ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 3/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 28, 2010 11:56 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 3/2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ได้มีการประชุมครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันจันทร์ที่ 19 เมษายน 2553 เวลา 10.00 -12.30 น. ณ ห้องประชุมอาคารศาสนสถาน กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

1. ผลกระทบทางการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย

1.1 คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ได้นำเสนอรายงานผลกระทบทางการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลพิจารณาให้ความช่วยเหลือและช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยเห็นว่าหากเหตุการณ์ความไม่สงบสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้ภายในระยะ 1 เดือน จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก แต่หากยืดเยื้อออกไปอีก 2—3 เดือน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก โดยได้ทำการประมาณการผลกระทบตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2553 เป็นต้นมา ดังนี้

1.1.1 การบริโภคและการใช้จ่ายของภาคเอกชน ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง และส่งผลให้การบริโภคต่อ GDP ลดลงวันละ 500-800 ล้านบาท

1.1.2 การลงทุนของภาคเอกชน หากสถานการณ์ยืดเยื้อหรือเกิดเหตุการณ์รุนแรง จะเป็นการทำลายบรรยากาศการลงทุนและส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งผลกระทบที่จะตามมาคือ การชะลอการลงทุนหรือย้ายฐานการลงทุนไปยังประเทศอื่น

1.1.3 การใช้จ่ายของภาครัฐ หากเหตุการณ์รุนแรงจนทำให้รัฐบาลต้องยุบสภา ย่อมส่งผลให้ขั้นตอนการพิจารณาพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2554 ต้องล่าช้าออกไป ทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณเพื่อการลงทุนของภาครัฐต้องชะลอออกไปด้วย

1.1.4 การค้าปลีก การท่องเที่ยว และโรงแรม ส่งผลกระทบประมาณวันละ 200-500 ล้านบาท โดยเป็นผลกระทบต่อธุรกิจขนาดใหญ่ร้อยละ 70 หรือประมาณ 140 — 350 ล้านบาท และธุรกิจ SMEs ประมาณ 60—150 ล้านบาท/วัน ทั้งนี้ ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ Central World ประมาณ 150 ล้านบาทต่อวัน ศูนย์การค้าประตูน้ำ แพลทตินัม ยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 50 และศูนย์การค้าโบ๊เบ๊ ยอดขายลดลงประมาณร้อยละ 30 และโรงแรมมีอัตราเข้าพักลดลงจากร้อยละ 60-70 เหลือร้อยละ 30

1.1.5 ผลกระทบโดยรวมต่อระบบเศรษฐกิจ หากการชุมนุมยุติลงภายใน 1 เดือน จะทำให้เศรษฐกิจของประเทศสูญเสียรายได้ไปประมาณ 21,000-38,000 ล้านบาท อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะหดตัวลงร้อยละ 0.1-0.2 แต่หากสถานการณ์ยืดเยื้อไปถึง 3 เดือน จะสูญเสียรายได้ประมาณ 70,000-100,000 ล้านบาท และเศรษฐกิจจะหดตัวลงร้อยละ 0.3-0.5

1.2 สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้ประมาณการท่องเที่ยวเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2553 จะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 12 หรือประมาณ 15.6 ล้านคน สร้างรายได้ให้กับประเทศ 600,000 ล้านบาท แต่จากเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงวันที่ 10 เมษายน 2553 จึงได้ทำการประเมินจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวใหม่ ภายใต้สมมติฐาน 2 กรณี คือ

1.2.1 ถ้าเหตุการณ์สามารถยุติได้ภายในไตรมาสที่ 2 (ไตรมาสแรกนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20) จะทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงประมาณ 1 ล้านคน เหลือ 14.86 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ประมาณร้อยละ 5 และมีรายได้จากการท่องเที่ยว 5.5 แสนล้านบาท ลดลง 50,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิม

1.2.2 ถ้าเหตุการณ์ไม่สามารถยุติได้ภายในไตรมาสที่ 2 ย่อมส่งผลให้ไตรมาส 2 และ 3 ลดลง แต่ไตรมาสที่ 4 คาดว่าน่าจะดีขึ้น คาดว่าทั้งปี 2553 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยว 14.1 ล้านคน เท่ากับปี 2552 และมีรายได้ 5.28 แสนล้านบาท ลดลง 80,000 ล้านบาท จากประมาณการเดิม

1.3 มติคณะกรรมการ กรอ.

1.3.1 รับทราบรายงานผลกระทบทางการเมืองต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทย และมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการ จัดทำการประเมินและเสนอคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.) ต่อไป

1.3.2 มอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พิจารณากำหนดมาตรการเยียวยาเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบ แล้วรายงานคณะรัฐมนตรีต่อไป

2. แนวทางยกเลิกการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย

2.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. ได้เสนอที่ประชุมพิจารณาเร่งรัดกระทรวงอุตสาหกรรมให้ดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 7/2552 เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2552 เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำตาลทรายโควตา ก. ในประเด็นที่ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อพิจารณาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภายหลังจากครบกำหนดชำระหนี้ของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายประมาณเดือนพฤศจิกายน 2553 เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย อันประกอบด้วย ภาคการผลิตและแปรรูปน้ำตาลทราย กองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย ภาคอุตสาหกรรมการผลิตอาหารและเครื่องดื่ม ซึ่งใช้น้ำตาลทรายเป็นวัตถุดิบหลัก รวมถึงผู้บริโภคน้ำตาลทรายในครัวเรือน ดังนี้

1) ขอให้กระทรวงอุตสาหกรรมพิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อศึกษาแนวทางดังกล่าวข้างต้น โดยมีผู้แทนจากคณะกรรมการ กกร. เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน

2) ขอให้คณะทำงานร่วมตามข้อ 1) ได้ศึกษาแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาและเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ภายในเดือนมิถุนายน 2553 และนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้ความเห็นชอบในลำดับต่อไป

2.2 มติคณะกรรมการ กรอ

1) มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายจัดส่งข้อมูลสถานะเงินกองทุน และการชำระหนี้ให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาภาระหนี้และแผนการชำระเงิน รวมทั้งปัญหาอุปสรรคต่างๆ แล้วนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

2) เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะทำงานร่วมประกอบด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธาน เพื่อเร่งรัดแนวทางการยกเลิกอัตราการนำเงินเข้ากองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายภายหลังครบกำหนดการชำระหนี้ของกองทุนฯ และพิจารณาภาพรวมอ้อยและน้ำตาลทรายทั้งระบบ ทั้งนี้ ให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับไปดำเนินการแต่งตั้งคณะทำงานร่วมดังกล่าว

3. ข้อเสนอเพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทย

3.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณาข้อเสนอเพื่อเร่งรัดการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทย ดังนี้

3.1.1 เร่งรัดการจัดตั้งระบบ NSW ให้เสร็จสมบูรณ์โดยเร็ว โดย (1) จัดสรรบุคลากรด้าน ICT และงบประมาณอย่างพอเพียง เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถพัฒนาระบบ Back Office ของตนเอง และเตรียมการเชื่อมต่อข้อมูลกับ NSW ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ จะต้องมีการกำหนดแผนงานการพัฒนาระบบ NSW ของแต่ละหน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างชัดเจน ไม่ซ้ำซ้อน และบูรณาการ โดยต้องมีหน่วยงานกลางทำหน้าที่ประสานงาน และติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด และ (2) ปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีการ และขั้นตอนการดำเนินงานที่จะเปลี่ยนไปในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ และสนับสนุนให้เกิดการอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่ภาคธุรกิจ รวมทั้งกฎระเบียบในการจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อให้การพัฒนาระบบสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว

1) ผลักดันการเชื่อมโยงระบบ NSW ของประเทศไทย และประเทศสมาชิกอาเซียนที่มีความพร้อม เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับพัฒนาการเชื่อมโยงระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไป ทั้งนี้ จะต้องมีการจัดทำข้อตกลง หรือความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิก นอกเหนือจากการปรับปรุงกฎหมาย และกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่นเดียวกับการพัฒนาระบบ NSW ในประเทศ

2) ริเริ่มการเชื่อมโยงระบบ NSW ของประเทศไทยกับประเทศนอกกลุ่มอาเซียนที่มีความพร้อม เช่น จีน เกาหลี เป็นต้น

3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

มอบหมายให้กระทรวงการคลัง รับไปพิจารณาเร่งรัดดำเนินการพัฒนาระบบ National Single Window (NSW) ของประเทศไทย โดยกำหนดกรอบระยะเวลาและแผนการดำเนินงานให้ชัดเจน แล้วรายงานคณะกรรมการพัฒนาระบบการบริหารจัดการขนส่งสินค้าและบริการของประเทศ (กบส.) ต่อไป

4. แนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ

4.1 สาระสำคัญ สศช. ได้นำเสนอรายงานการศึกษาแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะกรรมการ กรอ. เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2552 สรุปได้ดังนี้

4.1.1 สถานภาพแหล่งท่องเที่ยวของประเทศ แหล่งท่องเที่ยวทั่วประเทศมีจำนวนทั้งสิ้น 2,154 แหล่ง โดยจำแนกประเภทตามมาตรฐานแหล่งท่องเที่ยวได้ 7 ประเภท คือ (1) แหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 63 แหล่ง (2) แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ 816 แหล่ง (3) แหล่งท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์ 643 แหล่ง (4) แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม 299 แหล่ง (5) แหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพน้ำพุร้อน 31 แหล่ง (6) แหล่งท่องเที่ยวทางศิลปะวิทยาการ 85 แหล่ง และ (7) แหล่งท่องเที่ยวเพื่อนันทนาการ 217 แหล่ง และหากจำแนกตามศักยภาพของแหล่งท่องเที่ยวในเชิงกลุ่มพื้นที่ สามารถจำแนกออกได้เป็น 14 กลุ่มท่องเที่ยว (คลัสเตอร์)

4.1.2 หลักเกณฑ์การคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ มี 8 หลักเกณฑ์ ประกอบด้วย (1) ความโดดเด่นและทรงคุณค่าทางธรรมชาติ วัฒนธรรม และภูมิปัญญาท้องถิ่น (2) มีกิจกรรมการท่องเที่ยวที่หลากหลาย (3) มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน (4) มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน (5) สอดคล้องกับความต้องการของตลาดโลก (6) คุ้มค่าต่อการใช้จ่าย (7) ชุมชนมีส่วนร่วมในการพัฒนา และ (8) กลไกการบริหารจัดการที่ดีและมีประสิทธิภาพ

4.1.3 แหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ เมื่อนำหลักเกณฑ์มาคัดเลือกแหล่งท่องเที่ยวใน 8 กลุ่มท่องเที่ยว จะได้แหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ จำนวน 31 แหล่ง จำแนกในแต่ละกลุ่มท่องเที่ยวได้ดังนี้

1) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนาและภาคเหนือตอนบน มี 4 แหล่ง ประกอบด้วย เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองปาย เมืองเชียงแสน และน้ำพุร้อน

2) กลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ มี 3 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย อุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และอุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร

3) กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ มี 6 แหล่ง ประกอบด้วย ปราสาทหินพิมาย ปราสาทเขาพนมรุ้ง ปราสาทหินเมืองต่ำ ปราสาทศรีขรภูมิ ปราสาทหินวัดสระกำแพงใหญ่ และปราสาทเขาพระวิหาร

4) กลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง มี 5 แหล่ง ประกอบด้วย เมืองหนองคาย เมืองนครพนม เมืองโขงเจียม เมืองเชียงคาน และกลุ่มภูจังหวัดเลย

5) กลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง มี 3 แหล่ง ประกอบด้วย ตลาดน้ำดำเนินสะดวก ตลาดน้ำอัมพวา และตลาดเก่าสามชุก

6) กลุ่มท่องเที่ยว Active Beach มี 2 แหล่ง ประกอบด้วย หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง และเมืองพัทยาและหมู่เกาะใกล้เคียง

7) กลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast มี 6 แหล่ง ประกอบด้วย อุทยานประวัติศาสตร์พระนครคีรี พระรามราชนิเวศน์ (พระราชวังบ้านปืน) อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน อุทยานแห่งชาติเขาสามร้อยยอด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะชุมพร และแหล่งน้ำพุร้อนจังหวัดระนอง

8) กลุ่มท่องเที่ยวมหัศจรรย์สองสมุทร มี 1 แหล่ง คือ เกาะสมุยและเกาะบริวาร (เกาะพะงัน หมู่เกาะอ่างทอง เกาะเต่า)

4.1.4 ลำดับความสำคัญของแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ แหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพทั้ง 8 กลุ่มท่องเที่ยวดังกล่าว สามารถนำมาจัดลำดับความสำคัญโดยพิจารณาจากสภาพความรุนแรงของปัญหา ศักยภาพและความพร้อมของแหล่งท่องเที่ยว ความต้องการของตลาดและท้องถิ่น และนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล สามารถจำแนกออกได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • แหล่งท่องเที่ยวหลักที่อยู่ในภาวะเสื่อมโทรม ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มท่องเที่ยวมหัศจรรย์สองสมุทร (เกาะสมุย) และกลุ่มท่องเที่ยว Active Beach (เมืองพัทยา หมู่เกาะช้างและพื้นที่เชื่อมโยง)
  • แหล่งท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวในปัจจุบัน ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำภาคกลาง กลุ่มท่องเที่ยว Royal Coast และกลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมล้านนา (เมืองปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน)
  • แหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ที่มีศักยภาพส่งเสริมให้เป็นเส้นทางท่องเที่ยว ได้แก่ แหล่งท่องเที่ยวในกลุ่มท่องเที่ยวอายธรรมล้านนา (เมืองแม่ฮ่องสอน เมืองเชียงแสน น้ำพุร้อน) กลุ่มท่องเที่ยวมรดกโลกเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ กลุ่มท่องเที่ยวอารยธรรมอีสานใต้ และกลุ่มท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มแม่น้ำโขง

4.1.5 บทบาทของหน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว หน่วยงานหลักที่มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานเจ้าของพื้นที่ที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวหลัก ประกอบด้วย 7 หน่วยงาน โดยสามารถจำแนกออกตามภารกิจที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวได้ 3 กลุ่มงาน ดังนี้

  • งานการออกแบบและวิจัยเพื่อพัฒนา ได้แก่ สำนักงานพัฒนาการท่องเที่ยว กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และกรมศิลปากร
  • งานด้านการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ได้แก่ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน)
  • งานด้านการตลาด ได้แก่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย

4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

เห็นชอบแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพของประเทศ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นำข้อเสนอแหล่งท่องเที่ยวที่มีศักยภาพและแนวทางการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการจัดทำแผนปฏิบัติการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวของประเทศต่อไป

5. การกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542

5.1 สาระสำคัญ กระทรวงพาณิชย์ รายงานความคืบหน้าการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 9/2552 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2552 โดยกระทรวงพาณิชย์ได้แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดสินค้าควบคุมและกำกับดูแลราคาสินค้า ประกอบด้วยผู้แทนภาครัฐและเอกชน โดยได้ดำเนินการ ดังนี้

5.1.1 กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดรายการสินค้าควบคุมเบื้องต้น โดยยังคงใช้หลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เดิม 6 ข้อ คือ (1) เป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ (2) โครงสร้างตลาดมีผู้ผลิตหรือผู้ขายน้อยราย และสภาพตลาดไม่มีการแข่งขันเท่าที่ควร (3) เป็นสินค้าที่ใช้เป็นปัจจัยการผลิตต่อเนื่อง (4) เป็นสินค้าที่มีเทคนิคการผลิต/การลงทุนสูง หรือระบบครบวงจรส่งผลต่อผู้ผลิตรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ค่อนข้างยาก (5) เป็นสินค้าที่มีการเคลื่อนไหวด้านตลาดและราคาผิดปกติ หรือมีปริมาณขาดแคลนบางครั้ง และ (6) เป็นสินค้าที่มีความเชื่อมโยงและได้รับผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงราคาในตลาดโลกมาก

5.1.2 แนวปฏิบัติสำหรับสินค้าควบคุมและสินค้ากำกับดูแล มีดังนี้

1) กรณีสินค้าควบคุม ในปี 2553 คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบกำหนดรายการสินค้าควบคุมจำนวน 38 รายการ และบริการควบคุมจำนวน 1 รายการ ซึ่งสินค้าควบคุมที่กำหนดให้แจ้งราคา ต้นทุน ค่าใช้จ่ายรายละเอียดล่วงหน้าก่อนเปลี่ยนแปลงราคาเพื่อทราบ และมีบางรายการต้องขออนุญาตนั้น ผู้ประกอบการจะต้องแจ้งการเปลี่ยนแปลงราคาพร้อมยื่นเอกสารหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษร และหากเอกสารหลักฐานครบถ้วนเจ้าหน้าที่ต้องพิจารณาราคาให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน กรณีมีปัญหาสามารถขยายเวลาได้อีก 15 วัน และจะต้องแจ้งผลให้เอกชนทราบเมื่อครบกำหนดระยะเวลา

2) กรณีสินค้าติดตามกำกับดูแล เพื่อให้สามารถทราบความเคลื่อนไหวของราคาสินค้า ซึ่งมาตรการที่ใช้แตกต่างจากสินค้าควบคุม โดยเมื่อภาคเอกชนมีการปรับราคาสินค้าติดตามดูแลให้แจ้งกรมการค้าภายในทราบ โดยไม่มีขั้นตอนที่จะต้องขออนุญาต ซึ่งหากไม่มีการทักท้วงจากกรมการค้าภายใน ภายใน 15 วัน ผู้ประกอบการสามารถปรับราคาได้ หากเห็นว่าราคาที่ปรับมีความผิดปกติ กรมการค้าภายในจะขอให้ผู้ประกอบการชี้แจงเป็นรายกรณีเพื่อหาข้อยุติ

3) การวิเคราะห์ราคาสินค้า ภาคเอกชนยอมรับโครงสร้างต้นทุนของกรมการค้าภายใน ซึ่งเป็นไปตามหลักการทางบัญชี ทั้งนี้ ในการวิเคราะห์ราคาสินค้า กรมการค้าภายในจะใช้โครงสร้างต้นทุนกลางที่มีอยู่ ทำการวิเคราะห์ราคาตามภาระต้นทุนส่วนที่เพิ่มขึ้น โดยใช้แหล่งข้อมูลอ้างอิงจากองค์กรต่างๆ และในกรณีที่ไม่สามารถหาข้อมูลอ้างอิงได้ กรมการค้าภายในจะขอรับทราบข้อมูลจากผู้ประกอบการ

5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบความคืบหน้าการกำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 และเห็นชอบการขยายระยะเวลาการทำงานของคณะทำงานพิจารณาหลักเกณฑ์การกำหนดสินค้าควบคุมและกำกับดูแลราคาสินค้าออกไปจนกว่าพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ฉบับแก้ไขปรับปรุงจะมีผลบังคับใช้

6. ความคืบหน้าแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย

6.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานความคืบหน้าแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย ของสมาคมเจ้าของเรือไทย กระทรวงคมนาคม และผลการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2553 ดังนี้

6.1.1 การสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศให้กับประเทศไทย คณะกรรมการ กกร. โดยสมาคมเจ้าของเรือไทย รายงานดังนี้

1) การสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศ การให้บริการขนส่งสินค้าทางทะเลของกองเรือพาณิชย์ไทย สามารถสร้างรายได้เงินตราต่างประเทศในแต่ละปีเป็นจำนวนมาก โดยในปี 2536-2552 มูลค่าระวางรับเข้าสู่ประเทศไทยในดุลบัญชีบริการค่าระวาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าตัว คือ จาก 10,705 ล้านบาท ในปี 2536 เป็น 49,627 ล้านบาท ในปี 2552 สอดคล้องกับปริมาณกองเรือไทยที่เพิ่มขึ้นจาก 1.48 ล้านเดดเวทตัน เป็น 3.81 ล้านเดดเวทตัน ในปี 2552 หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าตัว

2) การสร้างงาน กองเรือพาณิชย์ไทยสามารถสร้างงานให้กับแรงงานไทย 2 กลุ่มหลักๆ คือ คนประจำเรือ และบุคลากรบนฝั่ง โดยเรือพาณิชย์แต่ละลำมีการจ้างลูกเรือหรือคนประจำเรือเฉลี่ย 27 คนต่อลำ และมีการจ่ายค่าจ้างลูกเรือ 33,000 บาท/วัน หรือประมาณ 12.04 ล้านบาท/ปี สำหรับการจ้างงานบุคลากรบนฝั่ง ซึ่งจะแตกต่างกันตามลักษณะทางธุรกิจของเรือ (เรือเดินประจำเส้นทาง เรือจร เรือจ้างเหมา) ปัจจุบันยังไม่มีหน่วยงานจัดเก็บสถิติข้อมูลอย่างเป็นทางการ

6.1.2 การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพาณิชยนาวีของประเทศ กระทรวงคมนาคม รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานดังนี้ (1) กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนากิจการพาณิชยนาวีไทย 6 ยุทธศาสตร์ พร้อมทั้งแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง 6 คณะ เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ฯ (2) จัดประชุมคณะกรรมการเฉพาะเรื่องชุดต่างๆ เพื่อพิจารณาปัญหา อุปสรรค แนวทางแก้ไข แผนงาน และมาตรการตามยุทธศาสตร์ฯ รวมทั้งข้อเสนอของสมาคมเจ้าของเรือไทย (3) แก้ไขกฎหมายด้านการพาณิชยนาวีให้มีมาตรฐานและเอื้อต่อการพัฒนากิจการพาณิชยนาวีของประเทศ และ (4) แก้ไขปัญหาด้านกฎหมายตามข้อเสนอของคณะกรรมการ กกร. โดยได้มีการชี้แจงทำความเข้าใจกับสมาคมเจ้าของเรือไทยแล้ว 2 มาตรการ และอยู่ระหว่างดำเนินการ 2 มาตรการ

6.1.3 สศช. ได้หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมสรรพากร กรมเจ้าท่า และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2553 เพื่อติดตามความคืบหน้าการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กรอ. สรุปได้ดังนี้

1) มาตรการด้านภาษีที่เห็นควรสนับสนุนให้ลดหย่อนหรือยกเว้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องและลดต้นทุนของผู้ประกอบการ รวมทั้งเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของกองเรือพาณิชย์ไทย มี 3 มาตรการ คือ (1) ภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ (2) ภาษีเงินได้จากการขายเรือ และ (3) เจ้าของเรือไทยที่ให้บริการขนส่งทางทะเลภายในประเทศมีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้

2) มาตรการด้านภาษีที่เห็นควรให้ยึดหลักการตามกฎหมายเดิม เนื่องจากจะเป็นอุปสรรคต่อการส่งเสริมกองเรือพาณิชย์ไทย และสร้างความไม่เป็นธรรมในระบบภาษี รวมทั้งไม่อยู่ในข่ายของกฎหมายหรืออยู่ในระหว่างกระบวนการพิจารณาทางศาล เป็นต้น ประกอบด้วย 3 มาตรการ คือ (1) การยกเว้นภาษีเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศประเภท Door to Door basis (2) การยกเว้นภาษีเงินได้ของบริษัทต่างประเทศที่ให้บริการเรือไทยในต่างประเทศ และ (3) การให้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่มครอบคลุมการประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเลในต่างประเทศโดยไม่เข้าประเทศไทย (Cross Trade) ส่วนมาตรการลดอัตราภาษีนำเข้าของเรือสินค้าทั่วไปขนาด 1,000 ตันกรอส หรือต่ำกว่า จากอัตราร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 1 เนื่องจากเป็นมาตรการเกี่ยวกับอากรนำเข้าสินค้า จึงควรประสานให้กรมศุลกากรพิจารณาตามข้อเสนอของ กกร. และรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

3) มาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการพาณิชยนาวี กระทรวงการคลัง โดยสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้จัดประชุมหารือร่วมกับผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเจ้าของเรือไทย เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ยังขาดความชัดเจนของวงเงินที่ต้องการสนับสนุน วัตถุประสงค์และหลักเกณฑ์ในการใช้จ่ายเงินทุน ดังนั้น จึงได้กำหนดนัดประชุมอีกครั้งหนึ่ง เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนและรายงานคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาต่อไป

6.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

1) รับทราบความคืบหน้าแนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากองเรือพาณิชยนาวี ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ

2) เห็นชอบผลการพิจารณามาตรการด้านภาษี ของกระทรวงการคลัง โดยเห็นควรสนับสนุนให้ปรับปรุงแก้ไข 3 มาตรการ และให้คงยึดหลักการตามกฎหมายเดิม 3 มาตรการ และให้กระทรวงการคลังดำเนินการตามขั้นตอนและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

3) มอบหมายให้กระทรวงการคลังเร่งรัดพิจารณามาตรการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการพาณิชยนาวี และมาตรการลดอัตราภาษีนำเข้าเรือสินค้าทั่วไปขนาด 1,000 ตันกรอส หรือต่ำกว่า แล้วนำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวีพิจารณาต่อไป

7. ความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ยางและไม้ยางพารา

7.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ยางและไม้ยางพาราตามมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 8/2552 เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2552 ที่ได้มีมติมอบหมายใน 3 เรื่อง ดังนี้

7.1.1 การจัดทำ Business Matching สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน รายงานว่าได้มีการจัดกิจกรรมนำคณะผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมส่วนกลางเข้าเยี่ยมชมกระบวนการผลิตและเจรจาธุรกิจกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางและไม้ยางพาราในภาคใต้ และในส่วนของการส่งเสริมการลงทุนได้มีการพิจารณาทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนปี 2552 ให้กิจการผลิตยางยานพาหนะเป็นกิจการที่อยู่ในข่ายได้รับสิทธิและประโยชน์สูงสุดตามกฎหมายส่งเสริมการลงทุนเช่นเดียวกับกิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากยางธรรมชาติ อย่างไรก็ดี สศช.มีข้อสังเกตว่าข้อมูลการทำ Business Matching เป็นการดำเนินการตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2552 ก่อนที่คณะกรรมการ กรอ. จะมีมติมอบหมาย และการให้การส่งเสริมเป็นการดำเนินการเฉพาะในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางยังไม่ครอบคลุมอุตสาหกรรมไม้ยางพารา

7.1.2 การเพิ่มผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ดำเนินการปรับปรุงโครงสร้างองค์ประกอบของ กนย. แล้ว โดยปรับเพิ่มผู้แทนจากภาคเอกชนเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการรวม 7 ท่าน จากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ตลอดจนกลุ่มผลิตภัณฑ์ยางพาราต่างๆ

7.1.3 การจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา กระทรวงอุตสาหกรรมได้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพารา และได้มีการประชุมไปแล้ว 1 ครั้ง โดยมีรูปแบบองค์กรและโครงสร้างการบริหารเป็นสถาบันอิสระ ภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมเช่นเดียวกับสถาบันอื่น เช่น สถาบันยานยนต์ เป็นต้น สำหรับขอบข่ายภารกิจ มีภารกิจหลักๆ อาทิ ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง ให้บริการด้านการตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบและรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ยาง และสำรวจ รวบรวม พัฒนาระบบข้อมูล ทั้งนี้ ในการดำเนินการจัดตั้งสถาบันเห็นควรให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติที่มีรองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นประธานรับไปพิจารณาต่อไป

7.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

7.2.1 รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินการตามมติคณะกรรมการ กรอ. ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเสนอ และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นและประเด็นอภิปรายไปประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไป

7.2.2 มอบหมายให้คณะกรรมการพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งชาติ (กอช.) รับเรื่องยุทธศาสตร์ยางและไม้ยางพารา และการจัดตั้งสถาบันพัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราไปพิจารณาต่อไป

8. ความคืบหน้าการดำเนินการตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง

8.1 สาระสำคัญ สศช. รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง ของกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม และสำนักงานผู้แทนการค้าไทย ซึ่งเป็นเรื่องสืบเนื่องจากมติคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 6/2552 วันที่ 19 สิงหาคม 2552 ครั้งที่ 7/2552 วันที่ 7 ตุลาคม 2552 และครั้งที่ 2/2553 วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ดังนี้

8.1.1 การอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการไทยที่จะนำแรงงานไทยไปทำงานในต่างประเทศ กระทรวงแรงงานรายงานดังนี้ (1) จัดตั้งศูนย์บริการการไปทำงานต่างประเทศเบ็ดเสร็จ เพื่อเป็นศูนย์บริการเบ็ดเสร็จในการให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่จะพาลูกจ้างไปทำงานต่างประเทศ โดยจัดตั้ง ณ สำนักงานบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ กรมการจัดหางาน และ (2) จัดตั้งศูนย์ฝึกอบรมแรงงานเฉพาะด้านเพื่อไปทำงานต่างประเทศ ณ ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานและสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา สงขลา และอุดรธานี

8.1.2 การดำเนินการตามข้อเสนอมาตรการเร่งด่วนของคณะกรรมการ กกร. กรมบัญชีกลาง รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานตามข้อเสนอของคณะกรรมการ กกร. ทั้ง 5 มาตรการ คือ (1) การเร่งผลักดันให้เกิดโครงการก่อสร้างทุกขนาดทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค และโครงการที่มีแบบมาตรฐานแล้วให้เข้าสู่กระบวนการประมูล (2) การให้มีคำสั่งไปยังหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้าง ให้ยินยอมออกหนังสือยืนยันจำนวนเงินล่วงหน้าที่ได้หักคืนไว้แล้ว (3) ให้ผู้ว่าจ้างเร่งชำระเงินค่าก่อสร้างตามงวดงานภายหลังจากได้ตรวจรับงานแล้ว (4) กำหนดให้ภาคเอกชนที่เป็นคนไทย เป็นผู้ออกแบบและควบคุมงานก่อสร้างภาครัฐ และ (5) กำหนดให้ใช้วัสดุก่อสร้างที่ผลิตภายในประเทศ

8.1.3 มาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยไปประมูลงานในต่างประเทศ

1) มาตรการช่วยเหลือทางการเงิน

(1) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง รายงานว่าได้ประชุมหารือร่วมกับผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และภาคเอกชน เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ไปประมูลงานในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเด็นค่าธรรมเนียมหนังสือค้ำประกันที่สูงกว่าประเทศคู่แข่ง และการจัดตั้งธนาคารตัวแทนในต่างประเทศ (Corresponding Bank) โดยเฉพาะตลาดเป้าหมายในประเทศตะวันออกกลาง โดยในหลักการเห็นว่าควรสนับสนุนการลดต้นทุนการค้ำประกัน เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการไทยเสียเปรียบผู้ประกอบการต่างชาติ และต้องสนับสนุนผู้ประกอบการที่มีศักยภาพในการทำธุรกิจในต่างประเทศเป็นลำดับแรก

(2) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย รายงานว่า ธนาคารฯ ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไทยที่ได้ประมูลงานในต่างประเทศ 2 รูปแบบ คือ การให้สินเชื่อด้วยเงื่อนไขผ่อนปรนและการค้ำประกันงานที่ได้รับประมูล โดยมีวงเงินสนับสนุนประมาณ 5,000-10,000 ล้านบาทต่อปี รวมทั้งสนับสนุนให้มีการเจรจาระหว่างรัฐต่อรัฐในการออกไปประมูลงานในประเทศแถบตะวันออกกลาง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับบริษัทหรือประเทศผู้ว่าจ้างและสามารถลดต้นทุนค่าเงินค้ำประกันได้ด้วย

2) การแสวงหาลู่ทางการลงทุนการก่อสร้างในตลาดต่างประเทศ สำนักงานผู้แทนการค้าไทยรายงานความคืบหน้าเพิ่มเติม โดยเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์—4 มีนาคม 2553 ประธานผู้แทนการค้าไทย ได้นำผู้แทนภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ประธานสภาธุรกิจไทย-บาห์เรน กลุ่มธุรกิจก่อสร้าง จำนวน 2 บริษัท กลุ่มธุรกิจสถาปนิก กลุ่มวิศวกรที่ปรึกษา ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย เยือนราชอาณาจักรบาห์เรน เพื่อหารือเรื่องการจัดตั้งศูนย์กระจายสินค้าไทยและคลังสินค้าเพื่อความมั่นคงด้านอาหาร แสวงหาลู่ทางในความร่วมมือในโครงการก่อสร้างบ้านการเคหะ และความร่วมมือด้านการเงินและการธนาคาร

3) การดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง กระทรวงอุตสาหกรรมรายงานความคืบหน้า ดังนี้ (1) การจัดตั้งสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย กระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำบทบาทหน้าที่ รูปแบบโครงสร้างและการบริหารองค์กร และแผนปฏิบัติงานในระยะ 5 ปี (2553-2557) ของสถาบันฯ แล้วเสร็จ พร้อมทั้งยื่นขอจัดตั้งมูลนิธิเพื่อสถาบันการก่อสร้างแห่งประเทศไทย คาดว่าจะสามารถจดทะเบียนจัดตั้งมูลนิธิได้ภายในเดือนพฤษภาคม 2553 และ (2) การยกร่างกฎหมายจัดตั้งองค์กรวิชาชีพก่อสร้าง ขณะนี้ได้มีการยกร่างกฎหมายแล้วเสร็จ และอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง

8.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

8.2.1 รับทราบและให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมก่อสร้าง

8.2.2 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง หารือร่วมกับสำนักงานผู้แทนการค้าไทย และคณะกรรมการ กกร. เพื่อพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมในการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจอุตสาหกรรมก่อสร้างในต่างประเทศ และรายงานคณะกรรมการ กรอ. ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 27 เมษายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ