คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ เสนอ ดังนี้
1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) ครั้งที่ 1/2553
2. เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 ในส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนกรรมการจาก ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ปรับเปลี่ยนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจาก เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เป็น เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ปรับเปลี่ยนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจาก อธิบดีกรมผังเมือง เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และ (4) ยกเลิกตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการ จากองค์ประกอบของคณะกรรมการ
3. มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กศร. ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของวงเงินที่เพิ่มขึ้น และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการขอขยายกรอบวงเงินงบประมาณลงทุนโครงการ ทั้งในส่วนงานที่หน่วยงานต้องตั้งงบประมาณคืนให้ ธพส. จำนวน 1,195.95 ล้านบาท และในส่วนงานที่ ธพส. ดำเนินการ จำนวน 1,218.62 ล้านบาท รวมทั้ง ให้ประสานกับหน่วยงานที่ต้องตั้งงบประมาณคืนให้แก่ ธพส. เพื่อยืนยันการอนุมัติวงเงินงบประมาณดังกล่าว และนำเสนอให้คณะกรรมการ กศร. พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
4. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโครงการศูนย์ราชการฯ ดังนี้
4.1 ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อโครงการศูนย์ราชการฯ กับโครงข่ายถนนรอบนอกในส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
4.2 เร่งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วน และผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในพื้นที่โดยรอบโครงการศูนย์ราชการฯ ต่อไป
5. เห็นชอบการปรับแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จากโครงการต่อเติมปรับปรุงศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์บริเวณศาลากลางเดิม เป็นโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์แห่งใหม่ บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่คณะอนุกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาคเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่ คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ (กศร.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา 14.00 น. ณ ห้องประชุม 501 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล นั้น สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการขอสรุปผลการประชุมคณะกรรมการ กศร. ดังนี้
1. การปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 ในส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการ สศช. ได้เสนอเรื่องการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 ให้คณะกรรมการ กศร. พิจารณา สรุปได้ ดังนี้
1.1 สาระสำคัญ
1.1.1 ตามข้อ 7 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 ได้กำหนดให้มีคณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ ซึ่งประกอบด้วย นายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายเป็นประธานกรรมการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ อธิบดีกรมธนารักษ์ อธิบดีกรมโยธาธิการ อธิบดีกรมที่ดิน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินห้าท่านซึ่งคณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง เป็นกรรมการ โดยให้เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม อธิบดีกรมผังเมือง และเจ้าหน้าที่ สศช. ที่ได้รับมอบหมาย เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ
1.1.2 พระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 ได้กำหนดให้มีการปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ส่งผลให้ตำแหน่งกรรมการที่ระบุไว้ในระเบียบฯ เปลี่ยนแปลงไปจำนวน 4 ตำแหน่ง ได้แก่ 1) ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม (กรรมการ) 2) อธิบดีกรมโยธาธิการ (กรรมการ) 3) เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ) 4) อธิบดีกรมผังเมือง (กรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ)
1.2 มติที่ประชุม กศร.
เห็นชอบการปรับปรุงระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ พ.ศ. 2539 ในส่วนองค์ประกอบคณะกรรมการฯ และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยให้ปรับเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการฯ รวมทั้งสิ้น 4 ตำแหน่ง ได้แก่ (1) ปรับเปลี่ยนกรรมการจาก ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม เป็น ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (2) ปรับเปลี่ยนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจาก เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม เป็น เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ปรับเปลี่ยนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการจาก อธิบดีกรมผังเมือง เป็นอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง และ (4) ยกเลิกตำแหน่งอธิบดีกรมโยธาธิการ จากองค์ประกอบของคณะกรรมการ
2. การดำเนินโครงการศูนย์ราชการในที่ดินราชพัสดุ ถนนแจ้งวัฒนะ และขอขยายกรอบวงเงินงบประมาณลงทุนโครงการฯ
สศช. ได้รายงานเรื่องการดำเนินโครงการศูนย์ราชการในที่ดินราชพัสดุ ถนนแจ้งวัฒนะฯ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง ให้คณะกรรมการ กศร. พิจารณา สรุปได้ ดังนี้
2.1 สาระสำคัญ
2.1.1 ความเป็นมา วันที่ 25 พฤษภาคม 2547 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติตามมติ
คณะกรรมการอำนวยการจัดระบบศูนย์ราชการ ครั้งที่ 2/2547 เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2547 กระทรวงการคลังจัดตั้งบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจ ทำหน้าที่ก่อสร้างและบริหารโครงการศูนย์ราชการในที่ดินราชพัสดุบริเวณแจ้งวัฒนะ และให้กรมธนารักษ์กำกับดูแลและจัดตั้งงบประมาณเพื่อชำระค่าเช่าพื้นที่ ค่าเฟอร์นิเจอร์แทนทุกหน่วยงานในโครงการ โดยให้ ธพส. ระดมทุนผ่านนิติบุคคลเฉพาะกิจ จำนวน 24,000 ล้านบาท เพื่อใช้จ่ายในการดำเนินโครงการฯ รวมทั้งเห็นชอบการจัดสรรพื้นที่ในศูนย์ราชการให้แก่ 29 หน่วยงาน พื้นที่ใช้สอย 460,000 ตรม. รวมพื้นที่ก่อสร้าง 929,800 ตรม. มูลค่าก่อสร้างรวมทั้งโครงการ 19,016 ล้านบาท ซึ่งการจัดสรรพื้นที่ดังกล่าว กรมธนารักษ์สามารถยืดหยุ่นได้ตามความเหมาะสม
2.1.2 สรุปผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ราชการฯ ณ เดือนตุลาคม 2552
1) ความก้าวหน้าในการก่อสร้างประมาณร้อยละ 98 ของงานทั้งหมด มีพื้นที่ก่อสร้างอาคารรวม 1,039,250 ตร.ม. และพื้นที่ใช้สอยรวม 484,000 ตร.ม. โดยสูงกว่าเป้าหมายเดิม ซึ่งเป็นผลจากการปรับปรุงและจัดสรรพื้นที่ให้หน่วยงานและพื้นที่ส่วนกลางให้เพียงพอ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2547 ที่ให้กรมธนารักษ์สามารถยืดหยุ่นในการจัดสรรพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 20,594.86 ล้านบาท สูงกว่ากรอบวงเงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติไว้ที่ 19,016.00 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน1,578.86 ล้านบาท
2) ธพส. ได้ส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานย้ายเข้าแล้ว จำนวน 22 หน่วยงาน รวมพื้นที่ใช้สอย 414,270 ตรม. คิดเป็นร้อยละ 85.59 ของพื้นที่ทั้งหมด โดยมีหน่วยงานที่อยู่ระหว่างเคลื่อนย้าย 6 หน่วยงาน และอยู่ระหว่างตกแต่งพิเศษเพิ่มเติม 1 หน่วยงาน
3) การก่อสร้างมีความล่าช้ากว่าเป้าหมาย ซึ่งเดิมกำหนดเป้าหมายการส่งมอบพื้นที่ให้หน่วยงานเข้าใช้ประโยชน์ในเดือนกรกฎาคม 2551 แต่ในระหว่างดำเนินโครงการประสบปัญหาอุปสรรคหลายประการ ทำให้ต้องเลื่อนการส่งมอบพื้นที่เป็นเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งสาเหตุสำคัญ ได้แก่ การปฏิบัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2549 การขยายระยะเวลาสัญญางานก่อสร้างออกไปอีก 180 วัน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2550 เรื่องมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงแก้ไขแบบตามความต้องการเฉพาะของหน่วยงาน และการแก้ไขแบบส่วนที่หน่วยงานยกเลิกการใช้พื้นที่เพื่อให้หน่วยงานอื่นใช้พื้นที่แทน
2.1.3 การขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการศูนย์ราชการฯ
1) ธพส. มีความจำเป็นต้องขยายกรอบวงเงินลงทุนโครงการเพิ่มเติม จำนวน 2,414.57 ล้านบาท จากกรอบวงเงินที่ ครม. อนุมัติไว้ที่ 19,016.00 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 21,430.57 ล้านบาท เนื่องจากต้องปรับปรุงแก้ไขแบบและตกแต่งเพิ่มเติมให้สอดคล้องกับภารกิจการปฏิบัติงาน และความต้องการของหน่วยงาน รวมทั้งเพื่อเพิ่มพื้นที่ใช้สอยส่วนกลางให้เหมาะสมกับการใช้ประโยชน์อาคารที่เปลี่ยนแปลงไป โดยวงเงินเพิ่มเติมจำนวน 2,414.57 ล้านบาท ประกอบด้วย
- งานที่หน่วยงานต้องตั้งงบประมาณคืนให้ ธพส. จำนวน 1,195.95 ล้านบาท เนื่องจากหน่วยงานต้องการแก้ไขแบบ ซึ่งขณะนี้มี 2 หน่วยงานที่มีงบประมาณใช้คืนให้ ธพส. แล้ววงเงิน 55.70 ล้านบาท
- งานที่ ธพส. จ่ายลงทุนเอง จำนวน 1,218.62 ล้านบาท เป็นวงเงินในการแก้ไขแบบให้หน่วยงานอื่นเข้าใช้พื้นที่แทนหน่วยงานที่ขอยกเลิก จำนวน 798.41 ล้านบาท และวงเงินสำรองระหว่างการก่อสร้าง จำนวน 420.21 ล้านบาท
2) ธพส. มีแหล่งเงินทุนเพียงพอที่จะลงทุนเพิ่มเติมได้ตามที่เสนอ หาก ธพส. ได้รับเงินสมทบค่าก่อสร้างคืนจากหน่วยงานข้างต้น ภายในเดือนธันวาคม 2553 ในปี 2553 จะมีเงินสดปลายงวดหลังการจ่ายลงทุนเพิ่มเติม จำนวน 415.85 ล้านบาท ขณะที่มีความต้องการเงินสดเพื่อคงสภาพคล่อง 50.98 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องทางการเงินจะเริ่มตึงตัวในปี 2558 เนื่องจากกรายรับมีแนวโน้มคงที่ทั้งนี้ ธพส. จะมีสภาพคล่องทางการเงินเพียงพอในการจ่ายลงทุนตามกรอบวงเงินที่ขอขยายเพิ่มเติมได้ หน่วยงานทั้ง 5 แห่ง ต้องมีงบประมาณจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้แก่ ธพส. ภายในเดือนธันวาคม 2553 ดังนี้
หน่วยงาน วงเงิน (ล้านบาท) ก.เทคโนโลยีสารสนเทศฯ 13.5 สำนักงานศาลปกครอง 303.47 ศาลฎีกา 572.28 สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ 60.5 สำนักงานอัยการสูงสุด 190.5 รวม 1,140.25
2.1.4 การจัดการระบบการขนส่งและจราจร ปัจจุบันการจราจรทั้งภายในและบริเวณรอบนอกศูนย์ราชการ ฯ โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วนเกิดปัญหาติดขัดค่อนข้างมากซึ่ง ธพส. ได้เร่งแก้ไขปัญหา และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) ก่อสร้างระบบถนนทั้งภายในและภายนอกศูนย์ราชการ ธพส. มีแผนการก่อสร้างโครงข่ายถนนรวมทั้งสิ้น 12 สาย ก่อสร้างแล้วเสร็จจำนวน 9 สาย ได้แก่ ถนนภายใน คือ ถนนหมายเลข 1-7 และถนนเชื่อมต่อระบบถนนแจ้งวัฒนะ คือ ถนนหมายเลข 12 (ขยายซอยแจ้งวัฒนะ 5) และถนนหมายเลข 9 (ถนนเชื่อมต่อซอยแจ้งวัฒนะ 5) เหลือเพียงงานขยายสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม 2553 ส่วนที่เหลืออีก 3 สาย อยู่นอกเหนือความรับผิดชอบของ ธพส. ซึ่งมีปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการ ดังนี้
- การก่อสร้างถนนหมายเลข 8 (ศูนย์ราชการฯ — ถนนกำแพงเพชร 6) อยู่ระหว่างการเจรจากับเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เนื่องจากเสนอราคาสูงกว่าราคาประเมินของราชการมาก
- การก่อสร้างถนนหมายเลข 10 (ศูนย์ราชการฯ-ถนนประชาชื่น ผ่านพื้นที่ของการประปานครหลวง) การประปานครหลวงขอให้ ธพส. ก่อสร้างเป็นถนนยกระดับ โดยรูปแบบถนนจะต้องสอดคล้องกับรูปแบบโครงการถนนคร่อมคลองประปาตามแนวพระราชดำริ และไม่มีโครงสร้างใดๆ กีดขวางน้ำในคลองประปา ซึ่งการก่อสร้างทางยกระดับจะมีมูลค่างานก่อสร้างสูงเกินวงเงินที่ ธพส. จะรับผิดชอบได้และไม่มีงบประมาณในการดำเนินการ
- การก่อสร้างถนนหมายเลข 11 (ขยายถนนประชาชื่นเป็น 4 ช่องจราจร) กรมทางหลวงจะเป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการของบประมาณการก่อสร้าง
2) จัดระบบการจราจรภายในศูนย์ราชการฯ มีรถโดยสารบริการรับส่งภายในศูนย์ราชการ (Shuttle Bus) รวมทั้งอยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ในโครงการระบบขนส่งมวลชนระบบรางภายในศูนย์ราชการฯ
3) บริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะ ปัจจุบันมีระบบขนส่งสาธารณะให้บริการในบริเวณศูนย์ราชการฯ ดังนี้
- บริการรถโดยสารสาธารณะ ขสมก. จัดรถโดยสารประจำทางให้บริการบริเวณศูนย์ราชการฯ แล้ว 2 เส้นทาง ได้แก่ สาย 66 (ศูนย์ราชการ-สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพตลิ่งชัน) และสาย 166 (ศูนย์ราชการ-อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิฯ) รวมทั้งอยู่ระหว่างจัดหารถเพื่อให้บริการอีก 2 เส้นทาง ได้แก่ (1) ศูนย์ราชการ-อตก.3 และ(2) ติวานนท์-อู่บางเขน นอกจากนี้ ยังมีรถร่วมบริการอีกจำนวน 3 เส้นทาง ได้แก่ สาย 52 (ท่าน้ำปากเกร็ด-บางซื่อ) สาย 150 (ท่าน้ำปากเกร็ด-มีนบุรี) และรถตู้ สาย ต.22 (มีนบุรี-ปากเกร็ด)
- บริการเรือโดยสาร บริษัท เรือด่วนเจ้าพระยา จำกัด ได้ขยายเส้นทางการเดินเรือมายังท่าน้ำปากเกร็ด
4) พัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะ กระทรวงคมนาคมและกรุงเทพมหานครได้มีแผนการแก้ไขปัญหาการจราจรในระยะยาวของบริเวณพื้นที่โครงการ โดยการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน ได้แก่ โครงการระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง (บางซื่อ-รังสิต) ปัจจุบันอยู่ระหว่างประกวดราคาตามขั้นตอน คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2558 โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเข้ม (หมอชิต-สะพานใหม่) ปัจจุบันอยู่ระหว่างปรับแผนการดำเนินการ คาดว่าจะเปิดบริการได้ในปี 2558 และโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู (แคราย-สุวินทวงศ์) ปัจจุบันสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร ได้ศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้นแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อมพิจารณาตามขั้นตอน
2.2 มติที่ประชุม กศร.
2.2.1 รับทราบผลการดำเนินโครงการศูนย์ราชการฯ ตามที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอ โดยให้กระทรวงการคลังกำกับและติดตามการดำเนินโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมาย
2.2.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลังในฐานะกระทรวงเจ้าสังกัดของบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด (ธพส.) และฝ่ายเลขานุการฯ ดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดของวงเงินที่เพิ่มขึ้น และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องในการขอขยายกรอบวงเงินงบประมาณลงทุนโครงการ ทั้งในส่วนงานที่หน่วยงานต้องตั้งงบประมาณคืนให้ ธพส. จำนวน 1,195.95 ล้านบาท และในส่วนงานที่ ธพส. ดำเนินการ จำนวน 1,218.62 ล้านบาท รวมทั้ง ให้ประสานกับหน่วยงานที่ต้องตั้งงบประมาณคืนให้แก่ ธพส. เพื่อยืนยันการอนุมัติวงเงินงบประมาณดังกล่าว และนำเสนอให้คณะกรรมการ กศร. พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
2.2.3 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม เป็นหน่วยงานหลักในการประสานการแก้ไขปัญหาการจราจรบริเวณโครงการศูนย์ราชการฯ ดังนี้
1) ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ การประปานครหลวง กรุงเทพมหานคร และกรมทางหลวงในการก่อสร้างถนนเชื่อมต่อโครงการศูนย์ราชการฯ กับโครงข่ายถนนรอบนอกในส่วนที่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
2) เร่งจัดทำแผนการแก้ไขปัญหาจราจรในระยะเร่งด่วน และผลักดันการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะในพื้นที่โดยรอบโครงการศูนย์ราชการฯ ต่อไป
3. การปรับแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์
สศช. ได้รายงานเรื่องการปรับแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงมหาดไทย ให้คณะกรรมการ กศร. พิจารณา สรุปได้ ดังนี้
3.1 สาระสำคัญ
3.1.1 ความเป็นมา
1) ศาลากลางจังหวัดบุรีรัมย์ สร้างเมื่อปี 2512 มีพื้นที่ใช้สอยจำกัดเพียง 2,700 ตร.ม. และมีหน่วยงานใช้พื้นที่จำนวน 16 หน่วยงาน จึงไม่สามารถรองรับส่วนราชการได้เพียงพอ ทำให้มีส่วนราชการจำเป็นต้องไปตั้งสำนักงานนอกศาลากลางจังหวัด หรือเช่าอาคารพาณิชย์ของเอกชน ทำให้ไม่สะดวกในการบริหารราชการ และให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2) วันที่ 18 กันยายน 2539 และวันที่ 10 เมษายน 2540 คณะอนุกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาค มีมติเห็นชอบให้มีการปรับแผนการปรับปรุงศาลากลางหลังเดิม เป็นการก่อสร้างศูนย์ราชการแห่งใหม่ในที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ โดยให้นำเสนอคณะกรรมการ กศร. พิจารณาต่อไป
3) วันที่ 31 มีนาคม 2542 คณะกรรมการ กศร. ได้มีมติเห็นชอบให้มีการศึกษาความเหมาะสมที่ตั้งศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โดยมอบหมายให้สำนักงานนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม และ สศช. ร่วมกันดำเนินการยกร่างข้อกำหนดการศึกษา และไปสำรวจพื้นที่ก่อสร้าง
4) วันที่ 19 มิถุนายน 2543 คณะกรรมการ กศร. ได้มีมติเห็นชอบผลการศึกษาความเหมาะสมที่ตั้งศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ โดยได้สรุปผลการพิจารณาพื้นที่ที่เหมาะสมเป็นที่ตั้งศูนย์ราชการหลัก ได้แก่ ที่ราชพัสดุศาลากลางปัจจุบันและพื้นที่ต่อเนื่องศูนย์ราชการรอง ได้แก่ ที่ราชพัสดุบริเวณสถานีทดลองพืชสวนบุรีรัมย์ และพื้นที่สำรองในอนาคต ได้แก่ พื้นที่สาธารณประโยชน์โคกเขาน้อย (แปลงติดถนนบุรีรัมย์-ห้วยราช) ซึ่งในขณะนั้นผลการศึกษาเห็นว่า ที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดงไม่เหมาะสม เนื่องจากอาจจะได้รับผลกระทบทางภายนอกจากการระเบิดและย่อยหินในที่ดินของเอกชนบริเวณใกล้เคียง และการขอใช้พื้นที่ดังกล่าวควรคำนึงถึงสภาพพื้นที่ ระบบนิเวศน์ และสิ่งแวดล้อมต่างๆ ตลอดจนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
5) วันที่ 2 มีนาคม 2552 คณะกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มีมติเห็นชอบให้มีการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ในพื้นที่สาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ตามที่องค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์เสนอ เนื่องจากปัจจุบันบริเวณที่ตั้งศาลากลางเดิมไม่เหมาะสมที่จะปรับปรุงต่อเติมเป็นศูนย์ราชการหลักได้ เพราะมีสภาพคับแคบและการจราจรแออัดคับคั่ง รวมทั้ง จากการตรวจสอบพื้นที่ใหม่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้งหนึ่งพบว่า มีความเหมาะสมเพราะมีพื้นที่เพียงพอ และมีส่วนราชการหลายแห่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียง การคมนาคมสะดวก ระบบสาธารณูปโภคมีความพร้อม และอยู่ห่างจากศาลากลางเดิม 6 กิโลเมตร นอกจากนี้ ปัจจุบันบริเวณดังกล่าวมีการเปลี่ยนสภาพตามธรรมชาติเป็นป่าละเมาะ มีลักษณะเป็นที่ราบไม่ใช่ที่เนินเขาหรือเป็นแหล่งต้นน้ำ จึงไม่กระทบต่อระบบนิเวศน์ของชุมชนโดยรวม อีกทั้งไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงภัยต่อการได้รับผลกระทบจากมลภาวะของอุตสาหกรรมย่อยหิน ทางด้านฝุ่นละอองและแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิดหินแต่อย่างใด
6) วันที่ 17 กันยายน 2552 คณะอนุกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาค มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จากโครงการต่อเติมปรับปรุงศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์บริเวณศาลากลางเดิม เป็นโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์แห่งใหม่ บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ พื้นที่ประมาณ 400 ไร่ ตามที่จังหวัดบุรีรัมย์เสนอ และให้นำเสนอคณะกรรมการ กศร. พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
3.1.2 แนวคิดในการวางผังแม่บท จัดอาคารศาลากลางจังหวัดเป็นอาคารหลัก เพื่อให้การติดต่อของหน่วยงานเป็นไปโดยสะดวก และจัดให้มีพื้นที่เอนกประสงค์เพื่อใช้ในกิจกรรมส่วนรวม รวมทั้งเตรียมพื้นที่และระบบสาธารณูปโภครองรับการขยายตัวในอนาคต
3.1.3 ที่ตั้งโครงการ อยู่ในบริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ “ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง” ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ เนื้อที่ประมาณ 400 ไร่ อยู่นอกเขตวนอุทยาน และห่างจากศาลากลางจังหวัดประมาณ 6 ก.ม. ทั้งนี้ คณะกรรมการองค์การบริหารส่วนตำบลเสม็ดได้ให้ความเห็นชอบให้ใช้ที่ดินและได้เสนอกรมที่ดินเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ใช้ประโยชน์แล้ว รวมทั้งบริเวณดังกล่าวไม่มีราษฎรครอบครองทำกินแต่อย่างใด
3.1.4 แผนการดำเนินงาน ระยะเวลา 3 ปี (พ.ศ. 2553-2555) โดยแบ่งงานก่อสร้างออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 งานปรับพื้นที่และฐานรากอาคาร และระยะที่ 2 งานก่อสร้างอาคารศาลากลาง อาคารหอประชุม พร้อมระบบสาธารณูปโภค และงานภูมิทัศน์ ทั้งนี้ จังหวัดได้ทำการสำรวจความประสงค์ของส่วนราชการต่าง ๆ ที่จะใช้พื้นที่ในบริเวณศูนย์ราชการจังหวัดแห่งใหม่แล้ว มีจำนวน 25 หน่วยงาน รวมพื้นที่ใช้สอย 16,000 ตร.ม. และจัดทำผังแม่บทศูนย์ราชการเรียบร้อยแล้ว
3.1.5 งบประมาณลงทุน วงเงินลงทุนประมาณ 481.90 ล้านบาท
3.2 มติที่ประชุม กศร.
3.2.1 เห็นชอบการปรับแผนการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์ จากโครงการต่อเติมปรับปรุงศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์บริเวณศาลากลางเดิม เป็นโครงการก่อสร้างศูนย์ราชการจังหวัดบุรีรัมย์แห่งใหม่ บริเวณที่ดินสาธารณประโยชน์ ที่สงวนเลี้ยงสัตว์โคกเขากระโดง ตำบลเสม็ด อำเภอเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ตามที่คณะอนุกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาคเสนอ
3.2.2 มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการพิจารณาสถานที่ทำงานของหน่วยราชการในเขตกรุงเทพมหานครและเมืองหลัก และฝ่ายเลขานุการของคณะอนุกรรมการจัดวางผังแม่บทศูนย์ราชการส่วนภูมิภาค รับข้อคิดเห็นของคณะกรรมการฯ ในการนำเสนอข้อมูลที่ชัดเจนของหลักเกณฑ์การพิจารณาความเหมาะสมพื้นที่โครงการศูนย์ราชการ หรือการปรับปรุงผังแม่บทศูนย์ราชการ เพื่อประกอบการพิจารณาของคณะกรรมการ กศร. ต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--