สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 16:50 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ในฐานะประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ ดังนี้

1. ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553

1) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,516 ครั้ง เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปี 2552 ซึ่งเกิด 3,977 ครั้ง ลดลง 461 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 11.59

2) มีผู้เสียชีวิต 361 ราย เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปี 2552 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 373 ราย ลดลง 12 ราย คิดเป็นร้อยละ 3.22

3) มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,802 คน เปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปี 2552 ซึ่งมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 4,332 คน ลดลง 530 คน คิดเป็นร้อยละ 12.23

2. สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงสำคัญของการเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ปี 2553

2.1 ด้านรถที่เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงสุด พบว่า รถจักรยานยนต์เป็นรถที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ถึงร้อยละ 80.03 รองลงมาคือ รถกระบะ ร้อยละ 10.07

2.2 ด้านสาเหตุของอุบัติเหตุทางถนน พบว่า เกิดจากเมาสุราแล้วขับรถ ถึงร้อยละ 39.36 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 20.68 โดยพบว่า มีพฤติกรรมเสี่ยงไม่สวมหมวกนิรภัย ร้อยละ 30.75

2.3 ด้านผู้ประสบอุบัติเหตุส่วนใหญ่อยู่ในวัยแรงงาน ร้อยละ 53.95 และรองลงมาได้แก่ เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 29.40 โดยเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ร้อยละ 11.70

2.4 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนถนนนอกเขตทางหลวงแผ่นดิน ซึ่งเป็นถนนของ อบต. หมู่บ้าน เทศบาล ถนนทางหลวงชนบท ร้อยละ 67.04 และเกิดบนถนนที่เป็นทางตรง ร้อยละ 58.93 โดยส่วนใหญ่เกิดในเวลากลางคืนและมักเกิดในช่วงเวลา 16.01 — 20.00 น. ถึงร้อยละ 31.29

3. จากการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกกรณีอุบัติเหตุใหญ่ พบว่า

3.1 การใช้รถกระบะบรรทุกผู้โดยสารในกระบะท้ายจำนวนมากโดยไม่มีอุปกรณ์ป้องกัน ใช้ความเร็วสูง ประกอบกับสภาวะอ่อนล้า อ่อนเพลียในขณะขับรถ ทำให้หลับในและเกิดอุบัติเหตุรุนแรง มีผู้เสียชีวิตหลายรายในคราวเดียวกัน

3.2 การขับขี่และโดยสารรถจักรยานยนต์ซ้อนสามโดยไม่สวมหมวกนิรภัยเล่นน้ำสงกรานต์ เมื่อเกิดอุบัติเหตุมีผู้เสียชีวิตในคราวเดียวกันหลายราย

4. จังหวัดที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุดได้แก่ จังหวัดนครศรีธรรมราช

5. การบังคับใช้กฎหมาย จากการตรวจจับดำเนินคดีผู้ขับขี่และผู้โดยสาร พบว่า

5.1 มีการดำเนินคดีในความผิดสูงสุดกรณีไม่สวมหมวกนิรภัย 159,811 ราย คิดเป็นร้อยละ 31.86 เพิ่มขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ 2552 ร้อยละ 16.84

  • อันดับสอง ได้แก่ ไม่มีใบอนุญาตขับรถ 149,294 ราย คิดเป็นร้อยละ 29.76 เพิ่มขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ 2552 ร้อยละ 8.34
  • อันดับสาม ได้แก่ ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย 60,912 ราย คิดเป็นร้อยละ 12.14 ลดลงจากเทศกาลสงกรานต์ 2552 ร้อยละ 17.47

5.2 ในส่วนของความผิดในกรณีการขับขี่รถเร็ว มีผู้กระทำความผิด 20,423 ราย คิดเป็นร้อยละ 4.07 เพิ่มขึ้นจากเทศกาลสงกรานต์ 2552 ร้อยละ 47.09

5.3 ในส่วนของความผิดกรณีเมาแล้วขับ มีผู้กระทำความผิด 9,952 ราย คิดเป็นร้อยละ 1.98 ลดลงจากเทศกาลสงกรานต์ 2552 ร้อยละ 28.51 โดยพบว่าผู้ถูกดำเนินคดีเมาแล้วขับเป็นเด็กและเยาวชนอายุน้อยกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 10.61

6. ประเด็นน่าสังเกต ดังนี้

6.1 สถิติข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ที่ผ่านมา (ปี 2549-2553) ของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน พบว่าหลายจังหวัดมีสถิติอุบัติเหตุทางถนนสูงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเชียงราย จังหวัดนครสวรรค์ จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดนครราชสีมาและจังหวัดสระบุรี เป็นต้น

6.2 จากข้อมูลการกระทำความผิดกฎหมายจราจรช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553 พบว่า มีผู้ถูกดำเนินคดีจราจรถึง 501,593 คน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา จำนวน 93,573 คน คิดเป็นร้อยละ 23

6.3 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปีลงมาเสียชีวิตและบาดเจ็บสูงถึงประมาณร้อยละ 30 โดยเฉพาะเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีลงมาประมาณร้อยละ 12 และจากข้อมูลอุบัติเหตุรายใหญ่ พบว่า เด็กและเยาวชนเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองไม่ใส่ใจหรือละเลยในเรื่องความปลอดภัย เช่น การให้เด็กนั่งโดยสารท้ายกระบะ การให้เด็กขับขี่รถและโดยสารรถจักรยานยนต์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และที่สำคัญคือเด็กและเยาวชนที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่ยังขาดทักษะสำคัญในการขับขี่ที่ปลอดภัย เป็นต้น

6.4 ข้อมูลการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในเทศกาลสงกรานต์ 2553 แม้ว่ามีผู้กระทำความผิดจำหน่ายสุราในสถานที่ห้ามจำหน่ายลดลง โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 แต่ร้านค้าริมทางบริเวณข้างๆ สถานีบริการน้ำมันยังคงลักลอบจำหน่ายสุราให้แก่ผู้สัญจรไปมา นอกจากนั้นผู้กระทำความผิดจำหน่ายสุราในเวลาห้ามจำหน่ายลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2552 โดยผู้จำหน่ายอ้างเหตุต้องการหารายได้เนื่องจากช่วงเทศกาลสงกรานต์จะจำหน่ายดีมาก และเห็นว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

6.5 พฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่ไม่เหมาะสม และมีแนวโน้มรุนแรงมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น การดื่มสุราขณะเล่นน้ำ การบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะตระเวนเล่นสาดน้ำ การเล่นสาดน้ำที่รุนแรง การทะเลาะวิวาท และพฤติกรรมต่างๆ ที่ไม่เหมาะสมของวัยรุ่น เป็นต้น นอกจากนี้ ในปีนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการนำร่องกำหนดพื้นที่เล่นน้ำปลอดภัยใน 27 พื้นที่ทั่วประเทศ โดยไม่ให้มีการนำสุราเข้าไปบริโภคในพื้นที่ดังกล่าว ภายใต้แนวคิดวัฒนธรรมสร้างสุข เพื่อสร้างความปลอดภัย และลดพฤติกรรมการเล่นน้ำที่ไม่เหมาะสม

7. ข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน

เพื่อป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนแก้ไขสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จึงมีแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วน ดังนี้

7.1 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสนับสนุนจังหวัดดำเนินการให้มีคณะทำงานสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งจังหวัดที่มีสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์สูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อทำหน้าที่สืบค้นหาสาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุในเชิงลึก วิเคราะห์ และกำหนดมาตรการในป้องกันมิให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำ ตลอดจนแสวงหาแนวทางและมาตรการที่เหมาะสมกับจังหวัดที่เป็นทางผ่านและจังหวัดที่เป็นปลายทาง

7.2 ให้ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดมาตรการและแนวทางที่เหมาะสมสำหรับรถกระบะที่มีผู้โดยสารนั่งท้ายกระบะจำนวนมาก

7.3 ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้มงวดการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ต่อเนื่องทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาล รวมทั้งพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรให้สามารถบังคับใช้กฎหมายจราจรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนการจัดหาวัสดุ อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมาย โดยจัดทำโครงการนำร่องในพื้นที่ที่มีสถิติการเกิดอุบัติเหตุสูง

7.4 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาในระยะยาวและเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสริมสร้างและปลูกฝังค่านิยมความปลอดภัยให้แก่เด็กและเยาวชนโดยการอบรมให้ความรู้พื้นฐานในเรื่องการขับขี่ที่ปลอดภัยอย่างจริงจัง และต่อเนื่องต่อไป รวมทั้งให้ความรู้ประชาชนในเรื่องการโดยสารไปกับพาหนะและการใช้ถนน (การเดินถนน) ที่ปลอดภัย

7.5 เข้มงวดการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 อย่างจริงจัง ต่อเนื่อง โดยทบทวนการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุราให้เข้มงวด และเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด นอกจากนี้ เสนอให้คณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติกำหนดห้ามมิให้มีการจำหน่ายหรือบริโภคสุราในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์

7.6 ปัญหาพฤติกรรมการเล่นน้ำสงกรานต์ที่เบี่ยงเบนจนทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนนให้กระทรวงวัฒนธรรมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเล่นน้ำสงกรานต์อย่างถูกวิธีตามขนบธรรมเนียมประเพณีที่ดีงามของไทย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยทั้งของตนเองและผู้อื่น

ทั้งนี้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะจัดทำโครงการตามข้อเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณเป็นกรณีพิเศษต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ