คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแผนการก่อสร้างสนามกีฬาระดับต่าง ๆ ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (กก.) เสนอ ประกอบด้วย
1. สนามกีฬาระดับจังหวัด จำนวน 6 จังหวัด คือ จังหวัดมหาสารคาม จังหวัดสระแก้ว จังหวัดสมุทรปราการ จังหวัดอำนาจเจริญ จังหวัดสกลนคร และจังหวัดเพชรบูรณ์ ทั้งนี้ ให้ปรับปรุงหรือก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด นราธิวาสเพิ่มเติมอีกหนึ่งจังหวัด รวมเป็น 7 จังหวัด โดยให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการจัดทำรายละเอียดเกี่ยวกับขนาด สถานที่ และงบประมาณในการก่อสร้างและให้รับความเห็นของสภาพัฒน์เกี่ยวกับการจัดทำแผนถ่ายโอนและการดูแลบำรุงรักษาสนามกีฬาไปดำเนินการ โดยให้จัดทำแผนขอรับการจัดสรรงบประมาณร่วมกับสำนักงบประมาณต่อไป
2. สนามกีฬาระดับอำเภอ จำนวน 690 อำเภอ และสนามกีฬาระดับตำบล จำนวน 812 ตำบล ให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจัดทำแผนดำเนินการระยะยาวเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
กก. รายงานว่า ได้จัดทำแผนการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด อำเภอและตำบล โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. วัตถุประสงค์
1.1 จัดสร้างสนามกีฬามาตรฐานในระดับชุมชน ระดับอำเภอ ระดับชาติให้เยาวชน ประชาชน ได้ใช้เป็นสถานที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬา รวมทั้งใช้เป็นสถานที่เก็บตัวฝึกซ้อมและจัดการแข่งขันกีฬาของนักกีฬาในทุกระดับ
1.2 ขยายโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการกีฬาและนันทนาการได้อย่างเสมอภาคและทั่วถึง
2. กรอบแนวคิด
2.1 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 — 2554) มีแนวคิดพื้นฐานให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่สังคมอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน ซึ่งการพัฒนาคุณภาพคนมีเป้าหมายหลักเพื่อให้คนไทยทุกคนได้รับการพัฒนาทั้งทางร่างกาย จิตใจ ความรู้ ความสามารถ ทักษะการประกอบอาชีพ และมีความมั่นคงในชีวิต และเนื่องจากคนไทยมีแนวโน้มที่จะเจ็บป่วยด้วยโรคที่ป้องกันได้ เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น จึงต้องให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพเชิงป้องกันเพื่อลดรายจ่ายด้านสุขภาพในระยะยาว โดยส่งเสริมให้คนไทยเล่นกีฬาและออกกำลังกายให้มากขึ้น
2.2 แผนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2550 — 2554) กำหนดให้มียุทธศาสตร์การพัฒนากีฬาขั้นพื้นฐานและการกีฬาเพื่อมวลชน เพื่อนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์ของแผนโดยที่เด็ก เยาวชน และประชาชนเล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างถูกต้องจนเป็นวิถีชีวิต โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การมีผู้นำกีฬา อาสาสมัคร และโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬา สถานกีฬา อุปกรณ์กีฬาที่มีคุณภาพไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนตำบลและมีการแข่งขันกีฬาที่ได้มาตรฐานทุกระดับ แต่จากผลการดำเนินงานของแผนพัฒนากีฬาที่ผ่านมา ยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาเพื่อมวลชนยังไม่บรรลุเป้าหมาย
2.3 นโยบายรัฐบาลด้านสังคมและคุณภาพชีวิต นโยบายกีฬาและนันทนาการกำหนดว่า จะเสริมสร้างโอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มออกกำลังกายและเล่นกีฬาโดยให้ความสำคัญกับการจัดหาสถานที่เล่นกีฬาและออกกำลังกายอย่างทั่วถึง และแผนบริหารราชการแผ่นดิน (พ.ศ. 2552 — 2554) กำหนดเป้าหมายว่า เด็ก เยาวชนและประชาชนได้ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำ โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นความรับผิดชอบของ กก. ที่จะต้องดำเนินการ และหากมีการสร้างสนามกีฬาระดับจังหวัด อำเภอและตำบล ภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 หรือ 2554 จะทำให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ได้ นอกจากนี้คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 มีข้อสังเกตว่า กก. ควรเร่งรัดดำเนินโครงการ 1 อำเภอ 1 สนามกีฬาให้มีความคืบหน้า หากท้องถิ่นใดยังไม่มีความพร้อมรัฐบาลควรให้การช่วยเหลือ
2.4 แนวโน้มด้านประชากรของประเทศไทยกำลังเข้าสู่ภาวะสังคมของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยในช่วงเวลา 60 ปี สัดส่วนของผู้สูงอายุในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า วัยแรงงานจะต้องรับภาระเลี้ยงดูทั้งเด็กและผู้สูงอายุมากขึ้น ดังนั้น จึงต้องมีนโยบายและมาตรการต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพประชากรโดยเฉพาะกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์การพัฒนาการกีฬาและการออกกำลังกาย เพื่อให้คุณภาพชีวิตของประชาชนในวัยเด็กเข้าสู่วัยผู้ใหญ่และวัยผู้สูงอายุมีความสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้ ปัญหายาเสพติดยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในกลุ่มวัยรุ่น จึงควรให้ความสำคัญของการจัดหาพื้นที่หรือกิจกรรมเพื่อดึงดูดความสนใจ ให้หันมาใช้เวลาว่างในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย รวมทั้งนักกีฬาของประเทศไทยประสบความสำเร็จในการแข่งขันกีฬาระดับภูมิภาคและระดับโลก ส่งผลให้เด็กและเยาวชนหันมาสนใจการเล่นกีฬาและพัฒนาศักยภาพของตนเองเพื่อไปสู่การเป็นตัวแทนของประเทศ รวมถึงการใช้กีฬาประกอบอาชีพ
2.5 ค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินการการก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัด อำเภอและตำบล วงเงินงบประมาณรวมทั้งสิ้น 22,407 ล้านบาท ระยะเวลาดำเนินการ 6 ปี (พ.ศ. 2554 — 2559) จำแนกได้ ดังนี้
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 — 2558 ปีละจำนวน 3,739 ล้านบาท
ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559 จำนวน 3,712 ล้านบาท
2.6 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
2.6.1 มีสนามกีฬาระดับตำบล อำเภอ จังหวัดที่รองรับการฝึกซ้อมและจัดการแข่งขันกีฬาทุกระดับ
2.6.2 ท้องถิ่นทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคมีสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานสำหรับออกกำลังกายและเล่นกีฬา
2.6.3 เด็ก เยาวชนและประชาชนได้ออกกำลังกายและเล่นกีฬาเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรงสมบูรณ์และมีสมรรถภาพทางกาย เป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างนักกีฬาสู่ความเป็นเลิศและนักกีฬาทีมชาติ
2.6.4 เด็ก เยาวชนและประชาชนในท้องถิ่นได้รับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการออกำลังกายและเล่นกีฬา
3. พระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และประกาศคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เรื่อง แผนปฏิบัติการกำหนดขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ลงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2545 ให้สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ (กรมพลศึกษาเดิม) และการกีฬาแห่งประเทศไทยถ่ายโอนภารกิจด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต การส่งเสริมการกีฬา สนามกีฬาระดับจังหวัด สนามกีฬาระดับรอง ให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล องค์การบริหารส่วนตำบล โดยในการก่อสร้างลานอเนกประสงค์และการจัดหาอุปกรณ์กีฬาให้เป็นไปตามภารกิจที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีอิสระที่จะเลือกทำ แต่ทำตามที่เห็นความจำเป็น จึงส่งผลให้การพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านการกีฬาในระดับท้องถิ่นไม่ได้รับการผลักดันอย่างทั่วถึงเท่าที่ควร
4. การดำเนินงานให้สอดรับกับแผนพัฒนาด้านต่าง ๆ ที่ต้องการให้เด็กเยาวชน และประชาชนได้ออกกำลังกาย เล่นกีฬาเป็นประจำเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต นักกีฬามีความสามารถและทักษะความเป็นเลิศด้านกีฬาที่ทัดเทียมกับคู่แข่งขันในการแข่งขันระดับชาติ และการได้เป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ภาครัฐจึงควรให้การสนับสนุนปัจจัยหลัก 4 ด้าน คือ บุคลากรทางการกีฬา สนามหรืออาคารกีฬา อุปกรณ์กีฬา และกิจกรรมกีฬา ซึ่ง กก. มีภารกิจในการพัฒนากีฬาทั้ง 4 ระดับ คือ กีฬาขั้นพื้นฐาน กีฬาเพื่อมวลชน กีฬาเพื่อความเป็นเลิศ และกีฬาเพื่อการอาชีพ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--