เรื่อง ขอความเห็นชอบในการแต่งตั้ง Station Operator สำหรับสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (RN65)
และสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (PS41) ภายใต้สนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์
คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้
1. ให้แต่งตั้งสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็น Station Operator สำหรับสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (RN65) และสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (PS41)
2. เห็นชอบในหลักการในการทำข้อตกลง ความตกลง หรือความร่วมมืออื่นที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งและปฏิบัติงานสำหรับสถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (RN65) และสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (PS41) ระหว่างสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในฐานะหน่วยงานที่เป็น Station Operator สำหรับสถานีเฝ้าตรวจทั้งสองกับคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Provisional Technical Secretariat for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization : CTBTO/PTS) หรือคู่สัญญาต่างๆ ของ CTBTO/PTS
3. ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในฐานะหน่วยงานที่เป็น Station Operator มีอำนาจลงนามในการพิจารณาทำข้อตกลงหรือความตกลงกับ CTBTO/PTS ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้ง ปฏิบัติงาน รวมถึงการบำรุงรักษา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานีเฝ้าตรวจดังกล่าว ทั้งนี้ ให้เลขาธิการสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติเป็นผู้ลงนามในฝ่ายไทย
4. ให้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติในฐานะหน่วยงานที่เป็น Station Operator มีอำนาจในการแต่งตั้งหน่วยงานที่เหมาะสมทำหน้าที่เป็น Local Station Operation เพื่อปฏิบัติในสถานีเฝ้าตรวจทั้งสอง และ Technical Contact เพื่อให้คำแนะนำด้านวิชาการแก่ Station Operator และ Local Station Operation
สาระสำคัญของเรื่อง
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า
1. เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรแห่งประเทศไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก เป็นผู้แทนประเทศไทยลงนามในสนธิสัญญา CTBT เมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ.2539 โดยสนธิสัญญาฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายหลัก คือ ห้ามมิให้มีการทดลองอาวุธนิวเคลียร์และระเบิดนิวเคลียร์อื่น ๆ ไม่ว่าในสิ่งแวดล้อมใด เพื่อป้องกันมิให้มีการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ให้ก้าวหน้าขึ้นไปอีก ซึ่งขณะนี้สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการปรับปรุงกฎหมายให้รองรับพันธกรณีของสนธิสัญญา CTBT เพื่อดำเนินการให้สัตยาบันสาร
2. จนถึงขณะนี้สนธิสัญญา CTBT ยังไม่มีผลบังคับใช้ เนื่องจากประเทศที่มีศักยภาพทางนิวเคลียร์ (ประเทศที่เข้าร่วมการประชุมลดอาวุธในปี ค.ศ.1996 อย่างเป็นทางการ และเป็นรัฐที่มีเครื่องปฏิกรณ์นิวเคลียร์เพื่อการผลิตไฟฟ้าหรือการวิจัย รวมถึงรัฐที่มีอาวุธนิวเคลียร์ 5 รัฐในขณะนั้น) จำนวน 44 ประเทศ ของสนธิสัญญาดังกล่าวยังไม่มอบสัตยาบันสาร ดังนั้น ในชั้นนี้จึงมีการตั้งคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Preparatory Commission for the Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization : CTBTO/PrepCom) ขึ้น ณ กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ของสนธิสัญญา CTBT ในระหว่างที่ CTBT ยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยมีสำนักเลขาธิการทางวิชาการของคณะกรรมาธิการเตรียมการสำหรับ CTBTO/PTS เป็นหน่วยงานดำเนินการด้านวิชาการ และภายหลังสนธิสัญญา CTBT มีผลบังคับใช้แล้ว CTBTO/PrepCom จะเปลี่ยนไปเป็นองค์การสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองอาวุธนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (Comprehensive Nuclear-Test-Ban Treaty Organization : CTBTO)
3. สถานีเฝ้าตรวจนิวไคลด์กัมมันตรังสี (RN65) และสถานีเฝ้าตรวจความสั่นสะเทือนของพิภพ (PS41) นี้ เป็นสถานีเฝ้าตรวจในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศของสนธิสัญญา CTBT มีสถานีเฝ้าตรวจทั่วโลกจำนวน 321 สถานี โดยมี CTBTO/PTS เป็นหน่วยงานดำเนินการ ข้อมูลจากสถานีเฝ้าตรวจทั้งหมดในระบบเฝ้าตรวจระหว่างประเทศจะถูกส่งไปที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของ CTBTO/PTS เพื่อทำหน้าที่ตามระบบพิสูจน์ยืนยันการปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา CTBT ที่ห้ามรัฐภาคีไม่ให้ทำการทดลองอาวุธนิวเคลียร์
4. การดำเนินงานตามพันธกรณีของสนธิสัญญา CTBT เพื่อจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจทั้งสองจำเป็นต้องมีการแต่งตั้ง Station Operator โดยเร่งด่วน เนื่องจากแผนการจัดตั้งได้ล่าช้ากว่ากำหนดการเดิมของ CTBTO/PTS มาแล้วหลายปี ขณะนี้การก่อสร้างสถานีเฝ้าตรวจ RN65 ที่ดำเนินงานไปบางส่วนต้องหยุดชะงักลงตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2552 และไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างในขั้นตอนต่อไปได้จนกว่าจะมีการทำสัญญาระหว่าง Station Operator กับคู่สัญญาในการก่อสร้างสถานีของ CTBTO/PTS นอกจากนี้ การดำเนินงานในขั้นตอนต่อไปของสถานีเฝ้าตรวจ PS41 ก็จำเป็นต้องรอให้มีการแต่งตั้ง Station Operator เพื่อเจรจาให้มีการทำสัญญา Post Certification Activities Contract เช่นเดียวกัน
5. โดยที่พิธีสารต่อท้ายสนธิสัญญาฯ ส่วนที่ 1 วรรคสี่ กำหนดให้ไทยในฐานะรัฐเจ้าบ้านของสถานีเฝ้าตรวจต้องทำข้อตกลงหรือความตกลงกับ CTBTO/PTS ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการจัดตั้ง ปฏิบัติงาน รวมถึงการบำรุงรักษา และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสถานีเฝ้าตรวจดังกล่าว จำเป็นต้องมีการแต่งตั้ง Station Operator เพื่อทำหน้าที่ลงนามในข้อตกลงหรือความตกลงดังกล่าวกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ CTBTO/PTS และคู่สัญญาในการจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจทั้งสอง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาคณะรัฐมนตรียังไม่มีมติกำหนดให้หน่วยงานใดทำหน้าที่รับผิดชอบเป็น Station Operator สำหรับสถานีเฝ้าตรวจทั้งสอง
6. การที่ประเทศไทยจัดตั้งสถานีเฝ้าตรวจ RN65 และสถานีเฝ้าตรวจ PS41 นอกจากจะถือว่าเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีของสนธิสัญญา CTBT เพื่อความสงบและความปลอดภัยของประชาคมโลกแล้ว ประเทศไทยยังจะได้ประโยชน์ในด้านการศึกษาวิจัยต่าง ๆ จากเทคโนโลยีการพิสูจน์ยืนยันนี้ อีกทั้งยังไม่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและปฏิบัติงานในสถานีเฝ้าตรวจทั้งสองด้วย
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--