แนวทางการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำในจังหวัดภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำในจังหวัดภาคใต้ ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. การรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกร กรณีเกษตรกรมีผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่มากกว่าที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำหนดไว้ ขอให้เกษตรกรสามารถจำหน่ายผลผลิตส่วนเกินได้ทั้งหมด โดยให้กำนัน/ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่นั้นรับรองผลผลิตส่วนเกินดังกล่าว

2. เพื่อบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกร และแก้ไขอุปสรรคการกระจุกตัวของปริมาณข้าวที่เกษตรกรนำมาจำหน่ายตามราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงของรัฐบาลที่จุดรับซื้อ จึงเห็นควรเพิ่มโอกาสให้เกษตรกรในการจำหน่ายข้าวเปลือกโดยให้โรงสีในจังหวัดภาคใต้รับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาเกณฑ์กลางอ้างอิง โดยใช้เงินทุนของโรงสีซึ่งเป็นกลไกตลาดตามปกติโดยรัฐบาลให้การสนับสนุนในส่วนของค่าขนส่งตันละ 600 บาทอันเป็นหลักการเดียวกันกับการตั้งโต๊ะรับซื้อของรัฐบาลในภาคใต้ภายในกรอบวงเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 860 ล้านบาทที่ได้รับอนุมัติไว้แล้ว

3. ส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพของโรงสีภาคใต้ โดยมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดหาเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำ เพื่อให้โรงสีและตลาดกลางกู้ยืมเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิตเพื่อรองรับผลผลิตในพื้นที่ภาคใต้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. เพิ่มช่องทางการระบายจำหน่ายข้าวสารออกไปทางภาคใต้ของประเทศ เห็นควรมอบหมายกระทรวงการต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจากับประเทศมาเลเซียเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งผ่านแดนไปยังสิงคโปร์และอินโดนีเซีย ซึ่งจะทำให้ลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการขนส่งและแก้ไขปัญหาด้านราคาข้าวในภาคใต้ได้อย่างยั่งยืน

5. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองประธาน กขช.และประธานอนุกรรมการ กขช.ด้านการตลาดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการตั้งโต๊ะรับซื้อข้าวเปลือกภายใต้กรอบวงเงินไม่เกินไปกว่าที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติและรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้ กรณีปัญหาผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ เห็นควรมอบหมายกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีให้จัดระบบการประกันรายได้อย่างยั่งยืนและเป็นระบบ รับมาพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพาณิชย์รายงานว่า

1. การแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำในจังหวัดสงขลา ได้ดำเนินการดังนี้

1.1 องค์การคลังสินค้า (อคส.) ได้เปิดจุดรับซื้อแทรกแซงตลาดที่อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันที่ 2 เมษายน 2553 จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ (1) โรงสีชาติโชคชัย ต.บ้านใหม่ (2) โรงสีประยูรพงษ์พานิช ต.บ้านใหม่ (3) สหกรณ์การเกษตรระโนด จำกัด ต.ตะเครียะ (4) โรงสีโชคภักดี ต.คลองแดน โดยมีโรงสีในจังหวัดภาคกลางแจ้งความจำนงรับซื้อข้าวจากจังหวัดสงขลา รวม 14 แห่ง

1.2 ผลการรับซื้อข้าวเปลือก ซึ่งเริ่มรับซื้อตั้งแต่วันที่ 2-4 เมษายน 2553 มีปริมาณข้าวเปลือกรวม 2,521.22 ตัน ส่งไปยังโรงสี 5 ราย รวม 1,747.28 ตัน คงเหลือ 773,940 ตัน ซึ่งจะต้องขนส่งมายังโรงสีภาคกลางต่อไป

1.3 อุปสรรคในการดำเนินงาน

(1) ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ตามหลักเกณฑ์กำหนดของจังหวัดสงขลาที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว คือ 490 กก./ไร่ (ณ ความชื้น 15%) ไม่สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเขต 9 ที่รายงานว่า ในช่วงข้าวออกสู่ตลาดเดือนมีนาคม-พฤษภาคม 2553 อัตราผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ ประมาณ 650 กก./ไร่ ส่งผลให้เกษตรกรมีผลผลิตที่นำมาจำหน่าย ณ จุดที่ อคส.รับซื้อเกินกว่าเกณฑ์คำนวณที่รัฐบาลกำหนดให้รับซื้อได้

(2) ภาวะการค้าปกติชะลอตัว เนื่องจากราคารับซื้อตามเกณฑ์กลางอ้างอิงสูงกว่าราคาตลาดที่โรงสีในพื้นที่รับซื้อข้าวเปลือกถึงตันละ 500-800 บาท ส่งผลให้เกษตรกรในจังหวัดสงขลาและใกล้เคียงนำข้าวเปลือกมาขายให้แก่ อคส.ที่ตั้งโต๊ะรับซื้อ ส่งผลกระทบต่อโรงสีในพื้นที่ไม่สามารถรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรได้ซึ่งกระทบต่อธุรกิจการค้าปกติของโรงสีในพื้นที่ที่เป็นโรงสีขนาดเล็ก

(3) ปริมาณข้าวกระจุกตัว ณ จุดตั้งโต๊ะรับซื้อ ทำให้การระบายข้าวสู่จังหวัดปลายทางล่าช้าส่งผลให้รถขนส่งรอคิวเป็นเวลานาน ประกอบกับสถานที่รับซื้อคับแคบเกษตรกรมีการนำข้าวมาจำหน่ายอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยประมาณจุดละ 300-400 ตัน/วัน ต้องใช้รถบรรทุกประมาณ 25 คัน/วัน/จุด ประกอบกับการขนถ่ายข้าวไปสู่จังหวัดปลายทางที่รับซื้อใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน ส่งผลให้ข้าวที่รับซื้อเสื่อมคุณภาพมีผลต่อราคาจำหน่าย

(4) กรมการขนส่งทางบกได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการขนส่งหลีกเลี่ยงการใช้รถบรรทุกในช่วงวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ ระหว่างวันที่ 9-18 เมษายน 2553 ส่งผลให้ข้าวที่ อคส.รับซื้อตกค้างที่จุดรับซื้อมีผลต่อคุณภาพข้าว

(5) เนื่องจากจุดรับซื้อมีจำกัดเพียง 4 จุด เกษตรกรต้องรอคิวที่จะขายจึงไม่เก็บเกี่ยวข้าวในระยะเวลาที่ควรส่งผลให้ข้าวกรอบ คุณภาพลดลงมีผลต่อราคาที่จำหน่ายให้โรงสีปลายทางที่ร่วมโครงการ

2. โครงสร้างการค้าข้าวในจังหวัดภาคใต้ แหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญมี 3 จังหวัดได้แก่ พัทลุง นครศรีธรรมราชและสงขลา มีโรงสีรวม 89 โรง ส่วนใหญ่เป็นโรงสีขนาดเล็ก-กลาง (มีกำลังการผลิตระหว่าง 5-40 ตัน/24 ชม.) ซึ่งต่างจากภาคกลางที่เป็นโรงสีขนาดใหญ่และใหญ่มาก (มีกำลังการผลิตระหว่าง 500-1,000 ตัน/24ชม.) นอกจากนี้ประสิทธิภาพโรงสียังคงต้องการการพัฒนาเพื่อให้สอดคล้องกับประสิทธิภาพการผลิตที่มากขึ้นอันเป็นผลมาจากนโยบายการเร่งรัดพัฒนาภาคใต้ของรัฐบาล

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ