ผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 21, 2010 17:10 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (กพบ.) ครั้งที่ 1/2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการพัฒนาความร่วมมือทางเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้านเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กพบ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กพบ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

สาระสำคัญ/ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

1. ความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน คณะกรรมการ กพบ. รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามกรอบความร่วมมือต่างๆ ดังนี้

1.1 กรอบความร่วมมือ GMS รับทราบการเตรียมการจัดประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2553 ณ กรุงฮานอย และการเร่งผลักดันการพัฒนาเส้นทางหลักและเส้นทางสำคัญเชื่อมโยงกลุ่ม GMS ตลอดจนเร่งดำเนินการผลักดันและแก้ปัญหาอุปสรรคภายในประเทศของไทยให้ดำเนินการตามความตกลงขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขงได้ตามกำหนดในปี 2553 และการขับเคลื่อนการพัฒนาและส่งเสริมกิจกรรมเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น

1.2 กรอบความร่วมมือลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่นด้านเศรษฐกิจ ได้มีการรับรองปฏิญญาโตเกียวและแผนปฏิบัติการ 63 ข้อที่กำหนดสาขาความร่วมมือสำคัญเพื่อพัฒนาอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และรับทราบมติ คณะทำงาน AMEICC WEG-WG ครั้งที่ 3 ที่ให้ประเทศสมาชิกร่วมกำหนดแนวทางผลักดันข้อเสนอความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมระหว่างลุ่มแม่น้ำโขงกับญี่ปุ่น (MJ-CI) สู่การปฏิบัติ และให้ สศช. จัดการประชุมหารือร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนประเทศลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น (Mekong-Japan Industry Government Dialogue) เพื่อระดมความคิดเห็นในการดำเนินการตามข้อเสนอ MJ-CI และนำเสนอที่ประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจและที่ประชุมสุดยอดผู้นำประเทศ ลุ่มแม่น้ำโขง-ญี่ปุ่น เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

1.3 กรอบความร่วมมือ IMT-GT รับทราบสรุปผลการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส IMT-GT ระหว่างวันที่ 13-15 ตุลาคม 2552 ณ รัฐมะละกา ที่ให้เร่งดำเนินการตาม IMT-GT Roadmap และรับทราบความก้าวหน้าการทบทวนกลไกการดำเนินงานของ IMT-GT (Business Process Review) ที่เสนอให้รัฐบาลท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนกลั่นกรองข้อเสนอโครงการของภาคเอกชนและใช้รูปแบบ PPP ในการดำเนินโครงการมากขึ้น รวมทั้งการบูรณาการแผนงาน โครงการในกรอบ IMT-GT และกรอบพหุภาคีที่เกี่ยวข้องซึ่งจะจัดให้มีการติดตามความก้าวหน้าทุกๆ สองเดือน ตลอดจนผลการทบทวนกลางรอบของแผนที่นำทาง IMT-GT (2550-2554) รายประเทศ เพื่อจัดทำแผนปฏิบัติการตามแผนที่นำทาง IMT-GT อีก 2 ปีที่เหลือ ซึ่ง ADB จะได้นำเสนอต่อที่ประชุม IMT-GT Planning Meeting 2010 :ซึ่งจะจัดขึ้นที่เกาะลังกาวี ในเดือนกรกฎาคม 2553 ต่อไป และประเทศไทยจะได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่อาวุโส ครั้งที่ 17 และการประชุมระดับผู้ว่าราชการจังหวัดและมุขมนตรี ครั้งที่ 7 ที่ จังหวัดกระบี่ ในเดือนสิงหาคม 2553 และเร่งดำเนินการลงนามความตกลงจัดตั้งศูนย์ประสานงานความร่วมมืออนุภูมิภาค IMT-GT (CIMT) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป

1.4 กรอบความร่วมมือ ACMECS รับทราบการรับรองปฏิญญาผู้นำ ACMECS ครั้งที่ 3 และปฏิญญาผู้นำเรื่องการอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว และเห็นชอบที่จะให้เพิ่มสาขาความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อมเป็นสาขาที่ 8 และรับทราบผลการประชุม เจ้าหน้าที่อาวุโส ACMECS เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2552 ที่ให้เร่งดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการ ACMECS และเอกสารเกี่ยวกับความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาซึ่งไทยเป็นผู้ยกร่างขึ้น พร้อมทั้งผลักดันการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจบริเวณชายแดน และการให้ความช่วยเหลือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสายรองและเส้นทางคมนาคมที่ยังไม่สมบูรณ์เชื่อมโยงไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนเร่งรัดดำเนินการเพื่ออำนวยความสะดวกในการขนส่งข้ามพรมแดนให้มีผลบังคับใช้โดยเร็ว

1.5 กรอบความร่วมมือสามเหลี่ยมมรกต รับทราบผลการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสและการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสามเหลี่ยมมรกต ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 2—3 ตุลาคม 2552 ที่ จ. เสียมราฐ โดยที่ประชุมได้เห็นชอบให้ขยายความร่วมมือครอบคลุมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมการค้า และการเกษตร เพิ่มเติมจากสาขาการท่องเที่ยว และมอบหมายให้คณะเจ้าหน้าที่อาวุโสยกร่างแผนปฏิบัติการให้ครอบคลุมสาขาความร่วมมือที่ได้เพิ่มเติม และเห็นชอบการเสนอเส้นทางที่ประเทศสมาชิกต้องการพัฒนาเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยว โดยกระทรวงการต่างประเทศจะพิจารณาช่วงเวลาจัดประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโส ระดับรัฐมนตรี และระดับผู้นำ ต่อไป

1.6 การประชุมระดับรัฐมนตรี JDS ครั้งที่ 2 และคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย (JC) ครั้งที่ 11 รับทราบการเร่งรัดการดำเนินการตามผลการประชุม JDS ระดับรัฐมนตรี ครั้งที่ 2 และการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีไทย-มาเลเซีย ครั้งที่ 11 โดย สศช. จะจัดทำยุทธศาสตร์ภาพรวมความร่วมมือเพื่อรักษาผลประโยชน์ของไทยในการประชุม High-Level Meeting ร่วมกับมาเลเซียในกรอบ JDS ต่อไป

1.7 การห้ามรถบรรทุกเปล่าของไทยและ สปป.ลาว เข้าไปรับสินค้าในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง รับทราบมติคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดมุกดาหาร ในการประชุมเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2552 เรื่อง การห้ามรถบรรทุกเปล่าของไทยและ สปป.ลาว เข้าไปรับสินค้าในดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง และให้กรมการขนส่งทางบกแจ้งผลการประชุมระหว่างกรมการขนส่งทางบกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ไปยังจังหวัดมุกดาหารเพื่อทราบว่า รถเปล่าของไทยสามารถเข้าไปขนสินค้าใน สปป.ลาว ได้โดยไม่เป็นการผิดข้อตกลงฯ และในทางกลับกันรถเปล่าของ สปป. ลาว สามารถเข้ามารับสินค้ากลับไปยังสปป. ลาวได้เช่นกัน

2. การปรับโครงสร้างกลไกการดำเนินงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ภายใต้แผนงาน GMS

2.1 สาระสำคัญ การประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 15 เห็นควรให้ปรับปรุงโครงสร้างกลไกการดำเนินงาน การอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนของประเทศสมาชิก เพื่อตอบสนองต่อการขับเคลื่อนการดำเนินงานในระยะต่อไป ที่จำเป็นต้องผลักดันให้การอำนวยความสะดวกเรื่องศุลกากร ตรวจคนเข้าเมือง และการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยในพืชและสัตว์ (CIQ) ให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น โดยคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2552 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ กพบ. ครั้งที่ 2/2552 และได้มอบหมายให้ สศช. หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างกลไกดำเนินงานอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดนของไทยตามที่ธนาคารพัฒนาเอเชียได้จัดคณะเจ้าหน้าที่หารือกับประเทศสมาชิกเพื่อหาข้อสรุปของรูปแบบและกลไกที่เหมาะสมต่อไป

2.2 ประเด็นพิจารณา (1) ปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (NTFC) ในตำแหน่งประธานกรรมการจากปลัดกระทรวงคมนาคมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (2) ให้คณะกรรมการ NTFC แต่งตั้งอนุกรรมการบริหารจัดการการอำนวยความสะดวก ณ ด่านพรมแดน (Border Management Committee: BMC) โดยให้อธิบดีกรมศุลกากร เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ ดังกล่าว (3) คณะอนุกรรมการ BMC จะประสานการดำเนินงาน CBTA ระหว่างหน่วยงาน CIQ ส่วนกลางและหน่วยงาน CIQ ในพื้นที่ ณ ด่านพรมแดน และรายงานต่อ NTFC ในขณะที่คณะกรรมการ NTFC จะประสานการดำเนินงาน และรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานให้คณะกรรมการ กพบ. ทราบอย่างต่อเนื่อง โดยมี สศช. เป็นผู้ให้การสนับสนุนและประสานงานกับคณะกรรมการ NTFC ของแต่ละประเทศ GMS

2.3 มติคณะกรรมการ กพบ.

(1) เห็นชอบข้อเสนอการปรับปรุงโครงสร้างกลไกการดำเนินงานอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน (Trade and Transport Facilitation: TTF) ของไทย โดยให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมเป็นประธาน และเปลี่ยนองค์ประกอบคณะกรรมการ NTFC จากผู้แทนกรมการขนส่งทางบก เป็นผู้แทนจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร โดยมีอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามที่ปรับปรุงใหม่

(2) มอบหมายกรมศุลกากร เร่งรัดกระบวนการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. .... (ว่าด้วยข้อบทเรื่องการผ่านแดน) ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในวันที่ 31 มีนาคม 2553

3. การเตรียมการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16

3.1 สาระสำคัญ คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ปฏิบัติหน้าที่รัฐมนตรีกำกับดูแลแผนงาน IMT-GT และ GMS ทั้งนี้ การประชุมรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16 เป็นรอบการประชุมที่เวียดนามจะเป็นเจ้าภาพ โดยการประชุมจะมีสาระสำคัญประกอบด้วย (1) รับทราบผลการดำเนินงาน 9 สาขาความร่วมมือ ตามแผนปฏิบัติการเวียงจันทน์ (2551-2555) ผลการประชุมเวทีหารือเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจระดับรัฐมนตรี และระดับผู้ว่าราชการจังหวัด ครั้งที่ 2 และผลการดำเนินงานของสภาธุรกิจ 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง (2) พิจารณาอนุมัติผลการศึกษาและแผนงาน 6 เรื่อง ได้แก่ การศึกษาเพื่อจัดทำโครงข่ายระบบรางของอนุภูมิภาค แผนงานหลักด้านสิ่งแวดล้อมระยะที่ 2 การศึกษาเพื่อส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและประสิทธิภาพการใช้พลังงาน แผนงานสนับสนุนความร่วมมือด้านเกษตร ระหว่างปี 2554-2558 แผนปฏิบัติการการอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ทิศทางกรอบกลยุทธ์ระยะยาวของ GMS (2012-2022) พิจารณากำหนดท่าทีฝ่ายไทยสำหรับการประชุมคณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนภูมิภาค (Regional Transit Transport Coordinating Board: TTCB) และ (3) พิจารณาแถลงการณ์ร่วมของรัฐมนตรี GMS 6 ประเทศ

3.2 การเตรียมการของฝ่ายไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง (โดยกรมศุลกากร) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา อยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับ เพื่อรองรับการดำเนินงาน CBTA ในขณะที่ กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างนำเสนอ ภาคผนวกและพิธีสารแนบท้ายความตกลงการขนส่งข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เพิ่มเติมจำนวน 3 ฉบับ (ภาคผนวก 7, 9 และพิธีสาร 3) ซึ่งไม่ต้องรอกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมาย เพื่อขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้สัตยาบันได้ต่อไป

3.3 ข้อเสนอของฝ่ายไทย

(1) การดำเนินงาน 9 สาขา (1) คมนาคมขนส่ง ควรเร่งเติมเต็มส่วนที่ขาดหายและพัฒนามาตรฐานเส้นทางสายหลักโดยเฉพาะเส้นทางเชื่อมโยงไทย-พม่า (2) โทรคมนาคม ผลักดันการขยายระยะเวลาบังคับใช้ MOU ทางด่วนสารสนเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และส่งเสริมการอบรมเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อรักษาประสิทธิภาพโครงข่าย (3) พลังงาน ส่งเสริมการเชื่อมโยงระบบไฟฟ้ากับกลุ่มประเทศ GMS และส่งเสริมความร่วมมือเรื่องพลังงานทดแทน (4) การท่องเที่ยว เน้นการทำตลาดท่องเที่ยวที่มีเนื้อหาสาระ (Content and Story) ร่วมกันที่ชัดเจน และเร่งแก้ปัญหาการท่องเที่ยวนอกระบบ (5) การเกษตร สนับสนุนความร่วมมือเรื่องชีวมวล (Biomass) และเกษตรอินทรีย์ และเร่งหางบประมาณดำเนินการโครงการที่มีลำดับความสำคัญสูง (6) การอำนวยความสะดวกการค้า ขยายความร่วมมือสู่การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านการค้า และการแลกเปลี่ยนข้อมูลการตลาด การจับคู่ทางธุรกิจระหว่างกัน (7) การลงทุน เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนการทำงาน และเริ่มศึกษาเรื่องระบบการชำระเงินของอนุภูมิภาค (8) การพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เน้นการพัฒนาที่ยั่งยืน และประสานความร่วมมือกับกรอบความร่วมมืออื่นๆ ทั้งที่เป็นในประเด็นร่วมระดับภูมิภาคและระดับโลก (9) การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ใช้ประโยชน์จากสถาบันในประเทศไทยเพื่อสร้างเครือข่าย และพัฒนาขีดความสามารถทรัพยากรมนุษย์ในกลุ่ม GMS

(2) บริบทใหม่ทางเศรษฐกิจ GMS ควรตระหนักและเตรียมความพร้อมเพื่อเผชิญกับผลกระทบจากบริบทการเปลี่ยนแปลงของโลกใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ (1) ข้อจำกัดของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจโลก และการเกิดหลายขั้วอำนาจทางเศรษฐกิจ (Multi-polar) (2) การเปลี่ยนแปลงกฎ ระเบียบ และข้อตกลงของโลก (Global Rules) และ (3) ภาวะโลกร้อนและพลังงาน

(3) การพัฒนาแนวเส้นทางคมนาคมขนส่ง ควรเน้นเรื่อง การอำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน และการเพิ่มระบบขนส่งทางราง(รถไฟ) และท่าเรือหลักๆ ร่วมกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามแนว Corridor และแนวทางพัฒนาระบบโลจิสิติกส์ข้ามพรมแดนเพื่อส่งเสริมการผลิตร่วมของอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพตามแนว Corridor ตลอดจนการส่งเสริมศักยภาพของภาคเอกชนและจังหวัดตามแนว Corridor โดยต้องเร่งจัดตั้ง SMEs Development Fund และปรับแนวคิดหลักของการพัฒนาแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจในทศวรรษหน้าไปสู่ Green Growth and Well-Being Corridor

(4) ยุทธศาสตร์ GMS ควรปรับให้สอดคล้องกับภูมิภาค โดยจะต้องคำนึงถึง (1) การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์ GMS ให้ประสานกับภูมิภาคอาเซียน (ASEAN Connectivity) (2) การให้ความช่วยเหลือประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน (CLMV) ในการพัฒนาเพื่อลดช่องว่างให้สามารถเข้าร่วมในกระบวนการรวมตัวทางเศรษฐกิจของอาเซียน ภายในปี 2558 (3) การเชื่อมโยงเศรษฐกิจ GMS เข้ากับเศรษฐกิจหลักของภูมิภาค โดยเฉพาะกับอาเซียน จีน-อินเดีย-ญี่ปุ่น (4) การสร้างความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค GMS ที่แน่นแฟ้นขึ้น โดยมุ่งเน้นการส่งเสริมกิจกรรมเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตในอนุภูมิภาค และขยายไปยังภูมิภาคอาเซียน (5) การเร่งพัฒนาศักยภาพ และใช้ประโยชน์จากความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์ของจุดที่ตั้งของ GMS ให้สามารถเชื่อมโยงเข้ากับอาเซียน

3.4 มติคณะกรรมการ กพบ.

(1) มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ นำแถลงการณ์ร่วมระดับรัฐมนตรี เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีกครั้งหลังจากมีการปรับปรุงแก้ไข ก่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี 6 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ครั้งที่ 16

(2) เห็นชอบข้อเสนอของฝ่ายไทยในการประชุมระดับรัฐมนตรี GMS ครั้งที่ 16

(3) มอบหมายให้คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (National Transport Facilitation Committee: NTFC) ของไทย (กระทรวงคมนาคม) เร่งรัดการให้สัตยาบันภาคผนวก 7, 9 และพิธีสาร 3

(4) มอบหมายให้คณะกรรมการประสานการขนส่งผ่านแดนและขนส่งข้ามแดนแห่งชาติ (National Transport Facilitation Committee: NTFC) ของไทย (กระทรวงคมนาคม) กระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างกฎหมายเพื่อรองรับการดำเนินงาน CBTA และนำเสนอร่างกฎหมายทั้ง 5 ฉบับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เพื่อให้สามารถให้สัตยาบันภาคผนวกและพิธีสารที่เหลือได้ภายในปี 2553 ทั้งนี้ ให้เร่งรัดนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับการดำเนินงานด้านอำนวยความสะดวกทางการค้าและการขนส่งข้ามพรมแดน ภายใต้ความรับผิดชอบของกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง เสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาภายในเดือนมีนาคม 2553

(5) มอบหมาย สศช. ดำเนินการตามความเห็นที่ประชุมไปประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาให้การศึกษาโครงข่ายระบบรางของอนุภูมิภาค (GMS Railways Strategy Study) ที่จัดทำโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) สอดคล้องกับแนวทางและแผนการดำเนินการของไทย และประสาน ADB ในการกำหนดแผนงานที่ชัดเจนเพื่อเร่งรัดจัดตั้ง SMEs Development Fund

(6) มอบหมาย สศช.ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาความเหมาะสมของการใช้ประโยชน์จากแผนงาน GMS และกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำในลุ่ม แม่น้ำโขง

4. แนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ภาคเหนือ (NCER) และภาคตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย

4.1 สาระสำคัญ สศช.ได้เสนอแนวทางการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ที่พิจารณาแยกเป็นสองส่วน ได้แก่ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาพื้นที่ภาคใต้ของไทยเอง ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาอนุภาคภาคใต้ชายแดนเป็นฐานการพัฒนาเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของประเทศในระยะยาว โดยเตรียมการพัฒนาระบบสะพานเศรษฐกิจ ท่าเรือน้ำลึก อุตสาหกรรมหนักที่เป็นที่ยอมรับของประชาชน โดยมีการลงทุนนำขนาดใหญ่โดยภาครัฐ (Super Investment) และอุตสาหกรรมบริการแบบพิเศษ กับส่วนที่เป็นยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมสองประเทศเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชายแดนในเบื้องต้น โดยบูรณาการศักยภาพระหว่างประเทศ เพื่อบรรเทาปัญหาด้านความมั่นคงในระยะเฉพาะหน้า ได้แก่ (1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งถนน ด่านชายแดน อุโมงค์ เพื่อเสริมสร้างการค้าชายแดน (2) การพัฒนาด้านการค้าและโลจิสติกส์ โดยจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ และใช้ประโยชน์ระบบโลจิสติกส์เชื่อมโยงระหว่างประเทศ (3) การพัฒนาความร่วมมือด้านแรงงานบนหลักการ 3Es ได้แก่ ด้านการศึกษา การจ้างงานและการพัฒนาผู้ประกอบการ และ (4) การท่องเที่ยว โดยเน้นการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเชิงวัฒนธรรม

ทั้งนี้ ยุทธศาสตร์การพัฒนาร่วมกับมาเลเซีย จะต้องเป็นไปเพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศไทย โดยมิให้เป็นเพียงการเสริมสร้างธุรกิจขนาดเล็กในระดับต้นน้ำ ในขณะที่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ตกอยู่กับมาเลเซียในการพัฒนา อุตสาหกรรมปลายน้ำที่มีมูลค่าเพิ่มสูง และส่งออกสินค้าและบริการดังกล่าวกลับมาไทย ตลอดจนตลาดจีนและอินเดีย โดย ใช้ประโยชน์จากโครงข่ายโลจิสติกส์ที่ไทยร่วมพัฒนา

ดังนั้น ยุทธศาสตร์การพัฒนาเชื่อมโยงพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ภาคเหนือ (NCER) และภาคตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย จึงยังควรมุ่งเน้นการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกและระบบสะพานเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมพลังงาน ทดแทน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวโดยเน้นภาคบริการพิเศษต่างๆของไทยเอง ควบคู่กับการจัดทำแผนงานร่วมกับมาเลเซียในการพัฒนาพื้นที่ชายแดนต่อไป ซึ่งจะมุ่งเน้นอุตสาหกรรมประเภทพลังงานชีวภาพ อุตสาหกรรมการเกษตร และอุตสาหกรรมฮาลาล

4.2 มติคณะกรรมการ กพบ.

เห็นชอบในหลักการของแนวทางการพัฒนาเชื่อมโยงพื้นที่ภาคใต้ของไทยและพื้นที่ภาคเหนือ (NCER) และภาคตะวันออก (ECER) ของมาเลเซีย และมอบหมายให้ สศช. ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดทำประเด็นความร่วมมือในรายละเอียด โดยรับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาประกอบด้วย โดยให้แยกให้ชัดเจนระหว่างการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาภายในของไทย และยุทธศาสตร์พัฒนาร่วมกับประเทศมาเลเซีย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 20 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ