การเสนอตัวลงรับสมัครคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 16:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติในหลักการให้ดำเนินการโครงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 ของประเทศไทย ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) เสนอ โดยมีขั้นตอนการดำเนินการดังต่อไปนี้

1. ให้สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) (สสปน.) หารือกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ (พณ.) เพื่อสรุปแนวทางการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติ เพื่อศึกษาขั้นตอนการดำเนินการเตรียมการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพอย่างเป็นทางการในปี พ.ศ. 2554 (ค.ศ.2011)

2. ให้ สสปน. หารือกับ สศช. นำเสนอแนวทางการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Project Feasibility Study) เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจในอนาคต โดยเฉพาะในส่วนของการเลือกสถานที่ที่ตั้งของโครงการ เพื่อให้สอดคล้องกับแผนการลงทุนระบบขนส่งมวลชนและสาธารณูปโภคพื้นฐาน การคัดเลือกหัวข้อ (Theme) ของงานที่เหมาะสม รวมทั้งการคำนวณงบประมาณเบื้องต้นที่จะต้องใช้ในแต่ละขั้นตอนการเตรียมการ

ทั้งนี้ กำหนดให้การดำเนินการตามข้อ 1.1 และ 1.2 ให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณากำหนดแนวทาง

3. ให้ สสปน.ดำเนินการประชาสัมพันธ์การแสดงความจำนงอย่างไม่เป็นทางการเพื่อเป็นการให้ความรู้แก่ประชาชนถึงผลประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับ และสร้างความร่วมมือร่วมใจในการร่วมเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก World Expo 2020 โดยมีเป้าหมายที่จะประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าวของประเทศไทยในงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ที่เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีนในเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2553

การดำเนินการประชาสัมพันธ์ในเบื้องต้นจะใช้งบประมาณของ สสปน.ในปี พ.ศ. 2553 โดยเมื่อมีการศึกษาแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนและได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี จึงจะมีการเสนอตั้งงบประมาณเพื่อดำเนินการในปีต่อ ๆ ไป

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเบื้องต้น ควรใช้จ่ายจากงบประมาณของ สสปน. ซึ่งได้รับจัดสรรไว้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 749.797 ล้านบาท และเสนอขอจัดสรรในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 25 ล้านบาท

สาระสำคัญของเรื่อง

สสปน.รายงานว่า

1. ที่ประชุมคณะกรรมการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ ครั้งที่ 4/2553 เมื่อวันพุธที่ 17 มีนาคม 2553 ได้มีมติเห็นชอบให้ สสปน. นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบหลักการโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเสนอตัวลงรับสมัครคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลกเวิล์ด เอ็กซ์โป ในปีพ.ศ. 2563 (World Expo 2020)

2. งานมหกรรมโลก World Expo เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2394 (ค.ศ. 1851) ณ ประเทศอังกฤษ โดยในปัจจุบันมีหน่วยงานที่ดูแลลิขสิทธิ์การจัดงานคือสำนักงานมหกรรมโลก (Bureau of International Exposition-BIE) ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศภายใต้สนธิสัญญาขององค์การสหประชาชาติ ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 100 ประเทศและงานนิทรรศการระดับโลกนี้ จะจัดขึ้นเป็นประจำทุก 5 ปี ประเทศไทยได้สมัครเข้าเป็นสมาชิก BIE ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2535 โดย พณ.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนประสานงานกับ BIE โดยมีสำนักงานพาณิชย์ ณ กรุงปารีส เป็นผู้แทนในต่างประเทศและได้อนุมัติในหลักการให้มีการหมุนเวียน กระทรวง ทบวง กรม ที่เป็นเจ้าของเรื่องการจัดงาน Expo เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ (Organizer) เป็นกรณีไป

3. ประเทศไทยได้เข้าร่วมงานมหกรรมโลก World Expo เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน 22 ครั้ง โดยร่วมงานครั้งแรกในปี พ.ศ. 2405 (ค.ศ.1862) นับเป็นประเทศที่ 3 ในทวีปเอเชียที่เข้าร่วมงาน และคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติในหลักการเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2550 ให้ประเทศไทยเข้าร่วมงาน The World Exposition Shanghai China 2010 (พ.ศ.2553) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 1 พฤษภาคม — 31 ตุลาคม 2553 ภายใต้หัวข้อ “เมืองที่ดีกว่าเพื่อชีวิตที่ดียิ่งขึ้น” (Better City Better Life) โดยได้มอบหมายให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบการเข้าร่วมงาน

4. งานมหกรรมโลก World Expo เป็นงานสำคัญระดับโลกเทียบเท่ากับการจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ เพื่อให้การศึกษาแก่สาธารณชน การแสดงถึงนวัตกรรม ความก้าวหน้าทางอารยธรรมของมนุษยชาติ ทิศทางการพัฒนาของโลกในอนาคตและประโยชน์ที่มีต่อมวลมนุษย์ รวมถึงช่วยยกระดับของการพัฒนาประเทศโดยการสร้างสรรค์โอกาสให้เกิดขึ้นเพื่อการรับรู้องค์ความรู้ใหม่ ๆ จากประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก จึงเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดอันหนึ่งในการสร้างและพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในระยะยาว ก่อให้เกิดการจ้างงานสร้างรายได้ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสาธารณูปโภคและช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของประเทศในระดับโลก และยกระดับของการพัฒนาประเทศโดยรวม

5. หากรัฐบาลสนับสนุนให้ สสปน.ดำเนินการเพื่อเสนอตัวลงสมัครรับคัดเลือกเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 จะต้องมีการเตรียมการดำเนินการตามวิธีการและขั้นตอนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลก World Expo ดังนี้

5.1 ประเทศที่ประสงค์จะเป็นเจ้าภาพต้องมีหนังสือแสดงเจตจำนงเสนอต่อ BIE (Bureau International des Expositions) โดยจะต้องยื่นเอกสารสมัครล่วงหน้าอย่างมาก 9 ปี และอย่างน้อย 6 ปี ก่อนวันเปิดงานมหกรรมโลก World Expo

5.2 การประมูลสิทธิ์การจัดงาน (Bidding) โดยคณะผู้สำรวจ (enquiry missions) จะประเมินถึงความเป็นไปได้ (feasibility)และความสามารถ (viability) ของโครงการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก โดยเฉพาะหัวข้อการจัดงาน (Theme of the exhibition) ซึ่งต้องมีสาระสำคัญเกี่ยวเนื่องกับปัญหา และสิ่งท้าทายมนุษยชาติในขณะนั้น การลงคะแนนเสียง (The Vote) โดยประเทศสมาชิกในการประชุมใหญ่สมัยสามัญ (General Assembly)

6. สสปน.ได้เริ่มเปิดตัวโครงการแนวทางและความเป็นไปได้ในการประมูลสิทธิ์งานมหกรรมโลก World Expo แก่สาธารณะตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2552 และได้จัดให้มีการแถลงข่าวแก่สื่อมวลชนเมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสร้างความรับรู้แก่สาธารณชนเกี่ยวกับงานมหกรรมโลก และชี้แจงเกี่ยวกับหลักการและเหตุผล ผลประโยชน์ของประเทศ แนวทางและความเป็นไปได้ ตลอดจนการรับฟังถึงข้อเสนอแนะ ปัญหาและความท้าทายต่าง ๆ ที่จะต้องมีการเตรียมการทั้งในด้านภาระงบประมาณ ความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และการยอมรับและการมีส่วนร่วมจากภาครัฐบาล เอกชน และประชาชนทั่วไป

7. สสปน.ได้จัดส่งคณะผู้แทนจากประเทศไทยเดินทางไปพบปะกับคณะผู้แทนของรัฐบาลจีนที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการจัดงานมหกรรมโลก World Expo ซึ่งจะมีขึ้น ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ ในเดือนพฤษภาคม 2553 เพื่อขอรับฟังข้อเสนอแนะ ประสบการณ์ต่าง ๆ ของประเทศจีนตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการ การรณรงค์ การบริหารการจัดการต่าง ๆ ที่ ทำให้เมืองเซี่ยงไฮ้ประสบความสำเร็จได้รับการคัดเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดงานดังกล่าว ตลอดจนได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อทำการศึกษาหาข้อมูลในเบื้องต้นจากแหล่งข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Sources) ทุติยภูมิ (Secondary Sources)เพื่อเปรียบเทียบผลประโยชน์ที่ได้รับทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม ความคุ้มค่าของการลงทุน งบประมาณลงทุน รายได้จากการจัดงาน การจ้างงาน อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้องที่จะได้รับประโยชน์ รวมถึงการใช้ประโยชน์จากอาคารสิ่งก่อสร้างจากการจัดงานดังกล่าว

8. สสปน.ได้จัดให้มีการประชุมระดมความคิดเห็นของผู้แทนทั้งจากภาครัฐ เอกชนในธุรกิจอุตสาหกรรมไมซ์ ท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกว่า 500 คน เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีผู้บริหารระดับสูงขององค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้รับความร่วมมือจากสาธารณรัฐประชาชนจีนในการส่งตัวแทน ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญการจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ มาเป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนาดังกล่าวเพื่อแลกเปลี่ยนเสนอแนะเกี่ยวกับแนวทางและวิธีการที่ทำให้สาธารณรัฐประชาชนจีนได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพการจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2010 ดังกล่าว

9. ขณะนี้มีประเทศที่เสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 แล้ว 14 เมือง ใน 9 ประเทศ ทั้งจากภูมิภาคเอเชีย ยุโรป อเมริกา โดยคู่แข่งของไทยที่มีศักยภาพด้านเงินลงทุนสูงคือ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำหรับประเทศในเอเชียที่ได้มีการเปิดตัวแถลงข่าวแล้วคือ ฟิลิปปินส์

10. จากการศึกษาข้อมูลและประมาณการเบื้องต้นพบว่า การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 จะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยและการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ โดยคาดการณ์ว่ามูลค่าการลงทุนของประเทศไทยในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมโลก World Expo 2020 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท และจะสร้างรายได้ให้กับประเทศจำนวน 167,250 ล้านบาท จะก่อให้เกิดรายได้อื่นๆ ที่เกี่ยวข้องทางอ้อม เช่น รายได้จากการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม ออกแบบก่อสร้าง รื้อถอน และบริหารจัดการ การจำหน่ายสินค้า สิ่งพิมพ์ การจำหน่ายอาหารเครื่องดื่ม ลิขสิทธิ์สัญลักษณ์ (Logo) การสนับสนุน (Sponsorship) และภาษี เป็นต้น โดยมีเป้าหมายจำนวนผู้เข้าชมงาน 30 ล้านคน โดยเป็นผู้เข้าชมงานในประเทศร้อยละ 70 และชาวต่างประเทศร้อยละ 30

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ