การรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองในประเทศ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 15:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานผลกระทบทางเศรษฐกิจสืบเนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองในประเทศตามที่สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์เสนอ

ตามที่ได้เกิดภาวะความไม่สงบทางการเมืองในประเทศตั้งแต่วันที่ 12 มีนาคม 2553 จนถึงปัจจุบัน และส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในพื้นที่ต่างๆ ที่มีการชุมนุม นั้น

กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าอย่างใกล้ชิด และรายงานสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในส่วนที่เกี่ยวข้องดังนี้

ณ ปัจจุบัน ผลกระทบทางเศรษฐกิจจากสถานการณ์ไม่สงบทางการเมืองจากต่างประเทศมีอยู่บ้าง แต่เป็นผลกระทบเฉพาะจุด ซึ่งขณะนี้ ในแง่การค้าระหว่างประเทศ การเข้าร่วมแสดงสินค้า เริ่มมีสัญญาณที่ไม่ดี และเริ่มกระทบต่อความเชื่อมั่น ซึ่งหากปล่อยให้นานไป จะมีผลกระทบระยะยาว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้เฝ้าติดตามต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับสถานการณ์เศรษฐกิจการค้าของประเทศในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 กระทรวงพาณิชย์ใคร่ขอเรียนให้ทราบ ดังนี้

1. ผลกระทบต่อธุรกิจค้าปลีกในบริเวณการชุมนุม คาดว่าจะมียอดความเสียหายประมาณวันละ 300 ล้านบาท และมากกว่านี้หากการชุมนุมกระจายไปยังแหล่งชุมนุมย่านธุรกิจอื่น

2. ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าภาพรวมของประเทศ

2.1 ความเชื่อมั่นของนักธุรกิจ

กระทรวงพาณิชย์ได้ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของนักธุรกิจและผู้ประกอบการทั่วประเทศต่อภาวะเศรษฐกิจ ของประเทศในเดือนเมษายน ช่วงที่มีความไม่สงบทางการเมือง พบว่า ดัชนีคาดการณ์ภาวะธุรกิจในช่วงเมย.-มิย. 2553 มีค่า 58.2 ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับสูง แสดงว่านักธุรกิจยังมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

2.2 คำสั่งซื้อจากต่างประเทศ

ดัชนีราคาส่งออกเดือนมค.-มีค. 2553 สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 12.1 และดัชนีราคานำเข้าเดือน มค.- มีค. 2553 สูงขึ้นกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 11.0 เนื่องจากสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง

2.3 การส่งออก

กระทรวงพาณิชย์จะสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 14 ตามเป้าหมาย ภายใต้เงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐที่ 1 เหรียญต่อ 33 บาท

3. ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าภายในประเทศ

3.1 สถานการณ์สินค้าในภาพรวม ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคยังจำหน่ายในราคาปกติ ยกเว้นสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาล เช่น ข้าวสาร เนื้อหมู ไข่ไก่ และมะนาว เป็นต้น ปริมาณสินค้าพอเพียงต่อความต้องการ ไม่ขาดแคลน รวมทั้งประชาชนไม่มีความตื่นตระหนกหรือวิตกกังวลจึงไม่มีการกักตุนสินค้าหรือปฏิเสธการจำหน่าย ทั้งนี้ มีการสั่งให้ตรึงราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสำคัญจำนวน 300 รายการต่อไปอีก 3 เดือน

3.2 ทิศทางการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังเพิ่มขึ้น เห็นได้จากสถิติการจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจในช่วงเดือนมีนาคม 2553 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2552 ถึงร้อยละ 30 และเพิ่มจากเดือนกุมภาพันธ์ ปีเดียวกัน ร้อยละ 5 นอกจากนี้ การจดทะเบียนเพิ่มทุนยังมีเพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ ถึงร้อยละ 32 คิดเป็นมูลค่าเพิ่มขึ้นประมาณ 11,042 ล้านบาท โดยร้อยละ 20 เป็นของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

4. ผลกระทบเศรษฐกิจการค้าต่างประเทศ

4.1 การชุมนุมทางการเมืองในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของประเทศในระยะสั้น-กลาง รวมถึงทำให้นักธุรกิจต่างชาติเกิดความกังวลในการทำธุรกิจการค้ากับประเทศไทย อย่างไรก็ดี ในระยะสั้นการส่งออกจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก โดยช่วง มค.-กพ. 2553 มูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 28,127.3 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาร้อยละ 26.78 และคาดว่า ปี 2553 กระทรวงพาณิชย์จะสามารถผลักดันการส่งออกให้ขยายตัวจากปี 2552 ร้อยละ 14 ตามเป้าหมาย ภายใต้เงื่อนไขอัตราแลกเปลี่ยนเงินเหรียญสหรัฐที่ 1 เหรียญต่อ 33 บาท

4.2 กระทรวงพาณิชย์ได้เร่งดำเนินมาตรการเพื่อเร่งผลักดันการส่งออกต่างๆ ดังนี้

4.2.1 การอำนวยความสะดวกด้านเอกสารสำคัญด้านการส่งออกนำเข้า ผู้ประกอบการนำเข้าส่งออกยังคงมาใช้บริการ โดยในช่วงตั้งแต่ 14 มีค.- 12 เมย. 2553 กระทรวงพาณิชย์ได้ออกเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า หนังสือรับรอง และใบอนุญาตการส่งออกนำเข้าทัวไป รวมทั้งสิ้น 65,037 ฉบับ เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ร้อยละ 13.33 แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ทางการเมืองปัจุบันยังไม่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าส่งออก

4.2.2 การจัดคณะผู้แทนการค้าเยือนต่างประเทศ (Out-going mission)

4.2.3 การจัดงานแสดงสินค้านานาชาติในประเทศและต่างประเทศตามแผนงานเดิมที่กำหนดไว้ในช่วงเดือนเมษายน 2553 จำนวน 6 งาน

4.2.4 ได้กำชับสำนักงานพาณิชย์การค้าในต่างประเทศให้ติดต่อลูกค้าอย่างต่อเนื่องและทำความเข้าใจกับลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

4.2.5 การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและประสานงานในสถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง โดยจัดประชุมหารือกับภาคเอกชนไทยและต่างประเทศเพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และสร้างความเชื่อมั่นทางการค้าแก่ผู้ประกอบการทุกสาขา เพื่อผลักดันการส่งออกให้เป็นไปตามเป้าหมาย

5. มาตรการดำเนินการแก้ไขปัญหาของกระทรวงพาณิชย์

5.1 กระทรวงพาณิชย์เชื่อมั่นว่าภายใต้ยุทธศาสตร์การค้าของกระทรวงฯ ซึ่งเน้นในเรื่องการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดมหกรรมการกระตุ้นเศรษฐกิจ 4 ภาค การจัดงานธงฟ้า และการดูแลเสถียรภาพราคาสินค้า และยังคงทำให้มีความเชื่อมั่นในการบริโภคทั้งในระยะสั้นและระยะกลาง และแม้สถานการณ์การชุมนุมจะยุติแล้ว กระทรวงพาณิชย์ก็ยังคงจะจัดงานกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องต่อไป

5.2 มาตรการตรวจสอบ กระทรวงพาณิชย์ได้ส่งเจ้าหน้าที่ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคติดตามตรวจสอบสภาวะราคาและปริมาณสินค้าทุกวัน เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบ หรือกักตุนสินค้าในช่วง สถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง นอกจากนี้ ยังเปิดสายด่วนรับการร้องเรียนเกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมด้านราคา จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการร้องเรียน

5.3 มาตรการช่วยลดภาระค่าครองชีพและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนผู้บริโภค โดยการจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพและสินค้าเกษตร เพื่อเป็นทางเลือกในการซื้อสินค้าให้กับประชาชนและช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องถึงแม้ว่าจะมีสถานการณ์ไม่สงบทางการเมือง

5.4 สำหรับการให้บริการและการเตรียมการรับสถานการณ์ที่ไม่คาดหมาย กระทรวงพาณิชย์เปิดให้บริการในทุกหน่วยงานบริการทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างเต็มที่ และเตรียมแผนรองรับความพร้อมเพื่อให้สามารถให้บริการอย่างต่อเนื่องและทดแทนซึ่งกันและกันในหน่วยงานใกล้เคียงหากเกิดเหตุการณ์ไม่คาดหมายจนทำให้บางหน่วยงานไม่สามารถเปิดให้บริหารได้

5.5 การสร้างความมั่นใจในศักยภาพการผลิต และสนับสนุนการใช้สินค้า/วัตถุดิบภายในประเทศ เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยเน้นที่กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs)

5.6 การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จาก AFTA และการดำเนินการเจรจาระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่องตามแผนการเจรจาการค้าระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ภายใต้ความตกลงต่างๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันให้กับประเทศไทย และ

5.7 การผลักดันให้มีการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนให้ได้ 1 ล้านล้านบาท ภายในปี 2555

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์จะได้ดำเนินการเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และรายงานความคืบหน้าต่าง ๆ ให้ทราบอย่างต่อเนื่อง

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ