฤติการกัดเซาะชายฝั่งทะเลและเตรียมรับมือภัยคุกคามจากภาวะโลกร้อน” เมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 โดยมีผู้แทนจากจังหวัด องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลนคร เทศบาลเมือง เทศบาลตำบล และองค์การบริหารส่วนตำบล ประชาชนและชุมชนในพื้นที่ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และสถาบันการเงินที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันระดมสมอง และความเห็นจัดทำ “ร่างกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559” ต่อมาได้นำ “ร่างกรอบแผนบูรณาการงบประมาณการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554-2559” ไปบูรณาการกับแผนงาน/โครงการและงบประมาณที่เกี่ยวข้องกับการจัดการและป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลภายใต้แผนปฏิบัติการจัดการและป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลเชิงบูรณาการและแผนการดำเนินการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2554-2559) รวมทั้งแผนหลักและแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลในระดับพื้นที่ (ภาคตะวันออก อ่าวไทยตอนบน และอ่าวไทยตอนล่าง)

7. สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้รับทราบปัญหาว่ามีการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งโดยการเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่จนอาจก่อผลกระทบต่อชุมชนและระบบนิเวศ ตลอดจนปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลที่ทวีความรุนแรงขึ้น และมีความเห็นว่าปัญหาดังกล่าวเป็นกลุ่มปัญหาร่วมที่มีสาเหตุมาจากการใช้ประโยชน์และการดำเนินการแก้ไขปัญหาพื้นที่ชายฝั่งทะเลที่ไม่ยั่งยืนขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไข

8. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้รายงานผลการตรวจสอบสิ่งแวดล้อมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล ทส. โดยเร่งรัดให้หน่วยงานในสังกัด ทส. ที่รับผิดชอบดำเนินการแปลงแผนยุทธศาสตร์การจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยแสดงให้เห็นถึงแผนการดำเนินการในระยะยาวตามยุทธศาสตร์ฯ เพื่อให้บรรลุผลตามเป้าหมายที่มีระยะเวลา 20 ปี และดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติราชการ 4 ปี โดยระบุเป้าหมายและผลสัมฤทธิ์ของงานให้ชัดเจน เพื่อให้ทราบถึงทรัพยากรที่ต้องใช้ในการดำเนินงานภายใต้ยุทธศาสตร์ฯ ดังกล่าวและการจัดสรรงบประมาณเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ